บูมตลาดเพื่อสุขภาพ สลัดแฟคทอรี่ รุกปั้นนํ้าสลัด Plant-based

29 ม.ค. 2565 | 10:34 น.

สลัดแฟคทอรี่เดินเครื่องรุกตลาด Plant-based จับมือ “มาทาน” แตกไลน์น้ำสลัด Plant-based 5 รสชาติ เจาะกลุ่มกึ่งมังสวิรัติ พร้อมขยายร้านไซส์มินิเพิ่ม 15 สาขาภายใต้โมเดล QSR ลดความเสี่ยงปิดห้าง-ร้านอาหาร

นายปิยะ ดั่นคุ้ม กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กรีนฟู้ด แฟคทอรี่ (สลัดแฟคทอรี่) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ตลาดอาหารสุขภาพโดยรวมมีการเติบโตต่อเนื่องเพราะผู้บริโภคให้ความสำคัญ กับเรื่องของสุขภาพแบบองค์รวม ทำให้ตลาดเติบโตอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ตลาด Plant-based เป็นตลาดที่เติบโตค่อนข้างมากเห็นได้จากการที่ผู้เล่นรายใหญ่ๆ ของเมืองไทยเริ่มเข้ามาในธุรกิจนี้

 

“มองว่า Plant-based เป็นตลาดที่น่าจับตามองและปัจจุบันมีแต่ผู้เล่นที่ทำ product เสมือนเนื้อสัตว์ แต่สิ่งที่จะทานกับเนื้อสัตว์ได้อร่อยคือ ซอสหรือน้ำสลัดต่างๆ ซึ่งยังไม่มีใครทำ จึงเป็นโอกาสทางธุรกิจที่สำคัญบริษัทจึงได้ร่วมมือกับ “มีท อวตาร” ซึ่งเป็นหนึ่งในซัพพลายเออร์ Plant-based meat พัฒนาโปรดักต์ใหม่ น้ำสลัด Plant-based “มาทาน x สลัดแฟคทอรี่” 5 รสชาติ ได้แก่ น้ำสลัดซีซ่าร์, เทาซันไอร์แลนด์, ครีมส้มยูซู, งาญี่ปุ่น และมายองเนสเบส เพื่อขยายตลาด Plant-based ให้มีทางเลือกเพิ่มมากขึ้น เข้าถึงง่ายและราคาจับต้องได้ รสชาติไม่แตกต่างจากน้ำสลัดสูตรปกติ”

สลัดแฟคทอรี่

ก่อนหน้านี้สลัดแฟคทอรี่ได้ทดลองตลาดโดยการเพิ่มเมนู Plant-based เข้ามาเป็นเมนูสเปลเชียล ในช่วงเทศกาลกินเจ ซึ่งผู้บริโภคให้การตอบรับดีมาก ในปีนี้บริษัทมีแผนเพิ่มเมนู Plant-based 10 เมนูในเมนูประจำโดยจะทยอยเพิ่มทีละสาขาจนครบ 20 สาขาภายในต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ เพราะมองว่าเมนู Plant-based น่าจะขายได้ทั้งปี ตอนนี้ตลาดเมืองไทยค่อนข้างที่จะเป็น กึ่งมังสวิรัต ค่อนข้างเยอะ คือไม่ทานเนื้อสัตว์เป็นบางมื้อหรือบางวัน

 

นอกเหนือจากแผนรุกตลาด Plant-based แล้วในปีนี้สลัดแฟคทอรี่ ยังมีแผนขยายสาขาเพิ่มอย่างต่อเนื่อง 10-15 สาขาจากปัจุบัน20 สาขา ในรูปแบบโมเดล Mini store ในสถานีบริการน้ำมันหรือไฮเปอร์มาร์เก็ตมากขึ้น รวมทั้งโมเดลร้านขนาดเล็กในซูเปอร์มาร์เก็ตซึ่งเป็นโมเดลเปิด 1 ร้านประโยชน์ 3 อย่าง คือ1. Take Homeได้ 2. นั่งทานในเคาน์เตอร์บาร์ และ 3. ดีลิเวอรี โดยเมนูจะถูกดีไซน์ใหม่ เน้นรับประทานคนเดียวหรือที่เรียกว่า Fresh and easy ซึ่งได้นำร่องเปิดที่ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต เซ็นทรัลเฟสติวัล อีสต์วิลล์ เป็นสาขาแรก

สลัดแฟคทอรี่

นายปิยะ กล่าวอีกว่า บริษัทได้ทดลองวางจำหน่าย สลัดพร้อมทาน แบรนด์สลัดแฟคทอรี่ ใน Tops supermarket 5 สาขาซึ่งอาจจะต้องมีการปรับโปรดักส์ แพคเกจจิ้ง และอาจจะได้เห็นบิ๊กแคมเปญในไตรมาสที่ 3 หรือ 4 ของปีนี้ในโอกาสฉลองครบรอบ 10 ปีของสลัดแฟคทอรี่ด้วย

 

“ในปีนี้ที่บริษัทวางแผนเปิดสาขามากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของโมเดลร้านที่พยายามที่จะปรับเป็น QSR มากขึ้น เน้นทานเร็ว ซื้อกลับบ้าน ขนาดร้านที่เล็กลง ทำให้ดูแลง่ายในรูปแบบ Mini store ตามปั๊มน้ำมัน ไฮเปอร์มาร์เก็ต มากขึ้นรวมถึงโมเดลที่เข้าไปอยู่ในซูเปอรมาร์เก็ต ซึ่งทำให้เปิดสาขาได้ง่ายกว่า ร้านขนาดใหญ่ ที่ยังมีความเสี่ยงต่อการถูกปิดร้านเพราะปัจจุบันก็ถือว่า ยังอยู่ในช่วงของวิกฤติ เพราะฉะนั้นแผนในการขยายปีนี้อาจจะเอียงไปที่สาขาของขนาดเล็กและเน้นในเรื่องของดีลิเวอรีมากกว่าเพื่อเข้าถึงลูกค้ามากขึ้นค่าส่งถูกลง และครอบคลุมทั่วกรุงเทพฯและปริมณฑล”

 

นอกจากนี้บริษัทยังศึกษา food trend ต่างๆ เช่นเนื้อจากแล็บ หรืออาหารจากแมลง แม้กระทั่งซูเปอร์ ฟู้ดต่างๆ ถ้ามีโอกาส ก็น่าจะนำเข้ามาให้ผู้บริโภคได้ทดลอง เพราะเราเป็นแบรนด์ที่ค่อนข้างเปิดกว้างกับ future food หรือ food trend พอสมควร

สลัดแฟคทอรี่

ด้านนายวิภู เลิศสุรพิบูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มีท อวตาร จำกัด กล่าวว่า มูลค่าตัวเลขในตลาดเฉพาะช่วงเทศกาลกินเจ ซึ่งเป็นเทศกาลที่ขายดีที่สุด อยู่ที่ประมาณ 45,000 ล้านบาท เมื่อปี 2561 (ก่อนโควิด) และมีแนวโน้มเติบโตขึ้นเฉลี่ย 2 - 3% ต่อปี สำหรับตลาด Plant-based ในประเทศไทยเพิ่งเริ่มเติบโตเมื่อปี 2563 และเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งสลัดแฟคทอรี่เป็นแบรนด์ที่ เข้มแข็งในตลาด Food Serviceและ มาทาน เข้มแข็งในกลุ่มตลาดค้าปลีก (Retail) การจับมือกันของเราจะสามารถส่งเสริมตลาดให้โตขึ้น ผู้บริโภคจะมีทางเลือกมากขึ้น ซึ่งนอกจากจะช่วยต่อยอดแตกไลน์สินค้า สร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับผู้บริโภคแล้ว ยังเป็นการเข้าถึงฐานลูกค้าระหว่างกันอีกด้วย

 

หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,752 วันที่ 27 - 29 มกราคม พ.ศ. 2565