ท่องเที่ยว-เมกะโปรเจ็กต์ 8.39 หมื่นล้าน ประคองเศรษฐกิจไทย ปี 66

16 ธ.ค. 2565 | 09:43 น.

เอกชน-รัฐ ชี้ทิศทางเศรษฐกิจไทยปี 66 ยังเปราะบาง ปัจจัยเสี่ยงรุมเร้าเพียบ เหลือการท่องเที่ยว เป็นพระเอกช่วยพยุงเศรษฐกิจ หวังเมกะโปรเจ็กต์ 8.39 หมื่นล้านบาท ช่วยประคอง

ใกล้จะสิ้นสุดปี 2565 หลายสำนักออกมาคาดการณ์ถึงแนวโน้ม หรือ ทิศทางเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกในปี 2566 ว่ายังจะต้องจับตาอย่างใกล้ชิด เพราะยังมีปัจจัยเสี่ยงรุมเร้า โดยเฉพาะเศรษฐกิจโลกถดถอยที่จะมีความชัดเจนมากขึ้น และจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ โดยเฉพาะไทยที่ยังพึ่งพาการส่งออกไปในตลาดโลก

 

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปี 2566 เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่อง จากภาวะการเงินที่ตึงตัว และวิกฤตเงินเฟ้อ ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐอเมริกา ที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัว

 

ขณะที่ยุโรปจะได้รับผลกระทบหนักสุดจากวิกฤตพลังงาน จึงมีโอกาสสูงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอย รวมถึงจีนยังประสบปัญหาการแพร่ระบาดระลอกใหม่ ที่จะมาซํ้าเติมเศรษฐกิจจีนที่อยู่ในช่วงชะลอตัวจากปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์

 

ส่วนเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัว จากเครื่องยนต์เพียงตัวเดียวคือ “ภาคการท่องเที่ยว” เศรษฐกิจไทยจึงยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ และยังมีสัญญาณของความเปราะบาง การส่งออกมีแนวโน้มชะลอตัว ดังนั้น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก จากนักท่องเที่ยวเข้ามามากกว่า 20 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นเท่าตัวจากปัจจุบัน

 

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยยังมีสัญญาณของความเปราะบางที่สะท้อนให้เห็น เช่น สินเชื่อที่ถูกจัดชั้นว่ามีความเสี่ยงด้านเครดิตเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญนั้นมีสัดส่วนที่สูงขึ้น และผู้ประกอบการขนาดเล็กที่ยังมีการค้างชำระเป็นสัดส่วนสูงแม้จะพ้นช่วงโควิด-19 มาแล้ว ดังนั้น เศรษฐกิจไทยในปีหน้า จะมีอัตราเติบโตที่น้อยกว่าประเทศคู่เทียบในภูมิภาคอาเซียนอย่างมาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

ท่องเที่ยว-เมกะโปรเจ็กต์ 8.39 หมื่นล้าน ประคองเศรษฐกิจไทย ปี 66

 

ส่งออกสะดุดศก.โลกถดถอย

 

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ทิศทางปี 2566 ภาคการผลิตและส่งออกไทยยังมีปัจจัยเสี่ยงอยู่มากตามทิศทางเศรษฐกิจ และการค้าโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัว และผู้ประกอบการยังได้รับผลกระทบจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งวัตถุดิบนำเข้า นํ้ามัน ค่าไฟฟ้า ค่าแรง ดอกเบี้ย และภาวะเงินเฟ้อทั้งในและต่างประเทศกระทบกำลังซื้อ

 

ภาคเอกชนโดยคณะกรรมการร่วม ภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) คาดการขยายตัวของจีดีพีไทยปี 2566 จะขยายตัวได้ 3-3.5% และส่งออกจะขยายตัว 1-2% จากฐานตัวเลขส่งออกปีนี้สูง

 

“เศรษฐกิจไทยปีหน้าที่ยังโตได้ ปัจจัยสำคัญจากได้ภาคท่องเที่ยวเข้ามาช่วย ส่วนใหญ่คาดการณ์กันว่าจะเกิน 20 ล้านคน หากจีนผ่อนคลายนโยบาย Zero COVID มากขึ้น อาจได้นักท่องเที่ยวจีนเข้ามาเติมในครึ่งปีหลัง ขณะที่เศรษฐกิจยุโรปหรืออียู มีปัญหาด้านพลังงาน และเงินเฟ้อที่สูงมาก เศรษฐกิจอาจเข้าสู่ภาวะถดถอย ดังนั้น ผู้ประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอีต้องมีการวางแผนในการบริหารปัจจัยเสี่ยง ในทุกด้าน”

 

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก กล่าวว่า มูลค่าการส่งออกของไทยที่เริ่มชะลอตัวลง เดือนตุลาคม 2565 ติดลบ 4.4% หรือติดลบครั้งแรกในรอบ 20 เดือน

 

ขณะที่ตัวเลขการนำเข้าสินค้าทุน และวัตถุดิบเพื่อใช้ในการผลิตส่งออกอยู่ที่ระดับ 2.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่มีการนำเข้าเฉลี่ยมากกว่า 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน ทำให้มีความน่าห่วงว่าการส่งออกของไทยในเดือนธันวาคม-มกราคมจะชะลอตัวลงหรืออาจติดลบได้ เบื้องต้นในปี 2566 สรท.คาดการส่งออกไทยจะขยายตัวได้ 1-2%

ท่องเที่ยวพระเอกหลักพยุงศก.

 

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ และประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจปี 2566 เป็นเรื่องไม่ง่าย เพราะจะมีปัจจัยที่ท้าทายกว่าปีนี้มาก โดยเฉพาะเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ Emerging Market หรือ กลุ่มประเทศเศรษฐกิจของตลาดเกิดใหม่

 

ทั้งนี้มองว่า เศรษฐกิจของ Emerging Market ที่จะได้รับผลกระทบมีทั้ง สปป.ลาว เมียนมา ปากีสถาน ศรีลังกา อียิปต์ ละตินอเมริกา รวมไปถึงบางประเทศของยุโรป จะได้รับผลกระทบจากกรณีของธนาคารกลางสหรัฐ ปรับขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งทิศทางการขึ้นดอกเบี้ยก็ยังต้องติดตามต่อว่าจะปรับเพิ่มขึ้นอีกเท่าใดในปีหน้า

 

สำหรับประเทศไทยเองนั้น แม้จะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจในปีหน้าที่ไม่ดีนัก แต่ก็ยังดีที่มีการท่องเที่ยวเข้ามาช่วย ซึ่งช่วยประคับประคองเคลื่อนเศรษฐกิจได้มาก

 

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า ในปี 2566 การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ หลังเห็นสัญญาณการเดินทางระหว่างประเทศของนักท่องเที่ยวทั่วโลกเพิ่มขึ้น โดยคาดว่ารายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2566 จะอยู่ที่ 1.2 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับปี 2565

 

ขณะที่การส่งออกประเมินว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ จะเพิ่มขึ้น 1% เทียบกับ 7.5% ในปี 2565 ส่วนปริมาณการส่งออกสินค้า เพิ่มขึ้น 1% ชะลอลงจาก 3.2% ในปีนี้ ตามแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก

 

การใช้จ่ายบริโภค ยังขยายตัว

 

ด้านการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน คาดว่า ในปี 2566 จะขยายตัว 3% เทียบกับการขยายตัวในเกณฑ์สูง 5.4% ในปี 2565 ส่วนการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคภาครัฐบาล คาดว่าจะลดลง 0.1% เทียบกับการลดลง 0.2% ในปี 2565 สอดคล้องกับการลดลงของกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำภายใต้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 วงเงิน 2,489,923 ล้านบาท ลดลง 1.8% จากกรอบวงเงิน 2,535,682 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2565

 

นอกจากนี้ ด้านการลงทุนรวม ในปี 2566 คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 2.5% เทียบกับ 2.6% ในปี 2565 โดยการลงทุนภาคเอกชน จะขยายตัว 2.6% เทียบกับ 3.9% ในปี 2565 สอดคล้องกับแนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลกและภาคการส่งออก และการลงทุนภาครัฐคาดว่าจะขยายตัว 2.4% เพิ่มขึ้นจากการลดลง 0.7% ในปี 2565

 

สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของกรอบงบประมาณรายจ่ายลงทุนภายใต้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 วงเงิน 695,077 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.5% จากวงเงิน 612,566 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2565

 

หวังเมกะโปรเจกต์ช่วยขับเคลื่อน

 

ขณะที่โครงการลงทุนขนาดใหญ่ หรือเมกกะโปรเจกต์ คาดว่าจะมีการเบิกจ่ายสูงสุด 10 อันดับแรกในปี 2566 โดยรวมคาดว่า จะมีการเบิกจ่ายงบลงทุนทั้งสิ้น 83,945.12 ล้านบาท คิดเป็น 59.5% ของประมาณการเบิกจ่ายงบลงทุนโครงการสำคัญรวมทั้งหมดกว่า 65 โครงการ อาทิ

  • โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพ มหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา) วงเงิน 143,280 ล้านบาท เบิกจ่าย 18,138 ล้านบาท
  • โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปู -ราษฏร์บูรณะ วงเงิน 91,974 ล้านบาท เบิกจ่าย 10,646 ล้านบาท
  • โครงการพัฒนาระบบส่งและจ่าหน่าย ระยะที่ 2 วงเงิน 28,585 ล้านบาท เบิกจ่าย 10,552 ล้านบาท