กยท.ส่ง‘กฤษฎีกา’ตีความไฟเขียวหนุนปลูกแทน-12ล้านไร่ลุ้นส้มหล่น

26 ต.ค. 2561 | 10:23 น.
สวนยางกว่า 12 ล้านไร่ลุ้น “บอร์ด กยท.” ส่งกฤษฎีกาตีความสวนยางกว่า 4 หมื่นไร่ ใช้สิทธิ์ขอเงินสนับสนุนปลูกแทนได้หรือไม่ ชี้หากได้อานิสงส์เด้งพื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิทั่วประเทศเฮเข้าร่วมโครงการทันที “สังข์เวิน” ตอกฝาโลงยํ้า ไม่สามารถให้เช่าช่วงได้

“ฐานเศรษฐกิจ” ยังคงเกาะติดความไม่ชอบมาพากลของบริษัท เซี่ยงไฮ้ไทยรับเบอร์โปรดักส์ จำกัด ที่จะมาขอเช่าพื้นที่ 30 ปี การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กว่า 2 หมื่นไร่ ลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ 5 แสนล้านบาท สร้างโรงงานเวชภัณฑ์ยา เครื่องสำอาง จัดตั้งสวนอุตสาหกรรมเกษตรและยางพาราภาคใต้ โรงงานแปรรูปสินค้าเกษตร และสร้างโรงไฟฟ้าขนาด 10 เมกะวัตต์ จำนวน 3 โรงงาน โดยใช้ยางพาราเป็นวัตถุดิบการผลิต พร้อมกับการขอเช่าโรงงานนํ้ายางข้นและโรงเลื่อยไม้ยางพารา จะรับซื้อราคานํ้ายางสูงกว่าราคาตลาด 20-30 บาทต่อกิโลกรัม  TP8-3412-A

แหล่งข่าวเกษตรกรชาวสวนยาง เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากการที่บอร์ดการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ที่มี พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข ประธานคณะกรรมการเป็นประธานในที่ประชุมได้มีมติส่งกฤษฎีกาตีความว่าปัจจุบันมีพื้นที่กว่า 4 หมื่นไร่ (ดูตารางประกอบ) ซึ่งเป็นพื้นที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ์ ซึ่งหากกฤษฎีกาอนุญาตให้ กยท. สามารถใช้เงินสนับสนุนมาตรา 49 วงเล็บ 2  ตามพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 เรื่องค่าใช้จ่ายในการส่งเสริม สนับสนุน และให้ความช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางเพื่อการปลูกแทนจะทำให้ชาวสวนยางกว่า 12 ล้านไร่จะได้รับอานิสงส์ด้วย  ยาง1

“ก่อนหน้านี้ที่จะมีการควบรวม 3 องค์กร ได้แก่ สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง(สกย.) องค์การสวนยาง (อ.ส.ย.) และสถาบันวิจัยยาง (สวย.)  นั้นทาง สกย.สนับสนุนทุกพื้นที่ไม่ได้กำหนดว่าจะต้องเป็นพื้นที่ที่มีหรือไม่มีเอกสารสิทธิ แต่พอมีกฎหมายออกมารัฐบาลโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีขอให้กำหนดการขึ้นทะเบียนและการสนับสนุนของหน่วยงานรัฐขอให้เป็นพื้นที่มีเอกสารสิทธิ์ถูกต้องเท่านั้น เพราะกลัวว่าจะมีคนบุกรุกป่าเพิ่มขึ้น ดังนั้นก็นับว่าเป็นข่าวดี เชื่อว่าทุกคนทราบข่าวคงจะตั้งตารอคอยผลออกมาว่าได้หรือไม่ในเรื่องการสนับสนุนปลูกแทน”

สอดคล้องกับนายสังข์เวิน ทวดห้อย กรรมการในคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) (บอร์ด)  กล่าวว่า ขณะนี้กำลังส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่าพื้นที่ กยท.เป็นพื้นที่เช่ากรมธนารักษ์และกรมป่าไม้ ไม่มีเอกสารสิทธิ์ หากจะใช้เงินสนับสนุนโค่นปลูกแทนได้หรือไม่ ส่งไปเรียบร้อยแล้วคาดว่าจะใช้ระยะเวลา 1 เดือน ปัจจุบันโรงงานนํ้ายางข้นและโรงงานนํ้ายางแท่ง ยังเป็นธุรกิจที่ทำให้ กยท.มีรายได้ ส่วนโรงเลื่อยใบอนุญาตก็เพิ่งได้มา ดังนั้นจึงเห็นว่าไม่มีความจำเป็นเลยที่จะต้องให้คนอื่นทำ  ยาง

“หากให้เช่าจริงชาวสวนยางทั้งประเทศคงไม่ยอมอาจจะโดนขับไล่อยู่ไม่ได้ มองว่าฝ่ายบริหารอาจจะแค่โยนหินถามทางเท่านั้นเพราะเป็นไปไม่ได้แน่นอนเนื่องจากที่ดินแห่งนี้ไม่ใช่เป็นโฉนดของ กยท. เพราะเป็นที่ดินของกรมธนารักษ์และกรมป่าไม้ ที่อนุญาตให้ กยท.มาทำประโยชน์บนที่ดิน หาก  กยท.ฝืนไปปล่อยให้คนอื่นเช่าต่อ ทางหน่วยงานนั้นอาจจะยึดแล้วมาปล่อยให้เช่าเองโดยตรงไม่ดีกว่าหรือ

“เรื่องนี้ยังไม่มีการเข้าบอร์ด แต่ในเบื้องต้นมีพูดคุยหารือกันนอกรอบระหว่างตัวแทนเกษตรกร 5 คนมีความคิดเห็นพ้องกันว่าไม่เห็นด้วย แล้วพิจารณามองว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะให้เช่าที่สวนยาง แม้ว่ารัฐมนตรีจะมาบีบให้เซ็นลงนามบันทึกความร่วมมือก็ไม่ได้เพราะถ้าใครเป็นคนอนุมัติก็จะเป็นการทำผิดกฎหมายทันที”

ด้านนายจิตติน วิเศษสมบัติ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) (สร.กยท.) กล่าวถึงศักยภาพของบริษัทที่จะมาเช่าพื้นที่ไม่เชื่อว่าจะมาลงทุนทำโน่นทำนี่อย่างที่กล่าวอ้างพร้อมกับผลประโยชน์ต่างตอบแทนที่ทำให้หลายคนฝันว่าจะเป็นจริง แต่สหภาพ ไม่เชื่อแล้วจะคัดค้านหัวชนฝาแล้วตอนนี้ยืนยันว่ายังไม่มีการลงนามใดๆทั้งสิ้นและเชื่อมั่นนายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ รักษาการผู้ว่าการ กยท.ว่าจะไม่ให้เช่าตามข่าวที่ออกไปอย่างแน่นอน

หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับ 3,412 วันที่ 25-27 ตุลาคม 2561 595959859