ปีทอง Plant-based Food บิ๊กเนมโดดแข่งขัน ชิงแชร์ 4.5 หมื่นล้าน

10 ต.ค. 2564 | 05:55 น.

ปีทอง Plant-based Food บิ๊กเนมพาเหรดลงสนามชิงส่วนแบ่งตลาด ทั้งกลุ่มวัตถุดิบ อาหารแปรรูป พร้อมทาน พร้อมปรุง ฟาสต์ฟู้ด ชี้เทรนด์โลกโตกว่า 10% ดันมูลค่าทะลุ 4.5 หมื่นล้านในปี 67 ขณะที่ตลาดในไทยโตแหวกโควิด หลังรัฐล็อกดาวน์ห้างค้าปลีก-ร้านอาหาร

กระแสการบริโภคอาหารแห่งอนาคต (Future Food) อย่างโปรตีนจากพืช (Plant-Based Food) ที่มาทดแทนเนื้อสัตว์ ซึ่งเป็นที่นิยมในกลุ่มคนรักสุขภาพ ที่นิยมทานมังสวิรัติ (Vegetarians) กลุ่มอาหาร Vegans รวมถึงกลุ่มที่ลดทานเนื้อสัตว์ในบางโอกาสหรือ Flexitarians ซึ่งทั้งสามกลุ่มถือเป็นผู้ที่มีกำลังซื้อค่อนข้างสูง

 

ทำให้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมากลุ่มผลิตภัณฑ์แพลนต์เบส มีการเติบโตอย่างมากในเมืองไทย และเป็นเมกะเทรนด์อาหารด้านสุขภาพที่ถูกจับตามองไปทั่วโลก โดยพบว่าในปี 2562 Plant-Based Food มีมูลค่าตลาดราว 2.8 หมื่นล้านบาท

 

และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 4.5 หมื่นล้านบาทในปี 2567 จากการเติบโตเฉลี่ย 10% ต่อปี ขณะที่ตลาดเนื้อสัตว์จากพืช หรือ Plant-based Meat จะมีมูลค่าขยับขึ้นเป็น 900 ล้านบาท เติบโต 20% ถือเป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเช่นกัน

ปีทอง Plant-based Food บิ๊กเนมโดดแข่งขัน ชิงแชร์ 4.5 หมื่นล้าน

ตลาด Plant-Based Food จึงเป็น Blue Ocean ที่ต้องจับตามอง จากเริ่มต้นที่เป็นกลุ่มสตาร์ทอัพเพียงไม่กี่ราย แต่วันนี้พบว่าแบรนด์ยักษ์ใหญ่ต่างกระโดดลงมาแข่งทำตลาด ไม่ว่าจะเป็นเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ที่เริ่มศึกษาอย่างจริงจัง ก่อนที่จะเปิดตัว Meat Zero ภายใต้ร่ม “เจริญโภคภัณฑ์อาหาร” หรือซีพีเอฟ ที่จับมือกับแพลนต์เบสระดับโลกใช้เทคโนโลยี Plant-Tec เข้ามาพัฒนาวัตถุดิบพืชในระดับอุตสาหกรรมทำให้ได้ลักษณะ รสชาติ กลิ่นและเนื้อสัมผัส พร้อมกดราคาลง ออกวางจำหน่ายในร้านเซเว่น อีเลฟเว่น เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่าย

 

ล่าสุดซีพีเอฟ ยังจับมือดักกาลบี้ กรุ๊ป เปิดตัวเมนูใหม่ทั้งแบบไทยและเกาหลี อาทิ สลัดคิมบับไร้เนื้อ, ข้าวหมูสับคั่วกะเพราไร้เนื้อ โดยนางศุภรา ศรีบูรณ์ รองกรรมการผู้จัดการ ซีพีเอฟ ให้เหตุผลถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า “เพื่อเป็นการเพิ่มกลุ่มลูกค้า เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้ลิ้มลองอาหาร ซึ่งพบว่าในช่วงโควิด-19 ผู้บริโภคหันมาใส่ใจเลือกรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น

 

ขณะที่เทรนด์ของผู้บริโภคอาหารเองมีความหลากหลายมากขึ้น บริษัทจึงต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ Meat Zero ซึ่งเป็นอาหารทางเลือกโปรตีนจากพืช ให้มากขึ้น รวมทั้งขยายช่องทางการจำหน่ายไปยังร้านสะดวกซื้อทั่วไป ห้างสรรพสินค้าชั้นนำ รวมถึงเป็นเมนูในร้านอาหารต่างๆ ให้มากขึ้นด้วย”

ปีทอง Plant-based Food บิ๊กเนมโดดแข่งขัน ชิงแชร์ 4.5 หมื่นล้าน

ส่วนฟาสต์ฟู้ดดังอย่าง KFC ก็เลือกใช้แพลนต์เบสของ Meat Zero ในการพัฒนาเป็นเมนูไก่ป๊อปแพลนต์เบส ข้าวแพลนต์เบส แซ่บ โบว์ล และชุดเดอะบอกซ์ แพลนต์เบส ออกวางจำหน่ายในร้าน KFC Green Store ทั้ง 2 สาขาเพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ที่ไม่รับประทานเนื้อด้วย

 

ขณะที่ยักษ์ในวงการอุตสาหกรรมอาหารทะเลของโลกอย่าง “ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป” ก็ทุ่มงบกว่า 3,000 ล้านบาท เข้าซื้อหุ้น 10% ในบริษัท อาร์ แอนด์ บี ฟู้ด ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) หรืออาร์บีเอฟ เพื่อรุกตลาดแพลนต์เบสท์ ภายใต้แบรนด์ OMG Meat เนื้อสัตว์และอาหารทะเลที่ผลิตจากพืช และธุรกิจกัญชงในอนาคต

ปีทอง Plant-based Food บิ๊กเนมโดดแข่งขัน ชิงแชร์ 4.5 หมื่นล้าน

ด้าน “คาร์กิลล์” หนึ่งในบริษัทผู้นำด้านอาหารและอุตสาหกรรมการเกษตรรายใหญ่ของโลกก็ร่วมเปิดตัว “PlantEver” โปรตีนจากพืช นำร่องด้วยนักเก็ตทางเลือกจากพืช สูตรแป้งเทมปุระเป็นสินค้าตัวแรกออกสู่ตลาด วางจำหน่ายผ่านเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม และร้าน “Cargill Protein Lover” บนช่องทางอีคอมเมิร์ซ อาทิ Lazada และ Shopee และเตรียมส่งผลิตภัณฑ์หลากหลายรายการออกสู่ตลาดตลอดทั้งปี

 

นอกจากนี้ยังมีผู้เล่นรายสำคัญ อาทิแบรนด์ วี ฟาร์ม (V Farm) โดยวีฟู้ดส์ นำผลิตภัณฑ์ Plant-based Bites จากเมนูลาบทอดที่ได้รับการตอบรับดีเยี่ยม จากซีรีย์ Classic Thai Taste มาพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับเจ อีก 2 รสชาติ ได้แก่ ทอดมันข้าวโพดเนื้อปู ใช้วัตถุดิบจาก OMG Meat และต้มยำทอด ใช้วัตถุดิบจาก More Meat พร้อมสร้างสรรค์เมนูที่หลากหลายกับร้านอาหารชั้นนำอย่าง Domino Pizza และร้าน Veganerie Concept เข้ามาสร้างสร้างสรรค์ให้กับตลาด

 

รวมถึงกลุ่มสยาม คานาเดี่ยน กรุ๊ป ผู้นำเข้าและส่งออกอาหารแช่แข็งรายใหญ่ นำร่องผลิตภัณฑ์อาหารแช่แข็งพร้อมปรุงและพร้อมฐานกลุ่มอาหารเนื้อจากพืชหรือแพลนต์เบส ออกวางจำหน่ายในชื่อ Meatoo เช่น หมูกรอบ (ไร้หมู) ปลาเค็ม (ไร้ปลา) ลูกชิ้นกุ้ง (ไร้กุ้ง) เป็นต้น หวังรองรับผู้บริโภคยุคใหม่ New Normal

ปีทอง Plant-based Food บิ๊กเนมโดดแข่งขัน ชิงแชร์ 4.5 หมื่นล้าน

นายวิภู เลิศสุรพิบูล สตาร์ทอัพ ผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ Meat Avatar ผลิตภัณฑ์ Plant-based meat ซึ่งได้รับความนิยมในกลุ่มคนรุ่นใหม่ กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปีนี้เป็นปีที่แพลนต์เบส กระแสแรงขึ้นมาก จากเดิมที่ Meat Avatar เป็นผู้เล่นรายแรกๆเมื่อ 1-2 ปีก่อน ตอนนี้ในตลาดมีผู้เล่นรายใหญ่ออกมาเล่นเยอะขึ้นส่งผลให้ตลาดรวมมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดอย่างน้อย 10%

 

“ตลาดเจปีนี้น่าจะลดลงไปเยอะพอสมควร จากโควิดที่ทำให้คนใช้จ่ายน้อยลง ประกอบกับเทศกาลเจปีนี้อาจจะมาเร็วกว่าปีอื่นๆทำให้คนยังไม่ตื่นตัวสักเท่าไหร่ การแข่งขันปีหน้าจะดุเดือดและสนุกกว่าปีนี้แน่นอน เชื่อว่าจะมีแบรนด์ใหญ่เข้ามาในตลาดเยอะมากขึ้นและผู้บริโภคก็จะมีทางเลือกมากขึ้นถือว่าเป็นข้อดีที่แบรนด์ใหญ่ลงมาช่วยกันโปรโมทตลาด”

 

สำหรับ Meat Avatar ในช่วงเทศกาลกินเจปีนี้ได้เตรียม plant-based meat ในส่วนของหมูกรอบและหมูสับรวมทั้งเมนู ready-to-eat ผ่านช่องทางออนไลน์เพื่อโปรโมทสินค้าและรองรับดีมานด์ในช่วงกินเจ และหลังจากพ้นช่วงเทศกาลกินเจไป บริษัทจะวางจำหน่ายชุดข้าวกล่องพร้อมทานหลายเมนูและส่งเข้าวางจำหน่ายในห้างค้าปลีก และบริษัทยังมีแผนปล่อยสินค้าในกลุ่มเนื้อจาก plant-based เพิ่มอีก 2 รายการ และในช่วงปลายปีอาจจะมีซีฟู้ดจาก plant-based ออกมาเพิ่ม 1 รายการรวมทั้ง plant-based snack ในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้

 

“ต้นปีบริษัทตั้งเป้าที่จะเติบโต 50% แต่โควิดส่งผลกระทบกับตลาดรีเทลและฟู้ดเซอร์วิส ซึ่งเป็นตลาดหลัก ร้านอาหารถูกสั่งปิดไป 2-3 เดือนทำให้ในส่วนของ B2B ที่ซัพพลายวัตถุดิบ plant-based meat ให้กับเชนร้านอาหารและโรงแรมยอดขายลดลงไปจำนวนมาก ในขณะที่ฝั่ง B2C ซึ่งเป็นตลาดรองกลับทำยอดขายพลิกขึ้นมาแทน”

 

ด้วยผู้ประกอบการที่โดดลงมาแข่งขันมากขึ้นผนวกพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนหันมาเลือกรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ ถือเป็นปัจจัยที่ผลักดันให้ปีนี้เป็นปีทองของ Plant-Based Food ต่อไป

 

หน้า 14-15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,721 วันที่ 10 -13 ตุลาคม พ.ศ. 2564