เปิดเส้นทางเดินบิ๊กทุนจีน บุกไทยครองตลาดเหล็ก!

12 ต.ค. 2561 | 23:15 น.
อย่างที่กล่าวไว้ในคอลัมน์ “Let Me Think” เมื่อคราวก่อนถึงความยิ่งใหญ่ของบิ๊กทุนจีนรายหนี่ง เข้ามาปักฐานในไทยเพียงไม่กี่ปี ก็สามารถแซงหน้ากลุ่มทุนอินเดียอย่างบริษัท ทาทา สตีล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ "TSTH" ด้วยผลกำไรที่ดีกว่า

-ขาใหญ่ไม่ธรรมดา

รายงานชิ้นนี้จะเปิดเส้นทางเดินของบิ๊กทุนจีน ที่กำลังจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในกลุ่มเหล็กเส้น

เมื่อสืบสาวเส้นทางเดินในธุรกิจเหล็กเส้นในประเทศไทย พบว่าประวัติไม่ธรรมดา!

ภาพเหล็ก1

เริ่มตั้งแต่เจ้าของมีเชื้อสายจีนเข้ามาตั้งโรงงานอยู่ในประเทศไทยมาก่อนแล้ว2-3 ปีก่อนที่จะตัดสินใจตั้งโรงงานเอง  โดยจับมือกับทุนสัญชาติจีนด้วยกัน ตั้งโรงหลอมเศษเหล็กด้วยระบบ induction furnaceหรือIF ในพื้นที่ภาคตะวันตก  ขณะนั้นเริ่มต้นจากการผลิตเพื่อการส่งออก เพราะยังไม่สามารถผลิตเพื่อขายในประเทศได้ เนื่องจากผลิตเหล็กเส้นด้วยเตาIF ไม่เข้าข่ายผู้ผลิตตามมาตรฐานสมอ. ที่เดิมกำหนดไว้ว่าจะต้องผลิตจากเตาหลอมด้วยเตาชนิดอาร์คไฟฟ้า(Electric Arc Furnace)หรือ EAF เท่านั้น

-ปักหมุดท่ามกลางเสียงต้าน

จนเมื่อ5-6 ปีก่อน  ทุนรายนี้มองเห็นช่องทางสดใส ในการผลิตเหล็กเส้นในประเทศไทย เพื่อรองรับการขยายตัวจากงานโครงสร้างพื้นฐาน  จึงแยกตัวออกมาจากกลุ่มทุนสัญชาติเดียวกันแล้วประกาศตั้งโรงหลอมเศษเหล็กด้วยระบบ IF เป็นของตัวเอง ในพื้นที่ภาคตะวันออก มีเตาหลอมราว 8 เตาด้วยขนาดกำลังผลิตราว6แสนถึง1ล้านตันต่อปี

เพียงไม่กี่ปีสามารถครองตลาดเหล็กเส้นในประเทศได้ในในเวลาที่รวดเร็ว โดยใช้ยุทธศาสตร์ปักหมุดตั้งโรงงานใกล้แหล่งเศษเหล็กซึ่งเป็นวัตถุดิบต้นทางในขบวนการผลิตด้วยวิธีIF ในพื้นที่ภาคตะวัออกซึ่งเป็นศูนย์รวมของอุตสาหกรรมและใกล้ฐานลูกค้า โดยใช้เจ้าหน้าที่ขายที่เป็นคนจีนหรือคนไทยที่สามารถสื่อสารภาษาจีนได้ดี

ภาพเหล็ก3

บิ๊กทุนจีนรายนี้ถือกำเนิดขึ้นมาท่ามกลางเสียงต้านอย่างหนัก!  เนื่องจากมาตรฐานสมอ.เดิมถูกระบุไว้ชัดเจนว่า การผลิตเหล็กเส้นจะต้องมาจากบิลเล็ต(วัตถุดิบในการผลิตเหล็กเส้น)ที่ผลิตมาจากเตาหลอมด้วยเตาชนิดอาร์คไฟฟ้าหรือ EAFเท่านั้น   จนนำไปสู่การวิ่งล็อบบี้แก้ไขมาตรฐานดังกล่าวในเวลาต่อมา

สอดคล้องกับแหล่งข่าวในวงการเหล็กรายหนึ่ง  ฉายภาพให้เห็นว่า  บิ๊กทุนจีนรายนี้ถือเป็นกลุ่มนำร่องที่วิ่งล็อบบี้ให้กลุ่มผู้ผลิตเหล็กIFซึ่งมีผู้เล่นมากรายกว่า เมื่อเทียบกับกลุ่มผู้ผลิตเหล็กด้วยเตา EAF รวมตัวเรียกร้อง พร้อมวิ่งหาช่องทาง จนสามารถผลิตได้และได้มอก.เหล็กเส้นที่ผลิตจากเตาIF ด้วยข้ออ้างในขณะนั้นว่าไม่มีกฎหมายอะไรรองรับที่จะไม่ให้ตั้ง  อีกทั้งผู้ผลิตในประเทศส่วนใหญ่ก็มาจากลุ่มเตาIF ซึ่งมีจำนวนมากกว่า

ภาพเหล็กเส้น2

ผสมโรงกับการออกแรงวิ่งล็อบบี้ของบิ๊กกลุ่มทุนกลุ่มนี้รวมตัวกัน จนเป็นที่มาที่กลุ่มทุนจีนอีกหลายรายพากันตบเท้าเข้ามาตั้งโรงหลอมเศษเหล็กด้วยระบบด้วยระบบIFหลังจากรัฐบาลจีนประกาศยกธงขาวเลิกผลิตในประเทศตัวเองไปก่อนหน้านี้

ที่สำคัญเตาที่หลอมออกมาเป็นวัตถุดิบที่เรียกว่าบิลเล็ต (วัถุดิบสำหรับผลิตเหล็กเส้น)วงในบอกว่าวัตถุดิบที่เรียกว่าบิลเล็ตดังกล่าว สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมหรือสมอ.ไม่ได้ควบคุม  แต่สมอ.จะคุมเฉพาะตัวผลิตภัณฑ์ ที่เป็นไปตามมาตรฐานที่สมอ.กำหนด

-ที่แท้มี “แบ็กอัพ”ดี

คนวงในวงการเหล็กยังระบุด้วยว่า  บิ๊กทุนจีนรายนี้มี“แบ็กอัพ”ดี อีกด้วย เพราะแว่วว่าจ้างอดีตบิ๊กข้าราชการสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นที่ปรึกษาอยู่เบื้องหลัง จนทำให้เส้นทางเดินในธุรกิจเหล็กโรยไปด้วยกลีบกุหลาบ!!

ที่ผ่านมามีการจับตาถึงการปฎิบัติบางส่วนซี่งไม่เป็นธรรมกับกลุ่มทุนที่ยอมทุ่มงบจำนวนมาก เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็ก   อีกทั้งภาครัฐอยู่ในอาการทำตัวไม่ถูก  จึงโยนให้ผู้บริโภคเป็นผู้ตัดสินใจ ด้วยการวัดดวงเอาเองว่า จะเลือกซื้อเหล็กเส้นแบบไหน  จึงออกกฏกำหนดว่าเหล็กเส้นนั้นจะต้องปั๊มสัญลักษณ์ “IF”  กับ  “EF”เป็นรูปตัวนูนที่เนื้อเหล็ก เพื่อแยกว่าเหล็กเส้นมาจากเตาหลอมประเภทไหนระหว่างกรรมวิธีผลิตจากเตาIF กับเตาEAF เพื่อให้ผู้บริโภครับรู้และเลือกซื้อได้ตามต้องการ โดยมาตรฐานนี้เพิ่งมีผลบังคับใช้ไปเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

-วิ่งต่อขอ3สิ่ง

มาตรการบังคับให้ปั๊มสัญญลักษณ์ตัวนูนเพิ่งประกาศใช้ยังไม่ทันถึง6เดือน กลุ่มผลิตเหล็กด้วยเตาIF ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีผู้ผลิตจำนวนมากกว่าผลิตด้วยเตาEAF วิ่งหาสมอ.อีกครั้ง เพื่อขอ3สิ่งคือ 1.ขอไม่ปั๊มตัวนูนที่เนื้อเหล็ก 2.ขอกำหนดค่าโบรอนใหม่ 3.ขอกำหนดค่าแมงกานีสใหม่ โดย2ข้อหลังเกี่ยวข้องกับส่วนผสมทางเคมี

ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ล้วนมีกลุ่มทุนจีนร่วมด้วย และมีการคาดเดากันว่า  ผลสะท้อนกลับเริ่มปรากฏไม่กี่เดือนที่ผู้ผลิตเหล็กเส้นปั๊มรูปตัวนูนเพื่อแสดงตนว่าเป็นเหล็กที่ออกมาจากเตาประเภทไหน ทำให้ผู้บริโภครับรู้ว่าคุณภาพเหล็กแบบไหนคือเหล็กที่มีคุณภาพและมีความปลอดภัยกว่า  ขณะที่ผู้ผลิตเหล็กด้วยกรรมวิธีIF บางรายเริ่มส่งสัญญาณกระทบการขาย เมื่อผู้บริโภคเลือกใช้เหล็กเส้นที่มีคุณภาพมากขึ้น

ภาพเหล็ก4

สุดท้ายผู้บริโภคฝากตะโกนถามกลับถึงภาครัฐว่า  “ ตกลงนโยบายรัฐจะมุ่งส่งเสริมอุตสาหกรรมที่มีนวัตกรรม มีเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูงหรือกำลังเดินสวนทางนโยบายที่ประกาศไว้ และถึงเวลาแล้วยังที่จะเลิกปล่อยใบอนุญาตตั้งโรงงานในอุตสาหกรรมที่เข้าข่ายอาจเข้ามาสร้างปัญหามลพิษในประเทศ!

...............