เศรษฐกิจจีนปี62 อาจโตแค่ 6.0%

20 ต.ค. 2561 | 05:06 น.
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์ ปีที่ 24 ฉบับ 3767  ระบุว่าเศรษฐกิจจีนไตรมาส 3/2561 ถึงแม้จะได้รับอานิสงส์จากการเร่งส่งออกของผู้ผลิต ท่ามกลางข้อพิพาททางการค้าที่เริ่มมีสัญญาณรุนแรงขึ้น และการผ่อนคลายทางการเงินของทางการ ทว่ากลับขยายตัวชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ 6.5 YoY

รายงานผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติของจีนไตรมาส 3/2561 ที่เติบโตร้อยละ 6.5 YoY ชะลอตัวจากร้อยละ 6.7 YoY ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลมาจากการผลิตในภาคอุตสาหกรรม (Industrial production) ที่ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางประเด็นข้อพิพาททางการค้าที่มีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงมากขึ้น ทั้งนี้ ดัชนีการผลิตในภาคอุตสาหกรรมเดือน ก.ย. 2561 ขยายตัวเพียงร้อยละ 5.8 YoY ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวต่ำสุดในรอบกว่า 31 เดือน ส่งผลให้ในไตรมาสที่ 3/2561 ขยายตัวโดยเฉลี่ยที่ร้อยละ 6.0 YoY ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวได้เฉลี่ยร้อยละ 6.6 YoY ถึงแม้จะมีการเร่งการผลิตของภาคอุตสาหกรรมในช่วงก่อนที่จะมีการเก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ เพิ่มเติมมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์ฯ ในเดือน ก.ย. 2561 แล้วก็ตาม

นอกจากนี้ การบริโภคภาคครัวเรือนมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 2/2561 โดยเฉพาะยอดจำหน่ายรถยนต์ของจีนในเดือน ก.ย. 2561 ที่หดตัวกว่าร้อยละ 11.6 YoY ซึ่งนับว่าเป็นการหดตัวที่มากที่สุดนับตั้งแต่ ม.ค. 2555

อนึ่ง ผลของการเร่งการผลิตของภาคอุตสาหกรรมนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 2/2561 ช่วยประคองภาพรวมของการส่งออกในไตรมาสที่ 3/2561 ให้ยังคงขยายตัวร้อยละ 11.2 YoY ถึงแม้จะเคยเติบโตได้ร้อยละ 12.8 YoY ในช่วงครึ่งแรกของปี 2561 โดยเป็นผลมาจากการส่งออกจากจีนไปยังสหรัฐฯ ในไตรมาส 3/2561 ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น 12.9 YoY เทียบกับการขยายตัวในช่วง 6 เดือนแรกที่ขยายตัวร้อยละ 12.3 YoY ขณะที่มูลค่าการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ในเดือนกันยายนแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 4.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อันมีส่วนช่วยประคับประคองเศรษฐกิจจีนในไตรมาสที่ 3/2561 ให้ยังเติบโตได้ร้อยละ 6.5 YoY

มองไปในช่วงที่เหลือของปี 2561 การอัดฉีดสภาพคล่องของธนาคารกลางจีนผ่านมาตรการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มวงเงิน Medium-term Lending Facility และการปรับลดอัตราส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ถึงร้อยละ 1 ในช่วงกลางเดือน ต.ค. 2561 ที่ผ่านมา นอกจากจะเป็นการเตรียมความพร้อมให้แก่ภาคธุรกิจที่อาจได้รับผลกระทบจากข้อพิพาททางการค้าและเพื่อรักษาต้นทุนทางการเงินโดยรวมให้อยู่ในระดับต่ำแล้ว ยังส่งผลกระทบทางอ้อมต่อการอ่อนค่าของเงินหยวนให้เข้าสู่ระดับต่ำสุดในรอบปีอีกครั้ง อันช่วยเสริมสภาพคล่องในรูปของเงินหยวนให้แก่ภาคธุรกิจส่งออกอีกทางหนึ่ง

อย่างไรก็ดี การอัดฉีดสภาพคล่องในระบบการเงินจีนท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น ประกอบกับค่าเงินหยวนที่ใกล้แตะ 7 หยวนต่อดอลลาร์ฯ ซึ่งเป็นแนวรับทางจิตวิทยาที่สำคัญ และอยู่ในทิศทางที่อ่อนค่ามาโดยตลอดนับตั้งแต่ต้นไตรมาสที่ 2/2561 (อ่อนค่าแล้วกว่าร้อยละ 9.4) จะเป็นปัจจัยเร่งให้อัตรา     เงินเฟ้อของจีนขยับขึ้นได้อีกผ่านราคาสินค้านำเข้าที่เพิ่มขึ้น (Imported inflation) นั้น อาจทำให้การดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของทางการจีนในระยะข้างหน้ามีข้อจำกัดมากขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในไตรมาส 4/2561 อาจจะชะลอลงจากไตรมาส 3/2561 อันเป็นผลจากมาตรการกีดกันการค้าของสหรัฐฯ ที่เข้มข้นขึ้น รวมทั้งผลจากมุมมองภาคการผลิตที่ส่งสัญญาณไม่สดใสซึ่งสะท้อนผ่านดัชนี PMI ที่ชะลอลงต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ทางการจีนคงจะเพิ่มบทบาทในการสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจผ่านการลงทุนของภาครัฐที่อาจจำเป็นต้องเร่งขึ้นในระยะข้างหน้า ตลอดจนมาตรการในการสนับสนุนการบริโภคภายในประเทศซึ่งจะมีส่วนประคองทำให้เศรษฐกิจจีนในไตรมาสที่ 4/2561 เติบโตได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6.2 YoY  ดังนั้น การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในปีนี้น่าจะสามารถรักษาระดับการขยายตัวที่ร้อยละ 6.6 ไว้ได้ โดยได้อานิสงส์ช่วงครึ่งปีแรกที่เศรษฐกิจจีนขยายตัวได้ถึงร้อยละ 6.8 YoY

ประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดคงเป็นพัฒนาการของเศรษฐกิจจีนในปี 2562 ที่จะขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ที่อาจจะทวีความรุนแรงขึ้น ประกอบกับขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินของจีนที่มีข้อจำกัดมากขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าเศรษฐกิจจีนในปี 2562 จะคงอยู่ในทิศทางที่ชะลอลง โดยคาดว่าจะเติบโตได้ในกรอบร้อยละ 6.0-6.4 โดยหากข้อพิพาททางการค้ายังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ภายในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 มีโอกาสสูงที่เศรษฐกิจจีนจะเติบโตในระดับกรอบล่างของประมาณการ ผ่านการส่งออกที่คงชะลอตัวลงจากการซบเซาของเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ สภาพคล่องภายในประเทศที่ตึงตัวขึ้น คงจะทำให้ปัญหาหนี้ของภาคธุรกิจกลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง และจะนำไปสู่ความท้าทายเชิงนโยบายของทางการจีนต่อไปในอนาคต

 

aaa

แหล่งที่มาข้อมูล: สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน, CEIC