ปฏิรูประบบรับทัวร์จีนพลิกวิกฤติเป็นโอกาส

19 ต.ค. 2561 | 11:14 น.
หลังเกิดเหตุเรือล่มที่จ.ภูเก็ต เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2561 ส่งผล กระทบต่อการชะลอตัวของนักท่องเที่ยวจีนในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ โดยในเดือนกรกฎาคม ลดลง 0.87% เดือนสิงหาคม ลดลง 11.77% และการลดลงต่อเนื่อง ย่อมส่งผลกระทบในภาพรวม เนื่องจากจีนเป็นตลาดที่มีสัดส่วนใหญ่ที่สุดเกือบ 30% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมดที่มาไทย

8 เดือนจีนยังโต16.51%

แต่ด้วยอานิสงส์การเติบโตในช่วงครึ่งปีแรกที่ทำแต้มมาดี ทำให้ในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา(มกราคม-สิงหาคม 2561) ไทยยังมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาเที่ยวแล้ว 7.72 ล้านคน เพิ่มขึ้น 16.51% หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ 6.63 ล้านคน สร้างรายได้ 4.23 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 22.17%

ปัจจัยท้าทายคือภาพรวมการท่องเที่ยวในช่วง 4 เดือนที่เหลือของปีนี้ เพราะการชะลอตัวของนักท่องเที่ยวจีน ไม่เพียงเกิดจากเหตุเรือล่ม ยังมีอีกสารพัดปัจจัยรุมเร้าอย่างกระแสข่าวปล่อยเรื่องไข้เลือดออก และล่าสุดกรณีนักท่องเที่ยวจีนถูกทำร้ายเกินกว่าเหตุที่สนามบินดอนเมือง แถมยังมีประเด็นโวยวายเรื่องถูกตม.เรียกสินบน 300 บาท

กรุ๊ปหายเอฟไอทีจีนไม่กระทบ

การชะลอตัวที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่จะเป็นนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมากับกรุ๊ปทัวร์ ขณะที่นักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเที่ยวเอง(เอฟไอที) ก็ยังคงเดินทางมาเที่ยวไทยอยู่ เห็นได้จากในช่วงวันชาติจีน (1-7 ตุลาคม 2561) หรือ Golden Week ซึ่งไทยยังคงถูกจัดอันดับจาก C-Trip (แอพพลิเคชันท่องเที่ยวของจีนที่มียอดการดาวน์โหลดมากกว่า 1 พันล้านครั้ง) ให้ไทยเป็นอันดับ 1 ที่คนจีนเดินทางไปท่องเที่ยวมากที่สุดในช่วงดังกล่าว โดยนิยมไปเที่ยวพัทยา, ภูเก็ต, เชียงใหม่ รองลงมาคือญี่ปุ่น

อีกทั้งจากสถิติของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ยังสรุปสถานการณ์การเดินทางมาเที่ยวไทยของคนจีนในช่วงโกลเดน วีก ว่ามีจำนวน 1.8 แสนคน เพิ่มขึ้น 2.77% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ 1.7 แสนคน สร้างรายได้ราว 1.02 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.82% หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

MP22-3409-A
เช่าเหมาลำจีนไฮซีซันนี้หด

นายอิทธิฤทธิ์ กิ่งเล็ก ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เผยว่า การชะลอตัวของนักท่องเที่ยวจีนไม่ได้กระทบธุรกิจท่องเที่ยวทั้งหมด แต่จะกระทบอย่างมากสำหรับธุรกิจที่รองรับนักท่องเที่ยวที่เป็นกรุ๊ปทัวร์จีน ซึ่งจะกระทบ 80-90%

ส่วนธุรกิจที่มีฐานนักท่องเที่ยวเป็นชาติอื่นหรือนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเที่ยวด้วยตัวเอง(เอฟไอที)ก็ยังถือว่าไม่ได้กระทบมาก เพราะจีนเอฟไอที ก็ยังคงเดินทางอยู่ โดยเป็นการเดินทางมาเที่ยวไทยผ่านการใช้บริการสายการบินปกติ แทนการใช้บริการเที่ยวบินเช่าเหมาลำที่มีการยกเลิกไปเป็นจำนวนมาก

สำหรับพื้นที่ที่ได้รับผล กระทบมากที่สุด คือ เมืองท่องเที่ยวในฝั่งอันดามัน ที่แนวโน้มกรุ๊ปทัวร์จีนยังลดลงต่อเนื่องแม้จะก้าวเข้าสู่ช่วงไฮซีซันปลายปีนี้แล้วก็ตาม โดยมีสัญญาณชัดเจนจากเที่ยวบินเช่าเหมาลำจากจีนที่เข้าจ.ภูเก็ต ที่มีการยกเลิกกว่า 20 เที่ยวบิน เที่ยวบินเข้าจ.กระบี่ที่ยกเลิกไปร่วมกว่า 10 เที่ยวบิน

ยกระดับเชฟตีท่องเที่ยว

แม้เอกชนจะสะท้อนผล กระทบต่อการชะลอตัวของกรุ๊ปทัวร์จีนที่เกิดขึ้น แต่ในมุมของภาครัฐต่างมองว่า ที่ผ่านมาไทยมีข้อจำกัดทั้งเรื่องของบุคลากร และศักยภาพของแหล่งท่องเที่ยว ที่ไม่สามารถรับมือกับการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดของนักท่องเที่ยวจีนได้ ทั้งที่ผ่านมาคงปฏิเสธไม่ได้ว่าระบบการนำนักท่องเที่ยวกรุ๊ปทัวร์จีนมาเที่ยวไทย จริงๆแล้วมีการส่งต่อมาจาก 4 บริษัทโฮลเซลรายใหญ่ในจีน ผู้ประกอบการทัวร์คนไทยไม่ได้ทำเอง เพียงแต่รับงานต่อมา

แล้วไหนจะปัญหาเรื่องนอมินีทัวร์จีนอีกต่างหาก นอกจากนี้ปัจจุบันยังพบว่าพฤติกรรมการเดินทางของนักท่องเที่ยวจีนได้เปลี่ยนแปลงไปสู่การจัดการเดินทางด้วยตนเอง (เอฟไอที) 70% และกรุ๊ปทัวร์อยู่ที่ 30% แล้ว ซึ่งจะมีผลต่อการกระจายการเดินทางสู่เมืองต่างๆ มากขึ้น

เฉกเช่นเดียวกับการทำตลาดของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่เน้นกระตุ้นตลาดคุณภาพอย่างชัดเจน ทั้งการทำงานร่วมกับ C-Trip รวมถึงอาลีบาบาจัดทำ Thailand Tourism Platform หนุนนักท่องเที่ยวจีนเที่ยวเมืองรอง

ดังนั้นทำให้ที่ผ่านมาแม้เอกชนจะออกมาเรียกร้องนโยบายฟรีค่าธรรมเนียมวีซ่า อยู่หลายระลอก แต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนองแน่นอน จนท้ายสุดบอกถ้าไม่ได้ก็ขอเป็น Double entry visa ที่ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปจากกระทรวงการต่างประเทศ

อีกทั้งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ยังส่งสัญญาณชัดเจนว่า จะคงให้ความสำคัญต่อนักท่องเที่ยวจีนโดยจะไม่ใช้มาตรการด้านราคา เช่น การยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่า ซึ่งไม่มีความเหมาะสมต่อสถานการณ์ในปัจจุบัน แต่จะให้ความสำคัญต่อการสร้างความมั่นใจในด้านความปลอดภัย และการอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว

จี้ปฏิรูประบบรับทัวริสต์จีน

นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า การลดลงของปริมาณ นักท่องเที่ยวจีนนั้นคงมีบ้าง การกระตุ้นกรุ๊ปเหมาลำคงจุดติดได้ไม่เร็วนัก แต่นั่นเป็นก็เป็นเพียงเรื่องการตลาด แต่ที่น่าเหนื่อยที่สุด ดูจะเป็นความจำกัดของฝ่ายหน่วยงานแต่ละหน่วยของไทย ทุกหน่วยพยายามรับมือกับกองทัพนักท่องเที่ยวจีนด้วยวิธีปกติ หรือวิธีเพิ่มกว่าปกติเพียงเล็กน้อย แต่นักท่องเที่ยวจีนที่เพิ่มอย่างก้าวกระโดดปีละเฉลี่ย 20% ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา วันนี้เราคงใช้การปรับปรุงเล็กๆ น้อยๆ ไม่พอรับมือแน่ๆ

วันนี้เรามีนักท่องเที่ยว 35 ล้านคนในปีที่แล้ว เมื่อดูจะเป็นฐาน ก็จะเห็นว่าวันนี้ก็คงไม่หดไปกว่านี้ ส่วนการเพิ่มขึ้นก็แล้วแต่ตลาด วันนี้ตลาดจีนได้รับการสื่อสารจากรัฐบาลจีนเข้มชัดขึ้น มีผลในทางบวกทำให้เราได้นักท่องเที่ยวมีคุณภาพขึ้น

ถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ต้องมาดูตัวเองว่ามีความพร้อมแค่ไหนที่จะรองรับนักท่องเที่ยวจีน 10 ล้านคนที่จะเข้ามาหรือถ้าจะเกินกว่านี้ ต้องทำอย่างไร โดยสาระสำคัญของการหารือในวันที่ 18 ตุลาคมนี้ คือการประชุมเชิงปฏิบัติการด้านความปลอดภัยครั้งใหญ่ของประเทศ ร่วมทำยุทธศาสตร์และมาตรการปฏิรูประบบที่ต่างจะถือฐานข้อมูลมานั่งเปิดใจ วิเคราะห์เฉพาะตลาดจีน เพื่อปฏิรูประบบในการดูแลนักท่องเที่ยวจีนให้เหมาะกับศักยภาพที่เรามี

“ผมได้รับโจทย์จาก นาย ลั่วซู่กัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวของจีน ที่แจ้งว่าในปี 2561 มีนักท่องเที่ยวจีนเสียชีวิตที่ไทย 77 คน ส่วนใหญ่จะคิดเป็น 30% ของการเสียชีวิตของนักท่องเที่ยวจีนในต่างประเทศ นอกจากนี้ยังได้เปรียบเทียบมาตรการด้านความปลอดภัยไทยกับญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตลาดท่องเที่ยวอันดับ 2 ของจีนที่พยายามจะแข่งกับไทย และคาดหวังว่าไทยจะดำเนินมาตรการ 3 ด้าน ได้แก่ 1. เพิ่มความปลอดภัยทางนํ้า 2. เพิ่มความปลอดภัยด้านการคมนาคมขนส่งทางถนน และ 3. จัดการกับพฤติกรรมและกิจกรรมผิดกฎหมายในการท่องเที่ยว” นายวีระศักดิ์ กล่าว

 

รายงาน โดย ธนวรรณ วินัยเสถียร

หน้า 22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่38 ฉบับ 3409 ระหว่างวันที่ 14 - 17 ตุลาคม 2561

595959859