หอการค้าไทยลุยปั้นนักธุรกิจรุ่นใหม่! 'กลินท์' เร่งเครื่องบิ๊กบราเธอร์ 2 ดันสมาชิก 5 หมื่นราย สู่ยุค 4.0

23 ต.ค. 2561 | 02:31 น.
"กลินท์" โชว์ผลงานประธานหอการค้าไทย ผ่าน 1 ปีครึ่ง ดันสุดลิ่ม "บิ๊กบราเธอร์" ซีซัน 2 ดึงบิ๊กธุรกิจเป็นพี่เลี้ยงประกบติดเอสเอ็มอี 200 บริษัท สอนเชิงทำธุรกิจการค้ายุคใหม่ ชูรุ่นลูกหอการค้าทั่วประเทศ ช่วยดันสมาชิก 5 หมื่นราย สู่ยุค Trade & Service 4.0

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เผยในการให้สัมภาษณ์กับ "ฐานเศรษฐกิจ"
ถึงผลงานหลังรับตำแหน่งมาได้กว่า 1 ปี 6 เดือน ว่า พอใจระดับหนึ่ง ซึ่งแต่ละแผนงาน/โครงการ ส่วนใหญ่สานต่อจาก นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทยคนก่อน และอยู่ระหว่างเร่งดำเนินการให้เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น ทั้งแผนงานเพื่อลดความเหลื่อมลํ้า และแผนงานเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสมาชิกและของประเทศ

 

[caption id="attachment_335366" align="aligncenter" width="257"] กลินท์ สารสิน กลินท์ สารสิน[/caption]

สำหรับแผนงานที่อยู่ระหว่างดำเนินการที่สำคัญ ได้แก่ Big Brother (Season 2) เป็นการนำบริษัทขนาดใหญ่มาเป็นพี่เลี้ยงในการให้คำแนะนำบริษัทเอสเอ็มอีในการทำธุรกิจ เช่น ให้คำแนะนำการทำแผนธุรกิจ เพื่อขยายกิจการ การสร้างเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ การสร้างธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน เป็นต้น ซึ่งในซีซัน 2 นี้ มีบริษัทขนาดใหญ่ชั้นนำมาเป็นบริษัทพี่เลี้ยง (16 บริษัท) กลุ่มสนับสนุน (7 บริษัท) และกลุ่มสนับสนุน (สถาบันการเงิน 6 ราย/บริษัท) รวมทั้งสิ้น 29 บริษัท ขณะที่ มีบริษัทเอสเอ็มอีที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมกว่า 200 บริษัท

"บิ๊กบราเธอร์ หรือ บริษัทพี่เลี้ยงในซีซัน 2 นี้ (ส่วนใหญ่เป็นรายเดิม เช่น บุญรอด บริวเวอรี่, เอสซีจี, นํ้าตาลมิตรผล, ซีพีออลล์, กลุ่มเซ็นทรัล, ศรีไทยซุปเปอร์แวร์, โตโยต้ามอเตอร์, ศุภาลัย เป็นต้น) จะดูแลน้อง ๆ เอสเอ็มอีไป 1 ปีเต็ม จนประสบความสำเร็จ ใครอ่อนด้านไหนก็จะช่วยให้คำแนะนํา เช่น บางคนอ่อนด้านมาร์เก็ตติ้ง ด้านช่องทางการจัดจำหน่าย ด้านคุณภาพมาตรฐานสินค้า ก็จะช่วยให้คำแนะนำ"


บิ๊กบราเธอร์

ขณะเดียวกัน จากที่ได้มีแผนผลักดันสมาชิกหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยครึ่งหนึ่ง หรือ 5 หมื่นราย จากที่มีอยู่กว่า 1 แสนรายทั่วประเทศ ในการยกระดับความสามารถในการแข่งขันสู่ยุค Trade & Service 4.0 โดยแข่งขันด้วยนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ใน 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ เกษตรและอาหาร การค้า ท่องเที่ยวและบริการนั้น ที่ผ่านมาได้มีการปรับปรุงฐานข้อมูล (ดาต้าเบส) ของสมาชิกให้มีความเป็นปัจจุบัน ว่า ทำธุรกิจอะไร ใครเป็นผู้บริหาร และยังเชิญชวนให้สมาชิก 77 จังหวัดทั่วประเทศ เข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์มเดียวกัน มีไลน์กลุ่มที่มีการแลกเปลี่ยนความเห็นด้านต่าง ๆ รวมถึงการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมความคิดสร้างสรรค์เข้ามาช่วยในการขยายธุรกิจ ในภาพรวมสมาชิกมีความตื่นตัวมากขึ้น ซึ่งด้านหนึ่งได้อาศัยผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (YEC) ในแต่ละจังหวัดของหอการค้าไทยเข้ามาช่วยผลักดันในเรื่องนี้

นายกลินท์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาได้รวบรวมแผนงานของส่วนกลางและของหอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อผลักดันให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรม เช่น การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ผลไม้ไทย, 1 หอการค้าดูแลอย่างน้อย 1 แหล่งท่องเที่ยวชุมชน , 1 หอการค้า 1 สหกรณ์การเกษตร, ทัวร์ริมโขง, เรื่องท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ, หอการ ค้าแฟร์, ทำนา 1 ไร่ ได้เงิน 1 แสนบาท, การบริหารจัดการนํ้าเพื่อการเกษตรอย่างยั่งยืน, โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership School Project) ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ, โครงการทัวริซึม ดิจิตอล แพลตฟอร์ม โครงการลดขยะและลดการใช้พลาสติก เป็นต้น


banner

นอกจากนี้ ยังมีแผนจัดงานหอการค้าแฟร์ (TCC Fair) ในส่วนภูมิภาคเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ การจับจ่ายใช้สอยในส่วนภูมิภาค สร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการในท้องถิ่น ซึ่งล่าสุด ในการจัดงานหอการค้าแฟร์ที่ จ.เชียงใหม่ (28 ก.ย. - 7 ต.ค. 61) โดยนำสินค้าที่มีชื่อเสียงของดีทั่วไทยมาจัดแสดงและจำหน่ายให้กับประชาชนในพื้นที่ได้ผลตอบรับดีมาก โดยในการจัดงาน 10 วัน มีคนเข้าร่วมกว่า 1.6 แสนคน หลายบริษัทที่นำสินค้ามาร่วมงานมียอดขายหรือยอดจองเกินคาด เช่น ค่ายรถยนต์โตโยต้าตั้งเป้ายอดขายหรือยอดจอง 300 คัน แต่ทำได้จริงถึง 600 คัน ค่ายฮอนด้าไม่ได้ตั้งเป้า แต่ขายได้เกือบ 200 คัน เป็นต้น

"งานหอการค้าแฟร์มีไซซ์ S M และ L ซึ่งการจัดที่เชียงใหม่เป็นงานขนาดใหญ่ ครั้งต่อไปจะไปจัดที่ขอนแก่น และสงขลา และจะมีการจัดในจังหวัดต่าง ๆ ในไซซ์ที่แตกต่างกันตามความเหมาะสมของพื้นที่ เป้าหมายหลักเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในภูมิภาคให้หมุนเวียน"


หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับ 3,411 วันที่ 21-24 ตุลาคม 2561

595959859