ดึงนกสกู๊ตร่วม‘ไทยกรุ๊ป’ นกแอร์เดินหน้าเปิดเช่าเหมาลำสู่จีน

18 ก.พ. 2561 | 03:20 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

นกแอร์ ประเดิมความร่วมมือไทยกรุ๊ป สยายปีกบิน ตรงแม่ฮ่องสอน รูตแรก โดยมีการบินไทยและไทยสมายล์ช่วยขาย ภายใต้กลยุทธ์ลดต้นทุน สร้างเน็ตเวิร์ก ทั้งเล็งดึงนกสกู๊ต เข้าร่วมแจม พร้อมเดินหน้าเปิดเช่าเหมาลำสู่จีน รับทัวริสต์แดนมังกรโตต่อเนื่อง

ในที่สุดยุทธศาสตร์ “ไทยกรุ๊ป” ที่การบินไทยเป็นแกนนำในการผนึกไทยสมายล์และนกแอร์ ในการร่วมกันขายตั๋ว ลดต้นทุน และสร้างเน็ตเวิร์ก เพื่อต่อสู้กับสายการบินต่างชาติที่เข้ามาร่วมแข่งขันธุรกิจการบินของไทย ก็เริ่มเห็นความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม กับการเปิดเส้นทางบินจากสนามบินดอนเมืองสู่แม่ฮ่องสอน ของนกแอร์ แทนสายการบินกานต์แอร์ ที่ยื่นเรื่องขอหยุดทำการบินชั่วคราวไป และหากเส้นทางบินนี้ประสบความสำเร็จ ก็มีแผนในลักษณะนี้ต่อไปในเส้นทางบินอื่นๆ

MP22-3340-1A ต่อเรื่องนี้นายปิยะ ยอดมณี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินนกแอร์ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การเปิดบินของนกแอร์ในเส้นทางบินแม่ฮ่องสอน ที่จะเริ่มในวันที่ 25 มีนาคมนี้ 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ด้วยเครื่องบินเอทีอาร์จะได้ 72 ที่นั่ง และเครื่องบินรุ่น Q400 จุได้ 86 ที่นั่ง ถือเป็นความร่วมมือภายใต้ยุทธศาสตร์ไทยกรุ๊ป ที่สร้างให้เห็นถึงความเป็นรูปธรรมได้จริง จากที่มีการพูดกันมานาน โดยเส้นทางนี้ปฏิบัติการบินโดยนกแอร์ เนื่องจากมีเครื่องบินที่มีความเหมาะสม ขณะที่การบินไทยและไทยสมายล์ ก็จะร่วมกันช่วยขายในเส้นทางนี้ ซึ่งทุกฝ่ายก็จะได้ประโยชน์ร่วมกันในแง่ของมีรายได้จากการขาย ภายใต้ต้นทุนที่ลดลง และผู้โดยสารก็จะมีทางเลือกที่รวดเร็วกว่าทางรถมาก

ทั้งนี้การเลือกบินในเส้นทางนี้ เป็นเพราะปัจจุบันเส้นทางบินตรงจากกรุงเทพฯไปแม่ฮ่องสอนยังไม่มีใครบิน มีเพียงเส้นทางเชียงใหม่-แม่ฮ่องสอนที่ บางกอกแอร์เวย์ส ทำการบินอยู่เท่านั้น และยังเป็นการสนับสนุนการท่องเที่ยวเมืองรอง ภายใต้นโยบายของรัฐบาลด้วย ซึ่งนกแอร์ คาดว่าจะขายตั๋วราคาเริ่มต้น 1,500 บาทต่อเที่ยวบิน และถ้าความร่วมมือไปได้ด้วยดี ก็จะมีความร่วมมือในลักษณะนี้ในเส้นทางบินอื่นๆ ต่อไป และนกแอร์ ก็มองที่จะผลักดันให้นกสกู๊ต ซึ่งนกแอร์ ถือหุ้นอยู่ 49% เข้ามาร่วมเป็นพันธมิตรไทยกรุ๊ปด้วย

นอกจากนี้นกแอร์ ยังคงเน้นขยายเที่ยวบินเช่าเหมาลำในเส้นทางบินระหว่างไทยและจีนเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ นายยอดชาย สุทธิธนกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินนกสกู๊ต กล่าวว่า ในปี 2561 นกสกู๊ตมีแผนรับเครื่องบินโบอิ้ง 777-200 อีกอย่างน้อย 1 ลำ เพื่อรองรับการเปิดเส้นทางบินใหม่แบบประจำ ไปยังประเทศญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ หลังจากได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งนกสกู๊ต คาดว่าจะเปิดให้บริการไปสู่นาริตะได้ภายในไตรมาสที่ 2 และมีแผนจะเปิดให้บริการเส้นทางโอซากา และอินชอน ในลำดับถัดไป ซึ่งหากการขยายเส้นทางไปสู่ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เป็นไปตามแผนที่วางไว้ คาดว่ารายได้รวมของนกสกู๊ต จะเติบโตขึ้นมากกว่า 80% แตะ 1 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะมีผู้โดยสารถึง 2 ล้านคนในปีนี้

นอกจากนี้นกสกู๊ตจะร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับนกแอร์ ที่ถือหุ้นนกสกู๊ตอยู่ 49% และยังเป็นสมาชิกของกลุ่มพันธมิตร Value Alliance ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของสายการบินราคาประหยัด 7 สายการบินในเอเชีย-แปซิฟิก

ความร่วมมือระหว่างนกสกู๊ตและนกแอร์ จะเริ่มขึ้นภายในเดือนมีนาคมนี้ ด้วยบริการส่งกระเป๋าจากต้นทางไปถึงจุดหมายปลายทางสุดท้าย (baggage check-through service)

อีกทั้งยังเปิดให้ผู้โดยสารสามารถสำรองที่นั่งในทุกเส้นทาง ที่ให้บริการโดยนกสกู๊ตและนกแอร์ ผ่านเว็บไซต์ของทั้ง 2 สายการบิน ทั้งนกสกู๊ต อยู่ระหว่างการศึกษาการทำเที่ยวบินร่วม (โค้ดแชร์) รวมถึงการเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่าย ร่วมกับสายการบินในกลุ่ม Value Alliance และเครือข่ายพันธมิตรในปีนี้
AW_Online-03
ทั้งนี้ภายหลังไทยปลดธงแดงจากองค์การการบินพล เรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ทำให้นกสกู๊ต สามารถเดินหน้าตามแผนการขยายเส้นทางตามที่วางแผนไว้ก่อนหน้านี้ได้ โดยได้เปิดเส้นทางใหม่กรุงเทพฯ-ซีอาน ในเดือนธันวาคม 2560 และเพิ่มความถี่ในเส้นทางบินสู่เมืองเทียนจิน ชิงเต่า และเสิ่นหยาง ประเทศจีน นอกจากนี้ได้เพิ่มเครื่องบินแบบโบอิ้ง 777-200 ลำที่ 4 เข้ามาในฝูงบินอีกด้วย

ประกอบกับนกสกู๊ต เพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานเครื่องบิน เฉลี่ยจากเดิม 9.4 ชั่วโมงต่อเครื่องต่อวัน ในปี 2559 เป็น 11.5 ชั่วโมงต่อเครื่องต่อวัน ในปี 2560 ส่งผลให้ในปี 2560 นกสกู๊ต มีรายได้เพิ่มขึ้น 44% จากปี 2559 เป็นประมาณ 5.6 พันล้านบาท มีจำนวนผู้โดยสารรวมทั้งปี 1.1 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 37% มีอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 87% จาก 79% ในปี 2559

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,340 วันที่ 15 - 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว