มองต่างมุม “อียู” ท้วงสินเชื่อประมงไทย

31 ก.ค. 2563 | 08:20 น.

​​​​​​3 สมุทรเดือด “อียู” มึนรัฐไทย ทำไมต้องสนใจ ชี้สินเชื่อหมื่นล้าน ใครจ่ายเงินแบงก์ “มงคล” ปลุกลงถนนบุกทำเนียบ ขณะที่ “บรรจง” ซัด อาจจะโดนไปเหลืองซ้ำ หย่อนยานไอยูยู

กรมประมง ได้มีหนังสือด่วนที่สุด ถึงสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ในกรณีที่ ทางกระทรวงการต่างประเทศ ให้ความเห็นในเรื่องสินเชื่อประมงหมื่นล้าน ว่าดังนี้ “เพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินการนโยบายด้านการต่อต้านการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) ซึ่งเป็นหนึ่งในประเด็นความร่วมมือสำคัญระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป (อียู) การพิจารณาให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการประมงอาจพิจารณาตรวจสอบความเกี่ยวข้องกับการทำประมง IUU ของผู้ประกอบการที่ขอรับการสนับสนุนสินเชื่อรวมถึงเรือประมงในกรรมสิทธิ์

 

เพื่อให้มั่นใจว่าโครงการดังกล่าวจะส่งเสริมให้เกิดการทำประมงยั่งยืน รวมทั้งป้องกันไม่ให้เกิดการทำประมง IUU” ทั้งนี้จึงมีความจำเป็นต้องกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของผู้สมัครเข้าร่วมโครงการ เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามมติครม.และความเห็นของกระทรวงการต่างประเทศ

 

มงคล สุขเจริญคณา

 

นายมงคล สุขเจริญคณา นายกสมาคมสมุทรสงคราม และที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า รัฐบาลไม่เห็นใจถึงความเดือดร้อนของชาวประมง มีแต่จะซ้ำเติมให้ชาวประมงหมดไปจากประเทศไทย นึกอะไรไม่ออก ก็มาลงที่ชาวประมง ได้ทุกเรื่อง ถึงเวลาลุยกันแล้วหรือยัง  ทวงคืนอาชีพ หากไม่แก้กฎหมาย ก็ให้ชื้อเรือชาวประมงอย่างอื่นไม่ต้องพูดถึง ลองดูพร้อมกันก็เอาให้ถึงที่สุดเพราะมัวรอหรือตั้งรับประมงแย่แน่

 

ถึงเวลาแล้วที่จะรวมพลอาชีพประมงอีกครั้งหน้าทำเนียบรัฐบาลเป้าหมายเพราะดูแล้วไปทุกที่คำตอบคือยาดมยาลมยาหม่อง  ลองศึกษาการลงถนนในเรื่อง ต่างๆ กันให้ดี แล้วพบกันที่ทำเนียบรัฐบาลเลย ให้รู้แน่ชัดว่าประมงจะไปทางใหน มีสองทางเลือกตอนนี้ ลองคิดกันดู

 

นายมงคล กล่าวในตอนท้ายว่า ถ้าทุกเรื่องจะต้องไปรายงานให้กับสหภาพยุโรป (อียู) ก็ยกประเทศให้ไปเลย ซึ่งการบริหารภายในประเทศ เป็นหน้าที่ของรัฐไทย ไม่เกี่ยวกับอียู เลย

มงคล มงคลตรีลักษณ์

 

สอดคล้องกับนายมงคล มงคลตรีลักษณ์ นายกสมาคมการประมงสมุทรสาคร กล่าวว่า  ถึงแม้ว่าอียู จะท้วง แต่ไทยก็ต้องแสดงจุดยืนว่าเป็นอำนาจอธิปไตยของเรา ชาวประมงเดือดร้อน และตอนนี้เรือประมงของไทยถูกกฎหมาย 100% ทางกรมประมงก็ต้องออกมาชี้แจงและแสดงจุดยืน คือ 1.เงินกู้ เป็นเรื่องระหว่างของผู้ให้กู้กับผู้กู้  ชาวประมงเป็นคนชำระเงินต้น พร้อมดอกเบี้ย เพราะฉะนั้นการตั้งข้อสังเกตมีสิทธิ์ที่จะทำได้ แต่หน้าที่ของรัฐไทยจะต้องแสดงจุดยืนว่าจะเลือกใครประชาชนประเทศเราหรือ จะเลือกอียู จะดูแลใคร ซึ่งรัฐบาลและกรมประมง จะต้องมีความชัดเจน

 

“ใบเหลือง เวลาที่จะให้ก็มีข้ออ้าง ณ ตอนนี้ประเทศเราจะโฟกัสเรื่องอะไร จะเดินไปจุดไหน ต้องยอมรับว่าทุกประเทศมีเรื่องการตอบโต้ทางการค้ามีในรูปแบบแตกต่างกันไปเพื่อให้ประเทศนั้นๆ ได้เปรียบสุด ของไทยก็ต้องมองจุดนั้นว่าประเทศเรา หรือประชาชนจะอยู่รอด จะดูแลใครก่อนเป็นลำดับแรก ก็ต้องเลือก และเรื่องที่ฝากไปก่อนหน้านั้นเพื่อให้รัฐบาลแก้ไข ขอให้เร่งรัดโดยเร็วที่สุด อย่ามีอคติ หรือมองเป็นลบ จึงทำให้เรื่องต่างๆ ไม่มีความคืบหน้าใดใดเลยที่จะแก้ไขความเดือดร้อนของชาวประมง 22 จังหวัด”

 

พิชัย แซ่ซิ้ม


 

เช่นเดียวกับนายพิชัย แซ่ซิ้ม นายกสมาคมการประมงสมุทรปราการ และเลขาธิการสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย กล่าวว่า  ความจริงที่อียู ท้วงเรื่องการปล่อยสินเชื่อชาวประมง มีการกำหนดคุณสมบัติไว้แล้ว ในเรื่อง มาตรา39 ขอรับใบอนุญาตตามมาตรา32  มาตรา 35 และมาตรา36  ต้องไม่มี ลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้

(1) เป็นผู้เคยต้องคําพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทําความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ ในมาตรา114 ยังไม่ถึงห้าปีนับแต่วันที่มีคําพิพากษาถึงที่สุด

(2) เป็นผู้อยู่ระหว่างการถูกพักใช้ใบอนุญาตทําการประมง

(3) เป็นผู้ที่อธิบดีมีคําสั่งตามมาตรา๑๑๓(๑)หรือ(๕)และยังไม่พ้นสองปีนับแต่วันได้รับคําสั่ง (4) เป็นผู้ที่อธิบดีมีคําสั่งตามมาตรา 113 (2) และยังไม่พ้นระยะเวลาการสั่งห้าม

(5) เป็นผู้เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาตทําการประมงยังไม่พ้นห้าปีนับถึงวันยื่นคําขอรับใบอนุญาต (6) รัฐต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศแจ้งเป็นหนังสือว่าเป็นผู้อยู่ระหว่างถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตทําการประมง หรือถูกเพิกถอนใบอนุญาตทําการประมงโดยผู้มีอํานาจของรัฐหรือองค์การ ระหว่างประเทศนั้น

 

มองต่างมุม “อียู” ท้วงสินเชื่อประมงไทย

 

(7) เป็นผู้เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาตทําการประมงมาแล้วสองครั้งภายใน 5 ปี 

“ในส่วน 39(2) หากผู้รับใบอนุญาตมีเรือหลายลำโดนพักใบอนุญาประมงเพียงลำเดียวในช่วงที่ขอสินเชื่อก็จะขอสินเชื่อไม่ได้เลย เพราะ เข้าเงื่อนไข “ผู้ขอรับใบอนุญาต จะต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังนั้นเพื่อเป็นการช่วยเหลือด้านสินเชื่อควรพิจารณา ลำที่ไม่ได้ทำความผิด ให้สามารถขอสินเชื่อได้ เพื่อเปนเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพ”

 

นายพิชัย กล่าวอีกว่า เช่นเดียวกับ “ผู้ควบเรือ” หากกระทำความผิดและเรือลำดังกล่าวถูกพักใช้ใบอนุญาต ในระหว่างขอสินเชื่อ ส่วนผู้รับใบอุญาต อยู่บ้าน กลายเป็นเรือทุกลำขาดคุณสมบัติ อยากให้กรมประมงพิจารณาให้รอบคอบ เพราะเรื่องนี้ เป็นเรื่องขอสินเชื่อ ไม่ใช่ การขอรับใบอนุญาตประมงพาณิชย์ ดังนั้น เรือลำที่มิได้กระทำความผิด ซึ่งเป็นเจ้าของใบอนุญาตคนเดียวกัน  ควรจะขอสินเชื่อได้

 

บรรจง นะแส

 

ขณะที่นายบรรจง นะแส ที่ปรึกษาสมาคมรักษ์ทะเลไทย ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ว่า “อียู​เพิ่ง​เตือน​มาว่าประเทศไทย​กำ​ลัง​หย่อน​ยานในการแก้ไขประมงผิดกฎหมาย​(IUU)​ อาจจะ​ถูก​ให้​ใบเหลือง​อีก​ครั้ง....

 

คงจะจริง​ตามนั้น​ ถ้าดู​ตามประกาศ​ตามนี้จะพบว่าจะอนุญาต​ให้​นำเรือ​ที่ติดคดี​อยู่​มาค้ำประกัน​เงินกู้​ได้...

 

ท่านนายก​รัฐมนตรี​/ท่าน​รัฐมนตรี​เกษตร​ฯ/ท่าน​อธิบดี​กรมประมง​ทราบเรื่อง​นี้​ไหม​ครับ???

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

งานเข้า! "อียู" ท้วงสินเชื่อประมงหมื่นล้าน