เปิดมุมมองผู้ว่ากนอ.ป้ายแดง

10 ต.ค. 2561 | 12:50 น.
เปิดมุมมองผู้ว่ากนอ.ป้ายแดง 55นิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศยังเหลือพื้นที่พร้อมพัฒนารองรับการลงทุนใหม่กว่า2หมื่นไร่ พร้อมประกาศแผนปี62 ปีแห่งการปรับองค์กรให้สอดรับกับโลกดิจิตอลการอนุมัติต่างๆสามารถผ่านทางมือถือได้

นางสาวสมจิณณ์  พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.)เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่าวันที่12 ตุลาคมนี้จะแถลงข่าวภาพรวมผลดำเนินงานของกนอ.ในปี2561และจะเป็นการเปิดตัวต่อสื่อมวลชนอย่างเป็นทางการหลังจากที่ได้รับตำแหน่งผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่27กันยายนที่ผ่านมา โดยเบื้องต้นการดำเนินงานของกนอ.จะเป็นไปตามกรอบนโยบายของรัฐบาลที่ให้การทำงานสอดรับกับทิศทางนโยบายหลักโดยเฉพาะการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี ในด้านต่างๆ

สมจิณณ์1

รวมถึงการบริหารนิคมอุตสาหกรรมที่มีทั้งสิ้น55 แห่ง ทั่วประเทศ  แบ่งเป็นนิคมอุตสาหกรรม เขตอุตสาหกรรมและสวนอุตสาหกรรม  ในจำนวนนี้จะแบ่งเป็นพื้นที่ที่กนอ.บริหารจัดการเอง จำนวน13แห่ง  และอีกจำนวน42แห่งเป็นพื้นที่นิคม เขตและสวนอุตสาหกรรมร่วมกันระหว่างกนอ.และภาคเอกชนโดยภาคเอกชนเป็นผู้บริหารจัดการเอง

ทั้งนี้ความเคลื่อนไหวในช่วงที่ผ่านมานิคมอุตสาหกรรมที่กนอ.บริหารจัดการเองจะมีพื้นที่ขายและให้เช่ารวมทั้งสิ้น24,550 ไร่  ในจำนวนนี้ปัจจุบันยังเหลือพื้นที่พร้อมพัฒนาอยู่จำนวน3,329ไร่ ที่ยังไม่มีการขายหรือเช่า และส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมพิจิตร จ.พิจิตรและในนิคมอุตสาหกรรมยางพารา จ.สงขลาและในนิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว จ.สระแก้ว เป็นต้น

สำหรับพื้นที่ของนิคมอุตสาหกรรมร่วมกนอ.และเอกชน ขณะนี้โดยภาพรวมขายพื้นที่ไปแล้วจำนวน 63,609 ไร่ ยังเหลือพื้นที่อีกจำนวน16,982 ไร่ พร้อมพัฒนา เท่ากับว่าขณะนี้นิคม เขตและสวนอุตสาหกรรมทั่วประเทศทั้ง55แห่งยังเหลือพื้นที่พร้อมพัฒนาอีกจำนวนรวมทั้งสิ้น20,311 ไร่ทั่วประเทศ ที่สามารถรองรับการลงทุนใหม่ได้

สมจินณณ์2

นอกจากนี้ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยยังกล่าวถึงแผนงานปี2562ด้วยว่า  ภาพใหญ่ยังคงเดินหน้าล้อตามนโยบายหลักของรัฐบาล  และสิ่งที่อยากเห็นคือการเปลี่ยนแปลงขององค์กรเพื่อให้สอดรับกับสภาพแวดล้อมภายนอก เช่นการปรับตัวขององค์กรโดยนำเอางานด้านไอทีหรือการนำระบบดิจิตอลมาใช้  เพื่อให้เกิดความคล่องตัว รวดเร็ว  การอนุมัติต่างๆที่ผ่านทางกนอ.ต้องสามารถผ่านทางมือถือได้โดยที่ผู้ประกอบการไม่ต้องไปที่สาขาหรือที่สำนักงานใหญ่  รวมถึงการให้ความสำคัญในเรื่องการพัฒนาอย่างยั้งยืน  เพราะหลายส่วนต่อไปจะกลายเป็นข้อตกลงทางการค้า เป็นเรื่องการกีดกันทางการค้า  ผู้ประกอบการที่ตั้งกิจการอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมต้องปรับตัวโดยเฉพาะการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม  รวมถึงการใช้แรงงานที่ถูกต้องและมีคุณภาพ

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว