ยอดขายบังคับคดีพุ่งปี61เฉียด1.5แสนล้าน

23 ต.ค. 2561 | 06:31 น.
กรมบังคับคดีโชว์ผลงาน ปีงบ 61 ผลักดันทรัพย์ 1.47 แสนล้านบาท สูงสุดรอบ 8 ปี พบประมูลที่ดิน 60% ส่งผลเม็ดเงินเข้าระบบเพิ่ม แถมจัดการคดีค้างเกิน 10 ปี สำเร็จสูงกว่าเป้าหมาย 2.17% ครั้งแรกในรอบ 3 ปี หวังอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจประเทศเพิ่มขึ้น

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดี กรมบังคับคดี  เปิดเผยว่า ปีงบประมาณ 2561 กรมบังคับคดีสามารถผลักดันทรัพย์ได้ทั้งสิ้น 147,010.85 ล้านบาท สูงสุดในรอบ 8 ปี โดยแยกเป็นขายทอดตลาด 61,048 ล้านบาท งดการบังคับคดี 21,316 ล้านบาท และถอนการบังคับคดี 64,646 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 110,000 ล้านบาท และสูงกว่าปีงบประมาณ 2560 ถึง 13.92% โดยทรัพย์ที่มีการประมูลมากที่สุดคือ ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง 58.63% ที่ดินว่างเปล่า 35.65% และห้องชุด 5.72% ส่งผลให้มีเม็ดเงินกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจและประชาชนมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองเพิ่มมากขึ้น

[caption id="attachment_335655" align="aligncenter" width="503"] รื่นวดี รื่นวดี สุวรรณมงคล[/caption]

ขณะเดียวกันด้านการลดความเหลื่อมลํ้าทางสังคม สามารถไกล่เกลี่ยสำเร็จ 27,421 เรื่อง คิดเป็นทุนทรัพย์ 8,422.87 ล้านบาท คิดเป็น 88.95% ของเรื่องที่เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทชั้นบังคับคดี และสูงกว่าปีงบประมาณปี 2560 ถึง 21.87% และยังสามารถจัดการสำนวนคดีค้างดำเนินการเกิน 10 ปี เสร็จ 3,779 เรื่อง คิดเป็น 32.17% สูงกว่าเป้าหมาย 2.17% ซึ่งเป็นครั้งแรกที่สามารถดำเนินการได้ในรอบ 3 ปี

“การบูรณาการทำงานร่วมกันในส่วนกลางและเชื่อมโยงข้อมูลกับภาครัฐและเอกชน เราสามารถ ดำเนินการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 13 หน่วยงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานด้านการบังคับคดีให้มีความรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”

สำหรับการเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายการบังคับคดีแพ่ง ล้มละลายและกฎหมายเศรษฐกิจ การอบรมให้ความรู้กฎหมายที่จำเป็นทั้ง กู้ยืม คํ้าประกัน จำนำ จำนอง ขายฝาก และวางทรัพย์ รวมทั้งกฎหมายด้านการบังคับคดีและการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทให้กับกลุ่มเปราะบาง ไม่ว่าจะเป็น เกษตรกร ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และประชาชนทั่วประเทศกว่า 40,000 คน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันทางปัญญา และการอบรมเสริมสร้างวินัยทางการเงิน เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นหนี้ซํ้า

สำหรับแผนการดำเนินงานประจำปี 2562 จะมุ่งพัฒนาสู่ความเป็นเลิศใน 5 ด้านหลัก “LED 5 Excellence” คือ การบริหารจัดการคดีการพัฒนานวัตกรรมและระบบการทำงาน พัฒนานวัตกรรมและระบบการทำงาน เพิ่มศักยภาพบุคลากร ยกระดับองค์กร โดยมีเป้าหมายผลักดันทรัพย์สินทั้งปี 130,000 ล้านบาท

090861-1927-9-335x503-8-335x503-9

ส่วนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในชั้นบังคับคดี กรมบังคับคดียังร่วมดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ตามนโยบายรัฐบาล การไกล่เกลี่ยในชั้นบังคับคดีเป็นการลดปริมาณคดีที่เข้าสู่กระบวน การบังคับคดี เพิ่มโอกาสในการชำระหนี้ให้กับลูกหนี้ ก่อให้เกิดความสมานฉันท์สามัคคีในสังคม โดยใช้กลยุทธ์เชิงรุก เชิงลึก และครอบคลุม อย่างต่อเนื่อง

นางสาวรื่นวดีกล่าวว่า กรมได้พัฒนาระบบ e-Insolvency เพื่อใช้ในสำนวนบังคับคดีล้มละลาย พัฒนาระบบฐานข้อมูลกลางด้านบังคับคดีของหน่วยงานภายในและบูรณาการฐานข้อมูลกับหน่วยงานภายนอก พัฒนาระบบไกล่เกลี่ย เพื่อให้บริการประชาชนยื่นคำขอไกล่เกลี่ยผ่านทาง Mobile Application พัฒนาระบบการออกใบอนุญาต ตรวจสอบและกำกับดูแลผู้ทำแผน ผู้บริหารแผนทางอิเล็กทรอนิกส์ และเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการข้อมูลฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้โดยประชุมเจ้าหนี้ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์

“เรายังดำเนินการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอันดับความยาก-ง่ายในการประกอบ ธุรกิจ ซึ่งธนาคารโลกจะประกาศในปลายเดือนนี้ คาดว่า อันดับโดยรวมของประเทศน่าจะดีขึ้นจากปีก่อน”

หน้า 23-24 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ  ปีที่38 ฉบับที่ 3,411 วันที่ 21 - 24 ตุลาคม พ.ศ. 2561

595959859