ส่งออกทูน่ารับอานิสงส์โควิด มั่นใจทำนิวไฮโต 7.7 หมื่นล้าน

31 ต.ค. 2563 | 03:33 น.

ทูน่าไทยอู้ฟู่คาดปี 63 ส่งออกทำนิวไฮโตพรวด 15% ฟันกว่า 7.7 หมื่นล้าน อานิสงส์โควิด ทั่วโลกแห่ตุนอาหารกระป๋อง 27 โรงงานลุยผลิตเต็ม 100% ชี้ตลาดสหรัฐฯโตมากสุด

การส่งออกไทยในสถานการณ์โควิดทั่วโลกที่ยังไม่นิ่ง มีหลายกลุ่มสินค้าได้รับผลกระทบส่งออกยังติดลบหนัก แต่ในวิกฤติก็เป็นโอกาสของอีกหลายสินค้าที่มีความต้องการเพิ่มขึ้น เฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มอาหารที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีพ ที่กลุ่มผลิตภัณฑ์ทูน่าของไทย (ทูน่ากระป๋อง ทูน่าเพาซ์ ทูน่าลอยด์) มีทิศทางการเติบโตต่อเนื่อง

 

นายชนินทร์ ชลิศราพงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การส่งออกผลิตภัณฑ์ทูน่าที่มีทูน่ากระป๋องเป็นสินค้าหลัก ช่วง 8 เดือนแรกปี 2563 มีมูลค่า 50,850 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 14% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในจำนวนนี้ส่งออกไปตลาดสหรัฐฯขยายตัวมากสุดกว่า 40%  ผลจากคู่แข่งขันคือฟิลิปปินส์ เอกวาดอร์ยังมีปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้คู่ค้าขาดความเชื่อมั่นเรื่องความปลอดภัยในสินค้าว่าจะมีการปนเปื้อนโควิดหรือไม่ ทำให้ไม่กล้าซื้อ ขณะสินค้าทูน่าของไทยภาครัฐและเอกชนได้ร่วมมือกันตรวจสอบขั้นตอนการผลิตในโรงงานอย่างเป็นรูปธรรม และมีใบรับรองปลอดเชื้อโควิด ทำให้คู่ค้าเชื่อมั่น หันนำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้น

 

ส่งออกทูน่ารับอานิสงส์โควิด มั่นใจทำนิวไฮโต 7.7 หมื่นล้าน

 

“เวลานี้ผลิตภัณฑ์ทูน่าที่สหรัฐฯนำเข้าสัดส่วน 80-90% ไปจากไทย จากเมื่อก่อนสัดส่วนอยู่ที่ 50-60% ส่วนตลาดอื่นๆ ที่ขยายตัวเช่น ละตินอเมริกา แอฟริกา ญี่ปุ่น อียู ที่ซื้อเข้าไปตุนเยอะจากโควิดทำให้การบริโภคอาหารนอกบ้านลดลง ภาพรวมการส่งออกทูน่าในไตรมาสแรกปีนี้สโลดาวน์ ติดลบ 3% ไตรมาสสองหลังโควิดระบาดบวก 20% และ 2 เดือนในไตรมาสที่ 3 บวก 10% ภาพรวมสิ้นปีนี้น่าจะโตได้ 15% (มูลค่ากว่า 7.7 หมื่นล้านบาท) ถือเป็นสถิติสูงสุดใหม่ (นิวไฮ) จากช่วงหลายปีที่ผ่านมาโตเฉลี่ยปีละ 2-3% สมาชิกของสมาคม 27 โรงงาน คิดเป็นสัดส่วน 95% ของการส่งออกโดยรวมประเทศใช้กำลังการผลิตกันเต็ม 100% ส่วนปี 2564 คาดการส่งออกยังขยายตัว แต่ในอัตราที่ลดลงคาดยังโตได้ 5-10% ”

 

นอกจากปีนี้ถือเป็นปีที่ดีของการส่งออกผลิตภัณฑ์ทูน่าสำหรับคนบริโภคแล้ว อาหารสัตว์เลี้ยงที่ทำจากปลาก็มีอัตราการขยายตัวที่ดี (การส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงที่ทำจากปลาช่วง 8 เดือนแรกปี 2563 มีมูลค่า 6,797 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 7% โดยตลาดที่ขยายตัวมากได้แก่ สหภาพยุโรป (อียู) สหรัฐฯ และตะวันออกกลาง รวมส่งออกผลิตภัณฑ์ทูน่าและอาหารสัตว์เลี้ยงที่ทำจากปลา 8 เดือนแรกปี 2563 มีมูลค่า 57,647 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13%) จากโควิดทำให้คนอยู่บ้านและมีเวลาอยู่กับสัตว์เลี้ยงมากขึ้น เวลานี้ผู้ประกอบการหลายบริษัทได้หันมาผลิต และขยายตลาดส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นไทยยูเนี่ยนกรุ๊ป ซีพี ซีแวลู เอเชี่ยนซีฟู้ด 

 

“ปัจจุบันไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงอันดับ 4 ของโลก (รองจากเยอรมนี, ฝรั่งเศส,สหรัฐฯ) คาดอีก 2-3 ปีไทยจะติด 1 ใน 3 อันดับแรก”

 

สอดคล้องกับ นายอมรพันธุ์  อร่ามวัฒนานนท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท ซี แวลู จำกัด (มหาชน) ที่กล่าวว่า คาดปีนี้บริษัทจะมียอดส่งออกทูน่าประมาณ 2.6 หมื่นล้านบาท มากกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 2.5 หมื่นล้านบาท จากอานิสงส์โควิดทำให้มีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเข้ามามากขึ้น ขณะเดียวกันทางกลุ่มได้ลงทุนกว่า 700 ล้านบาท ในโรงงานอาหารสัตว์ลี้ยง ขณะนี้ได้เริ่มผลิตแล้ว คาดหากผลิตได้เต็มกำลังผลิตจะช่วยเพิ่มยอดขายให้ทางกลุ่มได้อีกปีละ 3,000 ล้านบาท

 

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจหน้า 9 ฉบับที่ 3623 วันที่ 1-4 พฤศจิกายน 2563

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

ทูน่า-ยางพารา ออร์เดอร์พุ่ง อัญมณีสาหัส

‘ซีแวลู’เล็งเป้า 2.4 หมื่นล้าน ส่งออกทูน่าปัจจัยเสี่ยงยังอื้อ