ปรับเป้าท่องเที่ยวใหม่"ททท."ดันต่างชาติ6.5ล้านคน-อัพไทยเที่ยวไทย

06 มี.ค. 2564 | 20:00 น.

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)ปรับเป้าหมายการท่องเที่ยวของไทยในปี 2564 ระลอกใหม่ คงเป้ารายได้ภาพรวม 1.21 ล้านล้านบาท โดยประเมินต่างชาติเที่ยวไทยปีนี้ลดลงจากที่คาดไว้เดิมเหลืออยู่ที่ 6.5 ล้านคน หันไปโฟกัสเที่ยวในประเทศแทน ขยับเพิ่มการเดินทางเป็น 160 ล้านคน/ครั้ง 

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่าในขณะนี้ททท.ได้ปรับเป้าหมายการท่องเที่ยวในปี 2564 ระลอกใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นโดยททท.จะยังคงเป้าหมายการสร้างรายได้รวมจากการท่องเที่ยวอยู่ที่ 1,218,150 ล้านบาท ซึ่งได้ปรับลดจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติและรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติลง แต่จะหันไปเพิ่มรายได้จากการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศมาทดแทนเพิ่ม เพื่อให้ได้รายได้รวมตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ และจากสถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในวันนี้ ผมมองว่าการท่องเที่ยวของไทยจะฟื้นตัวในลักษณะ V Shape 

การปรับเป้าหมายการท่องเที่ยวปี 2564

โดยเป้าหมายการท่องเที่ยวปี 2564 ททท.ได้วางไว้ว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาเที่ยวไทย 6.5 ล้านคน ลดลงจากก่อนหน้านี้ที่วางไว้ที่ 8-10 ล้านคน สร้างรายได้ 347,750 ล้านบาท และการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศอยู่ที่ 160 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ 870,400 ล้านบาท 

การปรับลดเป้าหมายในส่วนของตลาดต่างประเทศลง ททท.พิจารณาจากสภาพเศรษฐกิจโดยรวม รวมถึงจำนวนเที่ยวบินเช่าเหมาลำที่จะทำการบินเข้าไทย ตรวจสอบดีมานต์ของตลาดต่างประเทศ ข้อมูลความเป็นไปได้ของผู้เกี่ยวข้อง อาทิ บริษัทนำเที่ยวรายใหญ่ และการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของประเทศต้นทางและในประเทศไทย 

“จากการประเมินไตรมาส4 ปีนี้ ยังไงนักท่องเที่ยวต่างชาติน่าจะเริ่มเดินทางมาท่องเที่ยวในไทยอยู่แล้ว แต่จะพยายามอยากให้เข้ามาเร็วกว่านั้น ททท.จะคิ๊กออฟการขายสำหรับตลาดต่างประเทศในเดือนเมษายนนี้ เพื่อดึงนักท่องเที่ยวให้ทยอยเข้ามาในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้ เราคาดหวังว่าในช่วงไตรมาส 3 ในปี 62 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยอยู่ที่เดือนละราว 5 แสนคน ถ้าไตรมาส 3 ปีนี้เอาเข้ามาได้สัก 1% ก็ยังดี”

นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาเที่ยวไทยมากน้อยแค่ไหน ปัจจัยสำคัญคือมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ของประเทศต่างๆ รวมถึงอุตสาหกรรมการบินของโลกและรัฐบาลของประเทศต่างๆรวมถึงประเทศไทยเอง ก็มีแผนจะผลักดัน วัคซีน พาสปอร์ต เพื่อสร้างความมั่นใจว่าคนที่ฉีดวัคซีนโควิด เดินทางท่องเที่ยว อีกปัจจัยคือการกักตัวในไทย 14 วัน ถ้ามีการผ่อนคลายระยะเวลาในการกักตัวลงก็จะช่วยให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวเข้ามาได้มากขึ้น

ยุทธศักดิ์ สุภสร

ในช่วงที่ผ่านมาไทยได้ทยอยเพิ่มรูปแบบการกักตัวนักท่องเที่ยวต่างชาติในหลายรูปแบบเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นจะเป็น Villa Quarantine, Golf Quarantine ,Yacht  Quarantine โดยจากสถิตินักท่องเที่ยวที่เข้าไทยและกักตัวในสถานประกอบการหลายรูปแบบดังกล่าว มีการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เริ่มต้นอยู่ที่1 พันกว่าคนในเดือนตุลาคม 2563 เพิ่มมาเป็น 6,500 คน แต่ก็ยังถือว่าน้อยมาก       

อีกทั้งกระทรวงการท่องเที่ยวอยู่ระหว่างการผลักดันคือ Area Quarantine (กักตัวในห้องพัก 3 วันแรก อีก11วันใช้บริการนอกห้องพักได้ แต่ต้องอยู่ภายในบริเวณโรงแรมเท่านั้น) 

การทำตลาดต่างประเทศในปีนี้จึงต้องปรับตามความเหมาะสมของสถานการณ์ของโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ดังนั้นในปีนี้ททท.จึงต้องเพิ่มน้ำหนักการทำตลาดภายในประเทศมากขึ้น ซึ่งเดิมททท.คาดการณ์ว่าในปี 64 การเดินทางเที่ยวในประเทศจะอยู่ที่ 100 ล้านคน/ครั้ง ซึ่งเป็นการเติบโตตามปกติอยู่แล้ว แต่ถ้าเรากระตุ้นให้เกิดการเดินทางเพิ่มขึ้นอีก 50-60 ล้านคน/ครั้ง โดยกระจายเป้าหมายไปตามรายภูมิภาค กระตุ้นให้เที่ยวเพิ่มขึ้นอีกภาคละ 10 ล้านคน/ครั้ง ก็น่าจะทำได้ เราจึงปรับเป้าหมายเที่ยวในประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 160 ล้านคน/ครั้ง

กลยุทธ์หลักที่จะใช้คือการมุ่งเน้นเพิ่มความถี่การเดินทางเที่ยวในประเทศเป็นสำคัญ ทั้งการดึงการเดินทางท่องเที่ยวในวันธรรมดา การอยู่ระหว่างการหารือที่จะจัดทำโครงการใหม่ๆ โดยใช้ประโยชน์จากการประกาศวันหยุดประจำภูมิภาคตามมติครม.ที่ในปีนี้ทั้ง 4 ภูมิภาค ที่จะจัดให้เกิดอีเว้นท์ลงไปในแต่ละภาค กระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวในช่วงดังกล่าว 

ได้แก่ภาคเหนือ วันที่ 26 มี.ค. 64 (ประเพณีไหว้พระธาตุ) ภาคอีสาน : วันที่ 10 พ.ค. 64 (ประเพณีงานบุญบั้งไฟ) ภาคใต้ : วันที่ 6 ต.ค. 64 (ประเพณีสารทเดือนสิบ) ภาคกลาง : วันที่ 21 ต.ค. 64 (เทศกาลออกพรรษา) 

รวมไปถึงกิจกรรมต่างๆที่เกี่ยวข้องอาหาร กิจกรรมเรื่องของประเพณีต่างๆเติมเข้าไป จากโครงการต่างๆที่รัฐบาลสนับสนุนให้เกิดการเที่ยวในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ซึ่งปัจจุบันจำนวนห้องพักที่เปิดให้จองเต็มแล้ว 6 ล้านสิทธิ์ แต่ก็ยังมีคนอีกกว่า 7-8 ล้านคนที่ยังใช้สิทธิ์ไม่ครบ

จึงอยู่ระหว่างหารือว่าจะขยายระยะเวลาโครงการ ที่เบื้องต้นคาดว่าจะขยายให้ไปจนถึงเดือนกรกฏาคมนี้ และขยายห้องพักเพิ่มอีก2ล้านห้อง

นอกจากนี้ยังมีความเป็นไปได้ที่จะลดเพดานห้องพักต่อห้องจากสูงสุด 7,500 บาทมาเป็น 2,700 บาท หลังพบว่าที่ผ่านมามีการใช้ห้องพักในราคาเฉลี่ยไม่เกิน 2,700 บาทเท่านั้น จะทำให้สามารถใช้งบประมาณไปเพิ่มให้กับจำนวนห้องพักมากขึ้น ต้องพิจารณาเรื่องของงบประมาณด้วยว่ายังเหลือเท่าไหร่

รวมไปถึงการปรับรูปแบบโครงการ “เที่ยวไทยวัยเก๋า” ที่จะสนับสนุนให้ผู้สูงวัยอายุ 55 ปีขึ้นไปเที่ยวในประเทศผ่านบริษัทนำเที่ยว โดยรัฐบาลจะสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้ 5,000 บาทต่อคน ปรับเป็นโครงการทัวร์เที่ยวไทย เปิดให้คนอายุ18ปีขึ้นไปเที่ยวผ่านบริษัททัวร์ รัฐสมทบ40%ไม่เกิน5พันบาทจากแพ็คเกคเกจขั้นต่ำ 12,500บาท จำกัด1ล้านคน

โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาพัฒน์ ซึ่งทางรมต.ท่องเที่ยวมองว่าวิธีการจ่ายแทนที่จะจ่ายตรงให้นักท่องเที่ยว ให้มาจ่ายตรงไปยังบริษัทนำเที่ยวจะควบคุมการใช้จ่ายได้จ่ายกว่า

อีกทั้งในการพัฒนาการท่องเที่ยวของททท.ก็ยังจะเดินอยู่ภายใต้ BCG Model ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ภายใต้แผนระยะยาว 6 ปี (2564-2569) ของรัฐบาล  โดยททท.จะเน้นพลิกฟื้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างสร้างสรรค์ นำการท่องเที่ยวไทยสู่การท่องเที่ยวมูลค่าสูง ยั่งยืน

ไม่ว่าจะเป็นการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาใช้ สร้างรายได้โดยรักษาสมดุลทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม เน้นกระจายการท่องเที่ยวเมืองรอง ปรับภาพลักษณ์และยกระดับแบรนด์ท่องเที่ยวไทย โดยจะขยายฐานตลาดที่มีกำลังซื้อสูง เช่น การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การท่องเที่ยวเชิงกีฬา การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เป็นต้น 

ที่มา : หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,659 วันที่ 7 - 10 มีนาคม พ.ศ. 2564

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: