ส่องโอกาส ‘Plant-based Food’ 3 ปีทะยานแตะ 2.4 หมื่นล.

29 มกราคม 2565

ตลาด Plant-based Food 2.4 หมื่นล้านบาทคึกคัก หลังปัจจัยหนุนอื้อ ทั้งนักชิมลดการบริโภคเหตุตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อม การทารุณกรรมสัตว์ บวกกับฐานประชากรมังสวิรัติเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผล “บิ๊กเนม” ตบเท้าเข้าชิงส่วนแบ่ง ด้านรายเล็กไม่หวั่นมั่นใจโอกาสเติบโตสูง

อาหารจากพืช (Plant-based Food) เป็นเทรนด์อาหารอนาคตที่ได้รับนิยมและมีอัตราการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนหนึ่งเนื่องจาก Plant-based Food ถูกสร้างขึ้นเพื่อสนองตอบความมั่นคงทางอาหาร (Food security)โดยอาศัยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการผลิตอาหาร รวมถึงพฤติกรรมการเปิดรับอาหารชนิดใหม่ๆ ของคนต่างสังคมและวัฒนธรรม

 

นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปัจจุบัน Plant based Food ในตลาดโลกมีมูลค่าราว 3.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 12% โดยตลาดได้รับปัจจัยบวกจากโควิด-19 ทำให้ยอดขายเติบโตโดดเด่น เพราะผู้บริโภคกังวลเรื่องเนื้อสัตว์ปนเปื้อนในช่วงแรกของการระบาด

Plant-based Food

รวมทั้งเป็นอาหารที่ได้รับการยอมรับมากขึ้นจากผู้บริโภค บริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกหลายรายเริ่มขยายตลาดไปสู่ต่างประเทศมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของฐานประชากรวีแกนและมังสวิรัติที่สูงขึ้นทั่วโลก ทำให้ผู้ผลิตขยายการลงทุนเพื่อสร้างการเติบโต

 

นอกจากนี้จำนวนผู้แพ้โปรตีนจากเนื้อสัตว์ และแพ้แล็กโตส มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลดีต่ออาหารจากพืชทั้งกลุ่ม Plant-based Meat และ Plant-based Milk โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์นม มีสัดส่วนสูงที่สุด 45% รองลงมาคือเนื้อสัตว์ทดแทน 15% และไข่ทดแทน 10%

 

สำหรับประเทศไทย Plant-based Food มีมูลค่าตลาดราว 2.4 หมื่นล้านบาท เติบโต 20% ผลิตภัณฑ์หลักที่ออกสู่ตลาดยังคงมีพื้นฐานมาจากอาหารเจ มังสวิรัติ ส่วนอาหารจากพืชที่มาจากการนำเข้าและเข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศแม้มีปริมาณยังไม่มากนักแต่มีอัตราเติบโตสูงจากผู้ผลิตรายใหญ่ในสหรัฐฯ และยุโรป โดยเฉพาะกลุ่มเนื้อเทียมที่เปิดตลาดอย่างจริงจัง หากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย คาดว่า ในอีก 3-5 ปีข้างหน้าจะขยายตัวเร่งตัวขึ้น 15-20%

Plant-based Food

อย่างไรก็ตามปัจุบันนอกจากแบรนด์ดังระดับโลกจะขยับเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยได้สักระยะหนึ่งแล้วก็ตาม หากเทียบกับสหรัฐฯ และยุโรป ประเทศไทยยังนับว่า Plant-based Food เป็นตลาดที่เพิ่งเกิด เนื่องจากช่วงแรกหรือย้อนไปกว่า 5 ปีที่แล้ว Plant-based Food มีเพียงกลุ่มสตาร์ทอัพ ที่เข้ามาเปิดตลาด

 

ในขณะที่บิ๊กเนมด้านอาหารของไทย เพิ่งเริ่มขยับเข้ามาเล่นในตลาดนี้ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ More Meat จาก “วีฟู้ด” ซึ่งมีโพรดักซ์ฮีโร่เป็นเนื้อบดและลาบทอด , Harvest Gourmet โดย “เนสท์เล่” มีสินค้านำร่องเช่นเนื้อเบอร์เกอร์ เนื้อบด ไปจนถึงไก่ย่าง มีทบอล ,MEAT ZERO จาก “CP” ซึ่งมีทั้งวัตถุดิบ อาหารแปรรูปสำเร็จ และเมนูสำเร็จพร้อมทาน อาทิ ข้าวกะเพราเนื้อสับจากพืช, สปาเก็ตตี้ซอสมะเขือเทศสับจากพืชหรือเบอร์เกอร์หมูจากพืช และOMG Meat ในเครือ “ไทยยูเนี่ยน” ที่เน้นอาหารปรุงสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็น ซาลาเปาหมู นักเก็ตปลา นักเก็ตไก่ ขนมจีบ และ หอยจ๊อ ทำให้Plant-based Food เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น

 

นายวิภู เลิศสุรพิบูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มีท อวตาร จำกัด สตาร์ทอัพไทยรายแรกๆที่บุกเบิก Plant-based Food ในเมืองไทย เล่าให้ฟังว่า หลังทดลองทำตลาดครั้งแรกในปี 2019 ซึ่งปัจุบันบริษัทมี product ที่อยู่ในตลาด 2 ตัวคือหมูกรอบจากพืชและหมูสับจากพืชที่สามารถใช้แทนเนื้อหมูจริงๆในทุกเมนูและได้รับผลตอบรับที่ดีมากจากผู้บริโภคและเชนร้านอาหารที่นำ Plant-based Meatไปใช้ในร้าน และก่อนถึงตรุษจีนนี้บริษัทจะแบ่ง section product Plant-based Food ออกสู่ตลาด ในรูปแบบ Ready-to-Eat กว่า 5-10 ตัวตลอดทั้งปี และจะทยอยปล่อย Plant based Meat ออกสู่ตลาดเพิ่มอีก 2-3 ชนิดในเดือนกุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้

Plant-based Food

นอกจากตลาดในเมืองไทย บริษัทมีแผนรุกตลาดต่างประเทศ เริ่มจากตลาดเอเชีย เช่น จีน ฮ่องกง ญี่ปุ่นและออสเตรเลียในอนาคตในสัดส่วนในประเทศ 80% และต่างประเทศ 20% และคาดว่าจะช่วยดันรายได้ปีนี้แตะ100 ล้านบาท

 

“ในปี 2020 เริ่มมีแบรนด์ 4-5 แบรนด์เข้ามาเป็นผู้เล่นและเพิ่มมูลค่าของตลาดขึ้น มาจนปีที่แล้วแบรนด์ใหญ่ก็เริ่มลงมาเล่นตลาดนี้ เรามองว่าเราเดินมาไม่ผิดทางเพราะถ้ามีผู้เล่นรายใหญ่ลงมาก็แสดงว่าตลาดนี้มีศักยภาพสูง ส่วน Product และช่องทางจัดจำหน่ายเองก็ไม่ตรงกับแบรนด์เราหรือสตาร์ทอัพรายเล็ก เพราะฉะนั้นทั้งฐานลูกค้าและโอกาสทางธุรกิจเรายังมีอยู่”

  Plant-based Food           

มองว่า การเข้ามาของแบรนด์ใหญ่ยังทำให้อนาคต Plant-based Food จะเป็นที่รู้จักในวงกว้าง และราคาที่อาจลดลงมาไม่ต่างจากเนื้อสัตว์จริงๆ ซึ่งตอนนี้ Plant-based Meat อาจแพงกว่าเนื้อสัตว์จริง 10-15% ส่วน Plant-based Food มีราคาสูงกว่า อาหารจากเนื้อสัตว์ประมาณ 5%

 

สิ่งที่เป็นอุปสรรคในการเติบโตของของตลาด Plant-based Food ในเมืองไทยคือ ความที่เป็นตลาดที่ค่อนข้างใหม่ คนไทยยังไม่รับรู้มากเท่ากับตลาดต่างประเทศ ซึ่งได้รับความนิยมและเป็นที่รู้จักมามากกว่า 15 ปี จึงต้องส่งเสริมและให้ความรู้กับผู้บริโภคว่า Plant-based Food ในประเทศไทยมีเข้ามาแล้ว ราคาก็ไม่สูงจนเกินไปและรสชาติเองก็ไม่ต่างจากเนื้อหมูเนื้อสัตว์ที่เป็นเนื้อจริงๆ

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,751 วันที่ 23 - 26 มกราคม พ.ศ. 2565