จี้รัฐเพิ่มไฟจากขยะ บรรจุในพีดีพีพันMW

20 ต.ค. 2561 | 02:18 น.
 

เอกชนหนุน “กระทรวงพลังงาน” ปรับสัดส่วนผลิตไฟฟ้าจากขยะเพิ่มจากแผนเดิม 550 เมกะวัตต์ เป็น 1 พันเมกะวัตต์ภายในปี 2579 เผยศักยภาพขยะในประเทศเพียบถึง 9 หมื่นตัน ผลิตไฟฟ้าได้ 2 พันเมกะวัตต์

นายคณพศ นิจสิริภัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีสเทิร์น เอนเนอร์จี้ จำกัด เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ศักยภาพขยะในประเทศ สามารถผลิตไฟฟ้าได้มากถึง 1 พันเมกะวัตต์ หากเทียบกับแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าฉบับเดิม (พีดีพี 2015) ที่กำหนดสัดส่วนผลิตไฟฟ้าจากขยะไว้ที่ 550 เมกะวัตต์ ภายในปี 2579

โดยที่ผ่านมาได้มีโอกาสหารือกับนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เกี่ยวกับศักยภาพขยะในประเทศที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้มากกว่าแผนพีดีพี 2015 เท่าตัว เนื่องจากพบว่าปัจจุบันมีปริมาณรวมทั้งสิ้นประมาณ 9 หมื่นตันต่อวัน โดยคำนวณจากประชากรในประเทศประมาณ 80 ล้านคน ทำให้เกิดขยะ 1.14 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน และเมื่อรวมกับขยะเดิม ทำให้มีปริมาณขยะรวมอยู่ที่ 9 หมื่นตันต่อวัน

ขยะ

“รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานให้นโยบายว่า เรื่องการผลิตไฟฟ้าจากขยะนั้น ไม่จำเป็นใช้โควตาในแผนพีดีพี เพราะหากเอกชนมีความพร้อมก็สามารถผลิตได้ แต่จะต้องมีความชัดเจนเรื่องปริมาณขยะในพื้นที่จริง ซึ่งส่วนตัวได้เสนอไปว่าศักยภาพขยะที่มีปัจจุบันสามารถผลิตไฟฟ้าได้ถึง 2 พันเมกะวัตต์ในปี 2579 แต่เพื่อความแน่นอนควรอยู่ที่ 1 พันเมกะวัตต์ ซึ่งนับว่ายังมีสัดส่วนน้อยมาก เมื่อเทียบกับกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมทั้งประเทศที่ 3-4 หมื่นเมกะวัตต์” นายคณพศ กล่าว

นอกจากนี้ การผลักดันให้เกิดโรงไฟฟ้าขยะ ไม่อยากให้มองว่านโยบายส่งเสริมจากภาครัฐในรูปแบบ FiT จะเป็นภาระต่อค่าไฟฟ้า เนื่องจากยังไม่คำนวณการจำกัดขยะเข้ามาด้วย หากต้องการผลักดันให้โรงไฟฟ้าขยะเกิดขึ้น จะต้องมีมาตรการที่ยืดหยุ่นในการดำเนินงาน

ขยะ1

ขณะที่การชะลอนโยบายรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนของภาครัฐ มองว่านโยบายควรมีความชัดเจนและต่อเนื่อง เพราะโรงไฟฟ้าขยะไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำ และการเพิ่มขั้นตอน การทำประชาพิจารณ์รัศมี 1-5 กิโลเมตร ทำให้ผู้ประกอบการที่ไม่มีประสบการณ์เกิดขึ้นยาก

ดังนั้นผู้มีอำนาจกำหนดนโยบายจะต้องใช้หลักรัฐศาสตร์มาใช้ ขณะที่หลักนิติศาสตร์ก็ต้องอะลุ้มอล่วย จากนั้นค่อยเร่งรัดกฎหมายมากขึ้น เพราะหากกำหนดหลักการก่อน รายใหม่ๆจะเกิดขึ้นไม่ได้

หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,410  วันที่ 18 - 20 ตุลาคม 2561

595959859