อุตสาหกรรมยางพาราไทยปี 64 -66 แนวโน้มขยายตัว

21 เม.ย. 2564 | 07:26 น.

วิจัยกรุงศรี คาดอุตสาหกรรมยางพาราไทยปี 64 - 66 แนวโน้มขยายตัว ทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออก

วิจัยกรุงศรี เปิดเผยบทวิเคราะห์เกี่ยวกับอุตสาหกรรมยางพาราไทยในช่วงปี 2564 -2566 โดยประเมินว่าอุปสงค์จะขยายตัวต่อเนื่อง ตลาดในประเทศมีแนวโน้มเติบโต 3.5-4.5% ต่อปี จากแรงหนุนของ ภาวะเศรษฐกิจและความต้องการของอุตสาหกรรมต่อเนื่องโดยเฉพาะการผลิตรถยนต์ ยางล้อ ชิ้นส่วนยานยนต์ ถุงมือยาง ผลิตภัณฑ์ยางทางการแพทย์ที่ทยอยฟื้นตัว, 


การประยุกต์ใช้ยางพาราในอุตสาหกรรมมูลค่าสูงอื่นๆอย่างเช่นผลิตภัณฑ์เสริมความงาม ,ความคืบหน้าของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่หนุนความต้องการใช้ยางพาราในภาคก่อสร้าง และ มาตรการของภาครัฐที่มีส่วนช่วยสนับสนุนความต้องการใช้ยางพารา อาทิ การนำยางพารามาใช้ในการทำเขื่อนยาง การทำถนนราดยาง อุปกรณ์ด้านการจราจรและอำนวยความปลอดภัย เป็นต้น 


ด้านปริมาณการส่งออกคาดว่าจะกลับมาขยายตัว 3.0-4.0% ต่อปี ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่จะเติบโตดีขึ้นหลังสถานการณ์ระบาดของ COVID-19 คลี่คลายลงเมื่อมีการใช้วัคซีนแพร่หลายมากขึ้น ส่งผลให้การผลิตในภาคอุตสาหกรรมต่อเนื่องทั่วโลกฟื้นตัวโดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ ,การเติบโตต่อเนื่องของอุปกรณ์ทางการแพทย์โดยเฉพาะถุงมือยางและเครื่องมือยางทางการแพทย์ซึ่งยังมีความจำเป็นต้องใช้ต่อเนื่อง


และผลผลิตของประเทศคู่แข่งมีแนวโน้มลดลงโดยอินโดนีเซียและมาเลเซียมีแนวโน้มประสบปัญหาโรคใบร่วงยางพารา คาดว่าปัจจัยดังกล่าวจะช่วยหนุนให้ราคาส่งออกยางแผ่นรมควันชั้น 3 โดยเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 60-65 บาท/กก. เทียบกับ 54.7 บาท/กก.ในปี 2563 (ต้นทุนอยู่ที่ระดับ 56-60 บาท/กก.[20])
 

มุมมองวิจัยกรุงศรี  ยังได้เปิดเผยต่อไปว่าในช่วงปี 2564-2566 ผลประกอบการของผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ยางพาราขั้นกลางโดยรวมมีแนวโน้มปรับดีขึ้น แต่ยังเผชิญภาวะการแข่งขันที่รุนแรงจากประเทศเพื่อนบ้าน ขณะที่เกษตรกรสวนยางได้แรงหนุนด้านราคาแต่ยังคงต้องเฝ้าระวังปัจจัยเสี่ยงด้านผลผลิตที่อาจลดลงจากโรคใบร่วงยางพารา

ผู้ผลิตยางพาราขั้นกลาง 
ผู้ผลิตยางแผ่น และยางแท่งของไทยมีแนวโน้มเผชิญความเสี่ยงจากการลดลงของความต้องการนำเข้าจากจีน และการแข่งขันที่รุนแรงจากคู่แข่งใหม่ๆ ในอาเซียน โดยเฉพาะ CLMV ที่มีแนวโน้มส่งออกไปจีนมากขึ้น (CLMV ซึ่งได้เปรียบไทยทั้งด้านต้นทุน ค่าขนส่ง และส่วนใหญ่เป็นการลงทุนของนักลงทุนจีนเอง) ทำให้ผลประกอบการของผู้ผลิตในกลุ่มนี้ยังขยายตัวได้อัตราต่ำ 


ขณะที่ผู้ผลิตน้ำยางข้นยังมีโอกาสเติบโตต่อเนื่องตามทิศทางความต้องการของอุตสาหกรรมขั้นปลาย ได้แก่ ถุงมือยาง ผลิตภัณฑ์ยางทางการแพทย์ และถุงยางอนามัยในตลาดโลก ประกอบกับการผลิตน้ำยางข้นในตลาดโลกยังมีน้อยเนื่องจากกระบวนการผลิตส่วนใหญ่ยังเน้นผลิตเพียงยางก้อนถ้วยและเศษยาง ทำให้ภาวะการแข่งขันในการส่งออกน้ำยางข้นไม่รุนแรงนัก 


ส่วนผู้ผลิตยางคอมพาวด์ และยางผสมผลประกอบการมีทิศทางปรับตัวดีขึ้น แรงหนุนจากความต้องการในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนของประเทศจีน อย่างไรก็ตามทิศทางการลงทุนในการผลิตยางคอมพาวด์ที่กำลังขยายตัวในจีนซึ่งเป็นตลาดหลักอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงในการจำกัดการขยายตัวของการส่งออกของไทย


ผู้ค้ายางพารา 
รายได้มีแนวโน้มไม่แน่นอน  เนื่องจากช่องทางการตลาดแคบลง โดยโรงงานอุตสาหกรรมมีแนวโน้มรับซื้อผลผลิตยางพาราจากเกษตรกร ตลาดกลาง หรือสหกรณ์โดยตรงเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งผู้ค้าอาจได้รับผลกระทบจากการที่ผู้ประกอบการจีนเข้ามาติดต่อรับซื้อยางพาราจากกลุ่มเกษตรกรของไทยโดยตรง จึงอาจเป็นการตัดวงจรพ่อค้าไทย


เกษตรกรสวนยาง 
รายได้มีแนวโน้มปรับดีขึ้น  เนื่องจากสต๊อกยางทั้งในประเทศและโลกที่ปรับลดลงจากผลกระทบของโรคระบาดใบร่วงและภัยแล้งในหลายประเทศ ประกอบกับความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องทั้งในและต่างประเทศที่เริ่มฟื้นตัว ทำให้ราคายางพาราที่เกษตรกรขายได้มีแนวโน้มปรับเพิ่มสูงขึ้น 


นอกจากนี้ยังมีมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ อาทิ โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง เงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ การสนับ สนุนเงินทุนปลูกพืชทดแทน เป็นต้น 


อย่างไรก็ตาม เกษตรกรยังมีแนวโน้มเผชิญปัจจัยลบด้านผลผลิตที่ลดลงจากสถานการณ์โรคใบร่วงยางพาราที่อาจส่งผลกระทบต่อผลประกอบการ