เป๊ปซี่ แถลงการณ์ ขึ้นราคา 2 บาท

23 ก.ค. 2562 | 06:46 น.

         “เป๊ปซี่” ออกแถลงการณ์ ปรับขึ้นราคาน้ำอัดลม 3 ขนาด  ย้ำเป็นไปตามกลยุทธ์การกำหนดราคาให้เหมาะสมกับกลไกตลาด

         หลังมีข่าวการปรับขึ้นราคาของค่ายน้ำอัดลมยักษ์ใหญ่ทั้งฝั่งของ โค้ก และ เป๊ปซี่ ที่เริ่มทยอยปรับราคาเครื่องดื่ม (เฉพาะแบบที่มีน้ำตาล) เฉลี่ยที่ 2-3 บาทต่อขวด ก่อนที่มาตรการภาษีน้ำหวานจะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 1 ตุลาคม 2562 นั้น

เป๊ปซี่ แถลงการณ์ ขึ้นราคา 2 บาท

         ล่าสุดบริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ  SPBT ได้ออกแถลงการณ์ถึงเรื่องดังกล่าวว่า บริษัทได้มีการปรับราคาสินค้าซึ่งเป็นไปตามกลยุทธ์การกำหนดราคาสินค้าของบริษัท โดยกลยุทธ์นี้จะรวมถึงการเปิดตัวสินค้าขนาดใหม่ และการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าให้เหมาะสมตามกลไกของตลาด โดยจะมีการติดตามภาวะตลาดและพิจารณาปัจจัยต่างๆ ในการกำหนดราคาและขนาดของสินค้า ในการปรับราคาสินค้าครั้งนี้ บริษัทได้ปรับราคาสินค้าบางรายการเพื่อให้สอดคล้องและเป็นไปตามกลยุทธ์การเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว โดยบริษัทยังคงยึดมั่นและมุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อรักษามาตรฐานคุณภาพ พร้อมสร้างสรรค์นวัตกรรมผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มที่เป็นทางเลือกเพื่อสุขภาพของผู้บริโภคอย่างต่อเนื่องตลอดไป

เป๊ปซี่ แถลงการณ์ ขึ้นราคา 2 บาท

        สำหรับสินค้าที่มีการปรับขึ้นราคาขายปลีกแนะนำในครั้งนี้ ประกอบด้วยเครื่องดื่มเป๊ปซี่  3 ขนาด ได้แก่ เครื่องดื่มเป๊ปซี่ ขนาด 345 มิลลิลิตร เป็นราคา 12 บาท ขนาด 430 มิลลิลิตร เป็นราคา 15 บาท และขนาด 640 มิลลิลิตร เป็นราคา 17 บาท  ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2562 เป็นต้นไป

เป๊ปซี่ แถลงการณ์ ขึ้นราคา 2 บาท         

             อย่างไรก็ดี กรมสรรพสามิตปรับอัตราการจัดเก็บเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลเกินเกณฑ์มาตรฐานสุขภาพ อาทิ น้ำอัดลม ชาเขียว กาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง นมเปรี้ยว นมถั่วเหลือง น้ำผลไม้โดยจัดเก็บภาษี 2 อัตรา ตามความเข้มข้นของน้ำตาลคือ ปริมาณน้ำตาลมากกว่า 6-10 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร จัดเก็บภาษีในอัตราที่ทำให้ราคาเพิ่มสูงขึ้นไม่น้อยกว่า 20%ของราคาขายปลีกและปริมาณน้ำตาลมากกว่า 10 มิลลิกรัมต่อ 100 มิลลิลิตร จัดเก็บภาษีในอัตราที่ทำให้ราคาเพิ่มสูงขึ้นไม่น้อยกว่า 25%ของราคาขายปลีก ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนลดการบริโภคเครื่องดื่มรสหวานลง เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วน ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจ ที่สร้างภาระให้ประเทศเสียค่าใช้จ่ายจากโรคเหล่านี้จำนวนมาก เพราะเครื่องดื่มในท้องตลาดเกือบทั้งหมด มีน้ำตาลมากกว่า 6 กรัมต่อมิลลิลิตร อีกทั้งยังช่วยเพิ่มรายได้เข้าประเทศได้มากกว่า 1 หมื่นล้านบาทต่อปี