เศรษฐกิจไทย ปี 2566 ไม่หมู หวังท่องเที่ยวประคองฝ่ามรสุม

13 ธ.ค. 2565 | 23:42 น.

นักเศรษฐศาสตร์-สภาพัฒน์ ประเมินภาพรวมเศรษฐกิจไทย ปี 2566 ไม่หมูแน่นอน หวังการท่องเที่ยวพระเอกพยุงเศรษฐกิจ แนะจับตาเศรษฐกิจกลุ่มประเทศ Emerging Market มีปัญหา เสี่ยง Recession

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ และประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทย ในปี 2566 ว่า เศรษฐกิจปีหน้า เป็นเรื่องไม่ง่าย เพราะจะมีปัจจัยที่ท้าทายกว่าปีนี้มาก โดยเฉพาะเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ Emerging Market หรือ กลุ่มประเทศเศรษฐกิจของตลาดเกิดใหม่

 

“ขอให้จับตาภาวะเงินเฟ้อของหลาย ๆ ที่จะประกาศในอีก 2-3 วันนี้ ว่าจะเป็นอย่างไรจะลงมาหรือไม่ และต้องดูว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด จะขึ้นดอกเบี้ยไปสูงสุดเท่าไหร่ แล้วจะทำให้เห็นว่าเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ Emerging Market จะได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง เช่นเดียวกับ Recession หรือ เศรษฐกิจถดถอย อาจเกิดขึ้นในปีหน้าด้วย”

 

ทั้งนี้มองว่า เศรษฐกิจของ Emerging Market ที่จะได้รับผลกระทบมีที่ง สปป.ลาว เมียนมา ปากีสถาน ศรีลังกา อียิปต์ ละตินอเมริกา รวมไปถึงบางประเทศของยุโรป จะได้รับผลกระทบจากกรณีของธนาคารกลางสหรัฐ ปรับขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งทิศทางการขึ้นดอกเบี้ยก็ยังต้องติดตามต่อว่าจะปรับเพิ่มขึ้นอีกเท่าไหร่ในปีหน้า 

 

นายกอบศักดิ์ มองว่า สำหรับประเทศไทยเองนั้น แม้จะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจในปีหน้าที่ไม่ดีนัก แต่ก็ยังดีที่มีการท่องเที่ยวเข้ามาช่วย ซึ่งช่วยประคับประคองเคลื่อนเศรษฐกิจได้มาก สามารถผ่อนหนักเป็นเบาได้ 

ท่องเที่ยวพระเอกหลักพยุงเศรษฐกิจ

 

ด้าน นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า ในปี 2566 การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจปีหน้า หลังเห็นสัญญาณการเดินทางระหว่างประเทศของนักท่องเที่ยวทั่วโลกเพิ่มขึ้น โดยคาดว่ารายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2566 จะอยู่ที่ 1.2 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับปีก่อน 

 

ขณะที่การส่งออกปี 2565 ประเมินว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จะเพิ่มขึ้น 1% เทียบกับ 7.5% ในปี 2565 ส่วนปริมาณการส่งออกสินค้า เพิ่มขึ้น 1% ชะลอลงจาก 3.2% ในปีก่อน ตามแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก ส่วนราคาสินค้าส่งออกคาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วง (-0.5) – 0.5% เทียบกับ 4.3% ในปี 2565

 

การใช้จ่ายรอุปโภค-บริโภค ยังขยายตัว

 

ด้านการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค โดยการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน คาดว่า ในปี 2566 จะขยายตัว 3% เทียบกับการขยายตัวในเกณฑ์สูง 5.4% ในปี 2565 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของฐานรายได้ในระบบเศรษฐกิจ และตลาดแรงงานที่มีแนวโน้มฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง

 

ขณะที่การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคภาครัฐบาล คาดว่าจะลดลง 0.1% เทียบกับการลดลง 0.2% ในปี 2565 สอดคล้องกับการลดลงของกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำภายใต้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 วงเงิน 2,489,923 ล้านบาท ลดลง 1.8% จากกรอบวงเงิน 2,535,682 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2565 และการลดลงของการใช้จ่ายเงินภายใต้ พ.ร.ก.เงินกู้ฯ 1 ล้านล้านบาท และ 5 แสนล้านบาท

จับตาการลงทุนเริ่มเจอผลกระทบเศรษฐกิจ

 

นอกจากนี้ในด้านการลงทุนรวม ในปี 2566 คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 2.5% เทียบกับ 2.6% ในปี 2565 โดยการลงทุนภาคเอกชน จะขยายตัว 2.6% เทียบกับ 3.9% ในปี 2565 สอดคล้องกับแนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลกและภาคการส่งออก 

 

ขณะที่การลงทุนภาครัฐคาดว่าจะขยายตัว 2.4% เพิ่มขึ้นจากการลดลง 0.7% ในปี 2565 สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของกรอบงบประมาณรายจ่ายลงทุนภายใต้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 วงเงิน 695,077 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.5% จากวงเงิน 612,566 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2565 รวมถึงแรงสนับสนุนจากความคืบหน้าในการดำเนินการโครงการลงทุนทางด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของรัฐวิสาหกิจด้วย

 

หวังเงินลงทุนเมกกะโปรเจกต์เข้าระบบ 8.3 หมื่นล้าน

ขณะที่โครงการลงทุนขนาดใหญ่ หรือเมกกะโปรเจกต์ ที่คาดว่าจะมีการเบิกจ่ายสูงสุด 10 อันดับแรกในปี 2566 โดยรวมคาดว่า จะมีการเบิกจ่ายงบลงทุนทั้งสิ้น 83,945.12 ล้านบาท คิดเป็น 59.5% ของประมาณการเบิกจ่ายงบลงทุนโครงการสำคัญรวมทั้งหมดกว่า 65 โครงการ มีดังนี้ 

  1. โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร - หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร - นครราชสีมา) วงเงิน 143,280 ล้านบาท เบิกจ่าย 18,138 ล้านบาท
  2. โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน - ราษฏร์บูรณะ วงเงิน 91,974 ล้านบาท เบิกจ่าย 10,646 ล้านบาท
  3. โครงการพัฒนาระบบส่งและจ่าหน่าย ระยะที่ 2 วงเงิน 28,585 ล้านบาท เบิกจ่าย 10,552 ล้านบาท
  4. โครงการทางพิเศษสายพระราม 3 - ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก วงเงิน 20,767 ล้านบาท เบิกจ่าย 8,608 ล้านบาท
  5. โครงการก่อสร้างทางรถไฟ สายบ้านไผ่ - มหาสารคาม - ร้อยเอ็ด - มุกดาหาร - นครพนม วงเงิน 61,273 ล้านบาท เบิกจ่าย 7,498 ล้านบาท
  6. โครงการพัฒนาพื้นที่ส่วนขยายศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 พื้นที่โซน C วงเงิน 17,343 ล้านบาท เบิกจ่าย 6,129 ล้านบาท
  7. แผนปรับปรุงและขยายระบบจ่าหน่ายพลังไฟฟ้าฉบับที่ 12 ปี 2560 - 2564 วงเงิน 15,493 ล้านบาท เบิกจ่าย 5,863 ล้านบาท
  8. โครงการก่อสร้างทางรถไฟ สายเด่นชัย - เชียงราย - เชียงของ วงเงิน 76,368 ล้านบาท เบิกจ่าย 5,752 ล้านบาท
  9. โครงการปรับปรุงกิจการประปาแผนหลักครั้งที่ 9 วงเงิน 28,142 ล้านบาท เบิกจ่าย 5,459 ล้านบาท
  10. โครงการโรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทน เครื่องที่ 8 - 9 วงเงิน  42,557.14 ล้านบาท เบิกจ่าย 5,296.06 ล้านบาท