'เอ็นไอเอ' ผนึกออสเตรเลีย! ปั้นเยาวชนสู่ "ไลฟ์สไตล์เทค"

24 ต.ค. 2561 | 12:58 น.
'เอ็นไอเอ' ติดเครื่องความร่วมมือนวัตกรรมร่วมกับออสเตรเลีย เดินหน้าปั้นไลฟ์สไตล์เทค หนุนเยาวชนสู่ธุรกิจสตาร์ทอัพ

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เปิดเผยว่า เพื่อส่งเสริมความก้าวหน้าทางด้านสตาร์ทอัพและนวัตกรรมไทยให้มีการเติบโตในระดับที่สูงขึ้น NIA จึงได้ดำเนินความร่วมมือกับ QUT Creative Enterprise Australia หรือ QUT CEA หน่วยงานส่งเสริมด้านนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์จากประเทศออสเตรเลีย โดยวัตถุประสงค์ของการร่วมมือกันในครั้งนี้ มีความมุ่งหวังในการร่วมกันผลักดันให้เกิดการจัดตั้งธุรกิจนวัตกรรมรูปแบบใหม่ ๆ พร้อมด้วยการส่งเสริมสตาร์ทอัพของทั้ง 2 ประเทศ ให้มีการเติบโตที่ดีขึ้นในระดับนานาชาติ รวมไปถึงการช่วยให้ผู้ประกอบการด้านนวัตกรรมและสตาร์ทอัพของไทยและออสเตรเลียได้มีโอกาสเข้าถึงตลาดของแต่ละประเทศได้ง่ายยิ่งขึ้น

 

[caption id="attachment_337367" align="aligncenter" width="503"] OLYMPUS DIGITAL CAMERA OLYMPUS DIGITAL CAMERA[/caption]

ภายหลังจากการประชุมร่วมกันระหว่าง NIA และ CEA พบว่า ทั้ง 2 หน่วยงาน มีโปรแกรมการส่งเสริมด้านนวัตกรรมที่น่าสนใจ และได้ข้อสรุปความร่วมมือที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ดังนี้

  1. การสนับสนุนสตาร์ทอัพไทยและออสเตรเลียให้มีความเข้าใจในบริบทการทำธุรกิจตลาด และความเป็นไปได้ในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ใน 2 ประเทศ โดย NIA จะช่วยอำนวยความสะดวกแก่สตาร์ทอัพและผู้ประกอบการด้านนวัตกรรมของออสเตรเลียให้เข้าถึงตลาดในประเทศไทยได้ง่ายขึ้น ด้วยการผลักดันการใช้สมาร์ทวีซ่า (Smart VISA) พร้อมช่วยให้เข้าถึงตลาดที่มีศักยภาพอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยการให้องค์ความรู้ ความเข้าใจ และการอาศัยโอกาสจากประเทศไทยในฐานะที่เป็นศูนย์กลาง ส่วนทางด้านออสเตรเลียก็จะให้การสนับสนุนด้านทรัพยากรมนุษย์ ที่จะมีการนำผู้เชี่ยวชาญ หรือ สตาร์ทอัพ ที่ประสบความสำเร็จในระดับโลก ให้ได้มีโอกาสเผยแพร่ความรู้เชิงเทคนิคและประสบการณ์แก่ผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพของไทย ซึ่งถือเป็นโอกาสที่สำคัญที่จะช่วยให้สตาร์ทอัพไทยได้เรียนรู้โมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่ ๆ ที่ต่างไปจากเดิม พร้อมช่วยพัฒนาทักษะด้านภาษา รวมทั้งความเป็นสากลให้เกิดขึ้นในธุรกิจ

  2. การสนับสนุนด้านระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่เอื้ออำนวยต่อการดำเนินธุรกิจสตาร์ทอัพ ทั้งในไทยและออสเตรเลีย ไม่ว่าจะเป็น Co–Working Space ห้องแล็ป หรือ สถาบันเพื่อการวิจัยและทดลองต่าง ๆ การสรรหาความร่วมมือจากหลาย ๆ ภาคส่วน เพื่อเติมเต็มการเติบโตของผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็น สถาบันการศึกษา สถาบันการเงิน ภาครัฐ ภาคเอกชน ฯลฯ นอกจากนี้ ยังจะมีการผลักดันให้เข้าถึงเงินทุนสนับสนุนธุรกิจนวัตกรรมและสตาร์ทอัพจากภาคธุรกิจเอกชน (Accelerator) เพื่อให้ผู้ประกอบการและผู้ที่สนใจจัดตั้งธุรกิจได้มีช่องทางทางการเงินที่กว้างและหลากหลายมากขึ้น

  3. การส่งเสริมธุรกิจ หรือ กิจกรรมเกี่ยวข้องกับด้านความคิดสร้างสรรค์ โดยเฉพาะเทคโนโลยีด้านไลฟ์สไตล์ (Lifestyle Tech) ทั้งธุรกิจสื่อบันเทิง ธุรกิจแฟชั่น เทคนิคการถ่ายภาพ ดนตรี ภาพยนตร์ โทรทัศน์ดิจิทัล เกมส์ รวมถึงการสร้างเนื้อหาคอนเทนท์เพื่อการค้า ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลา 10 ปี CEA ถือว่ามีความเชี่ยวชาญและสนับสนุนสตาร์ทอัพในด้านดังกล่าวมาแล้วไม่ต่ำกว่า 1,000 ราย ซึ่งหาก NIA ได้เกิดความร่วมมือกับ CEA ในระดับที่เข้มข้นขึ้น เชื่อว่าจะทำให้ธุรกิจด้านไลฟ์สไตล์หรืออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องของไทย มีการเติบโตในทิศทางที่ดีขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน

  4. การสนับสนุนโปรแกรมผลักดันเยาวชนให้เข้าสู่การเป็นผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมและสตาร์ทอัพ ซึ่งความร่วมมือนี้จะมุ่งเน้นกระบวนการการสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนในระดับมหาวิทยาลัยได้เห็นถึงความสำคัญ และการประสบความสำเร็จจากการเป็นผู้ประกอบการ หรือ การทำงานด้านนวัตกรรม โดย NIA จะผลักดันให้มหาวิทยาลัยในเครือข่าย ทั้ง 47 แห่งของไทย ได้รับการสนับสนุนจากโปรแกรมส่งเสริม ทั้งไทยและออสเตรเลียให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ความสามารถทางเทคโนโลยี (Tech Talent) การนำเอาเทคโนโลยี หรือ นวัตกรรมใหม่ ๆ จากออสเตรเลียเข้าสู่การเรียน การสอน และการปฎิบัติงานในมหาวิทยาลัย การส่งเสริมเยาวชนที่มีความสนใจในการจัดตั้งธุรกิจสตาร์ทอัพ ได้มีโอการเรียนรู้โมเดลที่มีความแปลกใหม่จากออสเตรเลีย รวมถึงการผลักดันกลุ่มเยาวชน ภายใต้โปรแกรม STEAM 4 Innovator, Founder Apprentice, Thailand Innovation Awards, NIA Academy และอื่น ๆ ของ NIA ให้เข้าถึงตลาดออสเตรเลียได้เช่นกัน


ดร.พันธุ์อาจ กล่าวทิ้งท้ายว่า ออสเตรเลียถือเป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมายที่สำคัญในการสร้างความร่วมมือในระดับนานาชาติของ NIA เนื่องจากประเทศดังกล่าวเป็นเมืองชั้นนำของโลกในด้านนวัตกรรมและสตาร์ทอัพ โดยเฉพาะในด้านการศึกษา ที่อยู่ในระดับท็อป 3 ของโลก อย่างไรก็ตาม หากในอนาคตไทยและออสเตรเลียมีความร่วมมือเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางและจริงจังมากขึ้น คาดว่าจะมีปัจจัยอื่น ๆ ที่สามารถเชื่อมโยงการสนับสนุนด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมได้อีก อาทิ การนำต้นแบบจากมหานครชั้นนำ สู่การพัฒนาย่านนวัตกรรมในไทย การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และงานวิจัย องค์ความรู้ในการเป็นผู้ประกอบการในระบบการศึกษา การพัฒนาธุรกิจบริการ การผลักดันเมืองที่สำคัญ ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค สู่การเป็น Startup Ecosystem ซึ่งมีตัวอย่างจาก ซิดนีย์และเมลเบิร์น ที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว

595959859