สทท.จี้เร่งปล่อยซอฟต์โลนหมื่นล้าน  รอถึงเม.ย.เอสเอ็มอีสูญพันธ์     

04 มี.ค. 2563 | 02:25 น.

สภาท่องเที่ยวฯ จี้รัฐเร่งปล่อยซอฟต์โลน 1 หมื่นล้านบาทให้เร็วกว่าเดิม กุมขมับหลังสสว.-บสย.แจ้งอนุมัติได้เร็วสุดเม.ย.นี้ ชี้ธุรกิจฐานรากทนรอไม่ไหว ด้านภูเก็ต แจง บุ๊กกิ้งใหม่หายฮวบ มองผลกระทบซึมยาวไปจนถึงไฮซีซันหน้า ขณะที่พัทยา ซึ่งพอมีหวังจากตลาดอินเดีย ก็เจอลูกเลื่อนเป็นระลอก

นายชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(สทท.)เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่าในขณะนี้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวโดยเฉพาะธุรกิจในระดับเอสเอ็มอี กำลังยํ่าแย่เป็นอย่างมาก จากปัญหาการขาดสภาพคล่อง สทท.จึงร้องขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งพิจารณาการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยตํ่า (ซอฟต์โลน) โดยเร็ว

เพราะปัญหาในขณะนี้พบว่า แม้รัฐบาลจะไฟเขียวซอฟต์โลนให้แก่ผู้ประกอบการระดับเอสเอ็มอี ไม่ว่าจะเป็นวงเงินสินเชื่อ 5 พันล้านบาท ผ่านเอสเอ็มอีแบงก์ หรือแม้แต่การคํ้าประกันของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.) วงเงิน 5 พันล้านบาท แต่ในทางปฏิบัติสทท.ได้รับแจ้งว่าเร็วที่สุดในการปล่อยสินเชื่อได้น่าจะเป็นช่วงเดือนเมษายนนี้ ทั้งการค้ำประกันของบสย.ผู้ประกอบการต้องผ่านหลักเกณฑ์จากธนาคารมาก่อน ก็ทำให้ธุรกิจขนาดเล็กคงทนรอไม่ไหว

สทท.จี้เร่งปล่อยซอฟต์โลนหมื่นล้าน  รอถึงเม.ย.เอสเอ็มอีสูญพันธ์     

ชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร

ทั้งนี้ผู้ประกอบการรายใหญ่ จะสามารถเจรจากับสถาบันการเงินต่างๆได้โดยตรงและมีโอกาสที่จะได้รับการช่วยเหลือ และสามารถดูแลธุรกิจให้อยู่รอดได้พอสมควร ตรงกันข้ามกับธุรกิจเอสเอ็มอี ที่วันนี้ชักหน้าไม่ถึงหลัง รวมทั้งในหลายมาตรการที่สทท.เสนอก็ยังไม่ได้รับการตอบรับ เช่น การเสนอให้พักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย เป็นเวลา 1 ปี

สถาบันการเงินก็ผ่อนผันให้เฉพาะเงินต้น ซึ่งสำหรับธุรกิจเอสเอ็มอี ถ้ายังต้องจ่ายภาระดอกเบี้ยอยู่ โดยไม่มีสภาพคล่อง และต้องจ่ายค่าใช้จ่ายประจำที่มีอยู่ในแต่ละเดือน ธุรกิจก็คงจ่ายไม่ไหวอยู่ดี หรือแม้แต่ขอผ่อนผันการจ่ายเงินประกันสังคม ที่ก็ยังไม่ได้รับการตอบรับในเรื่องนี้แต่อย่างใด

การแพร่ระบาดของไวรัส ไม่เพียงทำให้เกิดการชะงักงันของนักท่องเที่ยวจากหลายประเทศ สถานการณ์ในไทยเองก็เกิดความหวั่นวิตกว่าการแพร่ระบาดจะเข้าสู่ระยะที่ 3 ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติก็จะไม่มาเที่ยวไทยมากขึ้น เพราะกลัวว่าจะติดเชื้อ สถานการณ์เช่นนี้จะยิ่งทำให้ธุรกิจและแรงงานในภาคท่องเที่ยวได้รับผลกระทบเพิ่มมากขึ้นนายชัยรัตน์ กล่าวทิ้งท้าย

สทท.จี้เร่งปล่อยซอฟต์โลนหมื่นล้าน  รอถึงเม.ย.เอสเอ็มอีสูญพันธ์     

นายก้องศักดิ์ คู่พงศกร นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) ภาคใต้ เปิดเผยว่าในช่วงที่ผ่านมาภูเก็ตมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ราว 50% เฉพาะพื้นที่ป่าตอง อยู่ที่ 70% เนื่องจากยังมีตลาดยุโรปเข้ามาเที่ยวอยู่และมีการจองไว้แล้วล่วงหน้า ส่วนยอดการจองใหม่จากนี้มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง โดยในเดือนมีนาคมคาดว่าอัตราเข้าพักจะอยู่ที่ 20-30% เดือนเมษายนก็คาดว่าจะตํ่ากว่า 10%

 เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มีการแพร่ในหลายภูมิภาค ประกอบกับวิตกว่าไทยจะเข้าสู่การแพร่ระบาดระยะที่ 3 ก็ทำให้หวั่นวิตกในการเดินทางมาท่องเที่ยว ซึ่งที่ผ่านมาธุรกิจท่องเที่ยวขนาดเล็กในภูเก็ตมีการปิดชั่วคราวไปแล้วบางแห่ง แต่หากผู้ประกอบการที่ยังเปิดอยู่ทนแบกรับภาระไม่ไหว ก็อาจจะปิดกิจการเพิ่มขึ้น และต้องลดการจ้างงานลง เพิ่มเติมจากส่วนใหญ่ที่ขอให้พนักงานลางานโดยไม่รับค่าจ้าง 7-14 วัน

เอกชนจึงอยากให้รัฐบาลออกมาตรการที่ช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยวได้จริงๆเพื่อประคองตัว และไม่ให้กระทบกับพนักงานมากกว่าที่เป็นอยู่ เพราะคาดว่าอย่างเร็วที่สุด หากปัญหาไวรัสคลี่คลายขึ้น ภูเก็ตก็น่าจะกลับมาขายได้อีกครั้งในไฮซีซันหน้าที่จะเริ่มในเดือนตุลาคมนี้

นายสรรเพชร ศุภบวรเสถียร อุปนายกสมาคมโรงแรมไทยภาคตะวันออก เผยว่าธุรกิจท่องเที่ยวในพัทยา ถ้าเป็นโรงแรมหรือธุรกิจต่างๆที่สร้างเพื่อรับตลาดจีนเป็นหลักเพียงตลาดเดียว ปัจจุบันอัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ราว 10% หลายธุรกิจที่ได้รับผลกระทบก็ปิดตัวชั่วคราว 2-3 เดือน อาทิ บริษัทนำเที่ยว เรือท่องเที่ยวที่รับกรุ๊ปจากเอเยนต์จีน

สทท.จี้เร่งปล่อยซอฟต์โลนหมื่นล้าน  รอถึงเม.ย.เอสเอ็มอีสูญพันธ์     

แต่สำหรับธุรกิจที่รองรับนักท่องเที่ยวจากหลายตลาดและคนไทย อัตราเข้าพักเฉลี่ยยังอยู่ที่ 60% แต่ก็มีแนวโน้มลดลงในเดือนมีนาคมนี้ เพราะตลาดยุโรป รัสเซีย ลดลง แม้แต่กรุ๊ปใหญ่ๆในตลาดอินเดีย ก็เลื่อนกรุ๊ปออกไปจากเดือนมีนาคมหรือเมษายนไปอยู่กันยายน และเชื่อว่าถ้าการแพร่ระบาดไวรัสยังไม่คลี่คลายก็คงจะเลื่อนไปอีก

หากยังเป็นเช่นนี้ผลกระทบจะรุนแรงมากในเดือนเมษายนนี้ เพราะวันนี้การที่โรงแรมส่วนใหญ่ยังเปิดให้บริการอยู่ เพราะยังมีบุ๊กกิ้งอยู่จากการจองมาแล้วล่วงหน้า หลายโรงแรมจึงให้พนักงานทำงาน 10-15 วันหยุด 2 สัปดาห์ แต่ถ้าบุ๊กกิ้งใหม่ไม่เข้า การลดคอสต์พนักงานก็เป็นสิ่งที่จะตามมา ส่วนธุรกิจที่เคยหยุดชั่วคราว 3 เดือนก็อาจจะหยุดยาวไปอีก

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,554 วันที่ 5-7 มีนาคม 2563