รพ.ปรับแผน ชู‘เทเลเมดิซีน’ รับผู้ป่วยนอกลด

23 ส.ค. 2563 | 05:33 น.

รพ.เอกชน ปรับแผนชู “เทเลเมดิซีน” นำเทคโนโลยีบริการผู้ป่วย รับ New Normal หลังโควิด-19 ทำผู้ป่วยนอกลดฮวบ

นายแพทย์บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์ แคร์ กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) หรือ THG เปิดเผยว่า เพื่อรองรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปหลังวิกฤติโควิด-19 และการเข้ามาของโลกยุคดิจิตอล ทางกลุ่มมีนโยบายนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการแพทย์ใหม่ๆ เข้ามาให้บริการเพื่อเพิ่มศักยภาพและยกระดับโรงพยาบาลสู่ความเป็น Smart Hospital 

 

ทั้งนี้มองว่าโลกหลังโควิด-19เทรนด์การดูแลรักษาสุขภาพจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างถาวร ในอนาตตคนจะมาโรงพยาบาลน้อยลง คาดว่าการให้บริการผู้ป่วยนอก (OPD) จะลดลง 50% ในปี 2564 ยกตัวอย่างเช่น ปัจจุบันอาจจะมีผู้มาใช้บริการโรงพยาบาล 8 ครั้ง แต่ในอนาคตจะลดเหลือการมาโรงพยาบาล 4 ครั้งขณะที่อีก 4 ครั้งจะเป็นรูปแบบของการให้บริการผ่านเทเลเมดิซีน ซึ่งมองว่าจะเป็นเทรนด์ที่มาแรง ดังนั้นการโฟกัสไปยังยุทธศาสตร์การให้บริการเทเลเมดิซีน ผ่านการพัฒนา Digital Platform ต่างๆ คือสิ่งที่ทางกลุ่มมุ่งพัฒนา

บุญ วนาสิน
“เทรนด์ของโรงพยาบาลในอนาคตจะต้องพัฒนาสู่ Smart Hospital นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการแพทย์เข้ามาใช้ เช่น ระบบ AI เป็นต้น เพื่อยกระดับบริการให้ก้าวหน้าล้ำสมัยสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล ช่วยให้คนไข้ที่อยู่ห่างไกลสามารถได้รับคำปรึกษาและเข้าถึงการรักษาได้ทันเวลา”

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

THG โชว์รายได้Q1ที่ 1,940 ลบ.โต 3.6%มั่นใจโควิดคลายคนไข้ใช้บริการ

 

ด้านนายแพทย์วรัญญ์ เทียนส่ง ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ กล่าวว่า หลังจากที่ทางโรงพยาบาลได้เปิดให้คำปรึกษาและรักษาแบบ Telemedicine หรือ ระบบแพทย์ทางไกลผ่านออนไลน์ เป็นการให้คำปรึกษาเบื้องต้นและคัดกรองอาการจากแพทย์ให้บริการ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย สำหรับประชาชนทั่วไปที่ไม่สะดวกในการเดินทาง และต้องการขอรับคำปรึกษาที่บ้าน ในช่วงการระบาดของโควิด 19 ที่ผ่านมาและประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี

 

ทั้งนี้เพื่อเป็นการรองรับเทรนด์การรักษาผู้ป่วยที่เปลี่ยนแปลงไปทางโรงพยาบาลยังได้ขยายบริการผู้ป่วยให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น โดยไม่ต้องเข้ามารอคิวหรือใช้เวลาการรักษาในโรงพยาบาลนาน ทั้ง ไดร์ฟทรู เจาะเลือด ,รับยาผ่านช่องทางไดร์ฟทรู, เทเลเซล, บริการส่งยารักษา ฉีควัคซีน ให้แก่ผู้ป่วยถึงบ้าน โดยในอนาคตมีแผนจะขยายการบริการผู้ป่วยเพื่อรองรับพฤติกรรมการรักษาที่เปลี่ยนแปลงไปมากขึ้น

รพ.ปรับแผน ชู‘เทเลเมดิซีน’ รับผู้ป่วยนอกลด

“การเข้ามาของโควิด-19 ทุกโรงพยาบาลเอกชนจะต้องปรับตัวเป็นอย่างมาก เดิมทีทางโรงพยาบาลประเมินว่า แม้จะอยู่ในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 แต่หากเกิดการเจ็บป่วยขึ้น อย่างไรเสียผู้ป่วยก็ต้องมาโรงพยาบาลอยู่ดี แต่ทว่านั่นคือสิ่งที่ทางโรงพยาบาลประเมินผิด เนื่องจากในช่วงโควิด-19 ประชาชนไม่มารับการรักษาที่โรงพยาบาลเลย เพราะกลัวการระบาดของโรค ขณะที่มาตรการล็อกดาวน์ที่ประชาชนกักตัวอยู่บ้านก็ส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยที่จำเป็นต้องมาโรงพยาบาลลดลงเช่นกัน”

 

นายแพทย์ชัยรัตน์ ปัณฑุรอัมพร กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มโรงพยาบาลสมิติเวชและโรงพยาบาลบีเอ็นเอช กล่าวว่า การเข้ามาของ Health Tech ส่งผลต่อธุรกิจโรงพยาบาล ทำให้จำนวนผู้ป่วยนอกลดลง โอพีดีหายไป 30% เกิดขึ้นแน่นอนในอนาคต เนื่องจากเทคโนโลยีสามารถตอบโจทย์ความสะดวกสบายในการรักษาโดยไม่ต้องมาโรงพยาบาล ซึ่งทางเครือมีการปรับกลยุทธ์รับการดิสรัปชั่น โดยโรงพยาบาลใช้งบ 30% เพื่อพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีในการรับมือกับการดิสรัปตั้งแต่ 3-4 ปีที่ผ่านมาอย่างต่อเนื่อง


สำหรับโรงพยาบาลสมิติเวชมีการนำ “เทเลเมดิซีน” เข้ามาใช้ตอบโจทย์การรักษาในยุคใหม่ ซึ่งถือเป็นการนำมาใช้ทางการแพทย์เป็นเจ้าแรก ในการรองรับพฤติกรรมของผู้ป่วยและตอบโจทย์ความสะดวกสบายของเทคโนโลยี พร้อมกันนี้ยังมีการนำ robot และ Samitivej Engage Care, Samitivej Prompt เข้ามาใช้รองรับการรักษา โดยที่ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องมาโรงพยาบาล โดยทางโรงพยาบาลมีเวอร์ชวลฮอสพิทอล รองรับตลอด 24 ชั่วโมง นั่นคือโอกาสทางการแพทย์ และธุรกิจ ซึ่งแน่นอนว่าธุรกิจไม่ใช่เรื่องเลวร้าย หากแต่การเข้ามาของโควิดคือโจทย์ที่ดีในการแก้ไขและยกระดับการบริการ


“ยกตัวอย่างการรักษาเบื้องต้นที่ไม่จำเป็นต้องมาโรงพยาบาลคือในส่วนของ TYTOHOME ใช้งานคู่แอพพลิเคชั่น Samitivej Plus ในการวัดอุณภูมิ ตรวจสอบอาการเบื้องต้นจากนั้นจะรีพอร์ตไปยังแพทย์ที่รพ.และสามารถติดต่อสื่อสารกับคุณหมอผ่านจอที่โรงพยาบาลได้ พร้อมกับใช้อุปกรณ์ดังกล่าวเก็บข้อมูลคนไข้เพื่อส่งให้คุณหมอ โดยไม่ต้องเดินทางออกจากบ้าน”