รุกขยายสนามบินภูมิภาค 1.4 หมื่นล้าน จ่อผุด 7 สนามบินใหม่

13 พ.ย. 2563 | 01:38 น.

กรมท่าอากาศยาน ไม่หวั่นโควิด-19 เดินหน้าขยายสนามบินภูมิภาค ภายในงบผูกพันธ์ช่วง 3 ปี กว่า 1.4 หมื่นล้านบาท รองรับการบินฟื้นตัวปี66 พร้อมหารือสายการบินเร่งเปิดสนามบินเบตง ทั้งจ่อศึกษาความเป็นไปได้ขับเคลื่อน 7 สนามบินใหม่ กระตุ้นท่องเที่ยวเมืองรอง

        แม้โควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อปริมาณการใช้บริการสนามบินที่ลดลง แต่ในขณะนี้ กรมท่าอากาศยานหรือ ทย. ยังคงเดินหน้าขยายสนามบินภูมิภาค ตามแผนลงทุนต่อเนื่องช่วง 3 ปีนี้(ปี62-64) ภายใต้งบลงทุนราว 1.4 หมื่นล้านบาท  เพื่อรองรับการเดินทางที่จะกลับมาฟื้นตัวในปี66
        ทั้งนี้การพัฒนาสนามบินของทย.จะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 คือ การเตรียมเปิดให้บริการสนามบินใหม่  ซึ่งจะเป็นแห่งที่ 29 คือ “ท่าอากาศยานเบตง” คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในเดือนมกราคมปี2564 เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวเมืองรอง ซึ่งมีจุดขายเรื่องของทะเลหมอกอัยเวง ปลาน้ำจืดพวงชมพู ไก่เบตง ถ้ามีการเปิดสนามบินก็จะทำให้เกิดการท่องเที่ยวในพื้นนี้เพิ่มขึ้น  และช่วยเรื่องความมั่นคงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้

รุกขยายสนามบินภูมิภาค 1.4 หมื่นล้าน จ่อผุด 7 สนามบินใหม่
       ขณะนี้แม้อาคารที่พักผู้โดยสาร งานก่อสร้างรันเวย์ แท็กซี่เวย์ ลานจอด พร้อมระบบไฟฟ้าสนามบินดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ 100%  สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 8.64 แสนคน แต่ยังอยู่ระหว่างกับสายการบินที่จะทำการเปิดบินเข้าไป ซึ่งนกแอร์ แสดงความสนใจ แต่มีการตั้งเงื่อนไขเรื่องของการลดค่าแลนด์ดิ้ง-ปาร์กกิ้ง 65% และการขอให้ค้ำประกันจำนวนผู้โดยสาร ที่ก็ต้องอยู่ระหว่างการต่อรอง เพราะสายการบินเองก็หวั่นว่าจะขาดทุน
       กลุ่มที่ 2 คือ การขยายศักยภาพของสนามบินที่มีอยู่แล้ว เพื่อรองรับจำนวนผู้ใช้บริการที่เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนา ท่าอากาศยานนครศรีธรรมราช วงเงิน 1,458 ล้านบาท ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ รองรับผู้โดยสาร 4 ล้านคนต่อปี คาดแล้วเสร็จมีนาคมปี65
        ปัจจุบันตั้งแต่เดือนมกราคม-ตุลาคมปี63 สนามบินนครศรีธรรมราช มีจำนวนเที่ยวบินมากที่สุดในจำนวน 28 สนามบินของกรมท่าอากาศยาน โดยมีปริมาณเที่ยวบินไป-กลับ อยู่ที่ 11,506 เที่ยวบินมีผู้โดยสาร9.98 แสนคน ซึ่งมีการขยายตัวอย่างมากหลังโควิด-19 เนื่องจากมีประชาชนมาทำบุญที่วัดเจดีย์ หรือวัดไอ้ไข่ มีเที่ยวบินมากถึง 40 เที่ยวบินต่อวันก็ยังไม่พอต่อความต้องการ และยังเริ่มเห็นการเปิดบินในลักษณะข้ามภาคเพิ่มขึ้น อาทิ นครศรีธรรมราช-เชียงใหม่,นครศรีธรรมราช-ขอนแก่น
        การพัฒนา “ท่าอากาศยานขอนแก่น” วงเงิน 2 พันล้านบาท ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างอาคารโดยสารหลังใหม่ รองรับผู้โดยสาร 5 ล้านคนต่อปี คาดว่าแล้วเสร็จเดือนกุมภาพันธ์ปี64 การพัฒนา “ท่าอากาศยานตรัง” ที่อยู่ระหว่างก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ วงเงิน 1.07 พันล้านบาท คาดว่าแล้วเสร็จเดือนมีนาคมปี65 รองรับผู้โดยสารเพิ่มเป็น 3.4 ล้านคนต่อปี การเสริมความแข็งแกร่งทางวิ่ง ทางขับ วงเงิน 678 ล้านบาท  เพื่อรองรับเครื่องบินขนาดโบอิ้ง737 ได้จาก 4 ลำเป็น 14 ลำในเวลาเดียวกัน คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนมิถุนายนปี64 การขยายรันเวย์เป็น 2,990 เมตร และซื้อที่ดินอีก 19 แปลง ซึ่งโครงการนี้เพิ่งได้งบปี64
       การพัฒนา “ท่าอากาศยานสุราษฏร์ธานี” ที่จะมีการขยายอาคารที่พักผู้โดยสารขาออก การปรับปรุงอาคารที่พักผู้โดยสารภายในประเทศ รองรับผู้โดยสารจาก 2.3 ล้านคนเป็น 4 ล้านคนต่อปี  คาดแล้วเสร็จปลายปี65

 

        การพัฒนา “ท่าอากาศยานกระบี่” อยู่ระหว่างการก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังที่ 3 และปรับปรุงอาคารที่พักผู้โดยสารหลังที่1,2 วงเงิน 2.92 พันล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จเดือนมิถุนายนปี64 รองรับผู้โดยสารจาก 4 ล้านคนต่อปี เป็น 8 ล้านคนต่อปี

รุกขยายสนามบินภูมิภาค 1.4 หมื่นล้าน จ่อผุด 7 สนามบินใหม่

        การพัฒนา “ท่าอากาศแม่สอด” ที่มีการต่อเติมความยาวรันเวย์ เป็น 2,100 เมตร เพื่อรองรับเครื่องบินขนาดโบอิ้ง737 ให้ขึ้น-ลงได้ ใกล้ดำเนินการแล้วเสร็จ เพื่อรองรับการท่องเที่ยวต่างชาติฝั่งเมียวดี ซึ่งพบว่ามีคนจีนตั้งหลักแหล่งอยู่มากถึง 2-3 แสนคน

รุกขยายสนามบินภูมิภาค 1.4 หมื่นล้าน จ่อผุด 7 สนามบินใหม่
       การพัฒนา “ท่าอากาศยานลำปาง”  ที่จะขยายความยาวรันเวย์เป็ฯ 2,100 เมตร การก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ วงเงิน 1,820 ล้านบาท ที่จะขอใช้งบปี65  การพัฒนา “ท่าอากาศยานระนอง” ที่จะขยายรันเวย์ และก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ ช่วงปี63-70 รองรับผู้โดยสารเพิ่มเป็น 2 ล้านคนต่อปี  การพัฒนา “ท่าอากาศยานบุรีรัมย์” แผนการลงทุนระยะที่1 ปีงบประมาณ 63-66 วงเงิน 1,725 ล้านบาท  อาคารผู้โดยสารหลังใหม่ รองรับผู้โดยสารได้ 2.80 ล้านคนต่อปี เป็นต้น
          กลุ่มที่ 3  เป็นการศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุน 7 สนามบินใหม่  ใน 7 จังหวัด ได้แก่  ท่าอากาศยานมุกดาหาร บริเวณตำบลคำป่าหลาย ห่างจากอ.เมืองมุกดาหารราว 15 กิโลเมตร คาดใช้เงินลงทุน 4-5 พันล้านบาท ขณะนี้ศึกษาความเป็นไปได้แล้วเสร็จ อยู่ระหว่างเตรียมเสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณา ท่าอากาศยานนครปฐม ศึกษาความเหมาะสมเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(EIA) หากผ่านความเห็นชอบจะเสนอกระทรวงคมนาคมต่อไป

 

        ขณะที่อีกท่าอากาศยาน ที่จ.บึงกาฬ,จ.สตูล และจ.พัทลุง อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้าง ส่วนท่าอากาศยานที่จ.พะเยา และจ.กาฬสินธุ์ อยู่ระหว่างของบสนับสนุนปี64 เพื่อศึกษาความเหมาะสมของโครงการ

รุกขยายสนามบินภูมิภาค 1.4 หมื่นล้าน จ่อผุด 7 สนามบินใหม่
         “การขยายสนามบินภูมิภาค ทย. วางงบลงทุนไว้ที่ 3.6 หมื่นล้านบาท ช่วงปี58-67 และในช่วงปี62-63 มีการใช้งบลงทุนอยู่ที่ 1.4 หมื่นล้านบาท เพื่อรองรับการท่องเที่ยวหลังโควิดที่กว่าจะฟื้นตัวก็จะใช้เวลาอีก3-4 ปีข้างหน้า ซึ่งการที่ไทยได้รับการยอมรับว่าควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ติดอันดับโลก ก็น่าจะทำให้เราคาดหวังการฟื้นตัวได้เร็ว และการขยายหรือสร้างสนามบินภูมิภาค ก็จะช่วยเรื่องของการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองใน 53 จังหวัดอีกด้วย” นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวทิ้งท้าย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
เทียบฟอร์ม ‘สายการบินโลก’ งัดกลยุทธ์ดิ้นฝ่าวิกฤติโควิด-19
ไทย ติดอันดับ 2 เที่ยวบินมากสุดในอาเซียน "ไทยแอร์เอเชีย" แชมป์ในไทย