ครม. ทุ่มงบ 5.1 พันล้าน สร้างศูนย์สุขภาพนานาชาติอันดามัน ดึง นทท.เชิงสุขภาพ

11 ต.ค. 2565 | 06:45 น.

ครม. ทุ่มงบ 5,116 ล้านบาท สร้างศูนย์สุขภาพนานาชาติอันดามันดึงนักท่องเที่ยว คาดเพิ่มมูลค่าการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพได้ปีละ 6.2 หมื่นล้านบาท

11 ตุลาคม 2565 นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม. ได้เห็นชอบโครงการศูนย์สุขภาพนานาชาติอันดามัน โดยมีสถานที่ตั้งโครงการอยู่ที่จังหวัดภูเก็ต วงเงินงบประมาณรวมทั้งสิ้น 5,116 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี (ปี2566 – 2570) โดยขอผูกพันงบประมาณ ดังนี้

  • ปีงบประมาณ2566 วงเงิน 1,291 ล้านบาท
  • ปีงบประมาณ 2567 วงเงิน 1,656 ล้านบาท
  • ปีงบประมาณ 2568 วงเงิน 1,476 ล้านบาท
  • ปีงบประมาณ 2569 วงเงิน 498 ล้านบาท
  • ปีงบประมาณ 2570 วงเงิน 193 ล้านบาท

 

ทั้งนี้ สำหรับโครงการศูนย์สุขภาพนานาชาติอันดามัน จะเป็นสถานที่ผลิตบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ เช่น แพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ เภสัชกร เทคนิคการแพทย์ แพทย์ทางเลือก และอื่น ๆ และเป็นสถานที่ทำการวิจัย พัฒนาด้านวิชาการด้านสาธารณสุข เป็นสถานพยาบาลขั้นตติยภูมิและเฉพาะทางเป็นหลัก โดยสามารถรักษาโรคระดับต้นและโรคซับซ้อน และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยวในการเข้ามาท่องเที่ยวในกลุ่มจังหวัดอันดามันและประเทศไทย

 

ครม. ทุ่มงบ 5.1 พันล้าน สร้างศูนย์สุขภาพนานาชาติอันดามัน ดึง นทท.เชิงสุขภาพ

โดยการพัฒนาทั้งด้านบุคลากร การวิจัยเทคโนโลยีทางการแพทย์จากศูนย์สุขภาพนานาชาติฯ จะมีส่วนสำคัญในการผลักดันประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ (Medical Hub) และศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในอนาคต สร้างรายได้แก่ประเทศสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีอีกด้วย

 

สำหรับผลที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการศูนย์สุขภาพนานาชาติอันดามัน

  • มีศูนย์การแพทย์เฉพาะทางขนาด 300 เตียง
  • ให้บริการผู้ป่วยโรคซับซ้อนชาวไทยไม่น้อยกว่า 12,500 คน / ปี
  • ผู้ป่วยนอกไม่น้อยกว่า 300,000 คน / ปี
  • มีรายได้จากการรักษาชาวต่างชาติไม่น้อยกว่า 1,600 ล้านบาท / ปี
  • มีศูนย์ทันตกรรมที่ทันสมัยแห่งแรกในภาคใต้และมีรายได้จากการให้บริการชาวต่างชาติไม่น้อยกว่า 300 ล้านบาท / ปี

 

ครม. ทุ่มงบ 5.1 พันล้าน สร้างศูนย์สุขภาพนานาชาติอันดามัน ดึง นทท.เชิงสุขภาพ

  • สามารถผลิตบุคลากรด้านสาธารณสุขและวิทยาศาสตร์สุขภาพ ที่สำเร็จตามหลักสูตรปีละ 110 คน
  • อบรมทักษะต่าง ๆ ตามความต้องการของภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ไม่น้อยกว่า 1,000 คน / ปี
  • ลดการไปรักษาโรคซับซ้อนในพื้นที่อื่นของคนในพื้นที่อันดามันไม่น้อยกว่า 13,500 ครั้ง / ปี ทำให้ประหยัดเงินไม่น้อยกว่า 135 ล้านบาท / ปี
  • เพิ่มมูลค่าการท่องเที่ยวในพื้นที่อันดามันให้เป็นการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมากขึ้น ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของมูลค่าเดิมหรือเพิ่มขึ้นประมาณ 62,000 ล้านบาท / ปี