พระสาวกไม่มีสิทธิ์สอนสั่งชาวพุทธ

24 ม.ค. 2567 | 20:30 น.

พระสาวกไม่มีสิทธิ์สอนสั่งชาวพุทธ คอลัมน์ ทำมา ธรรมะ โดย ราชรามัญ

ในช่วงหลังๆ นี้ ได้ยินผู้คน มุ่งเน้นไปที่คำสอนของพระพุทธเจ้าเพียงพระองค์เดียว โดยให้ความเห็นว่า เป็นคำที่ตรง เป็นคำที่ใช่ ไม่ผิดเพี้ยน เป็นคำสอนที่ตรงตามพุทธประสงค์ ในการที่ก่อกำเนิดศาสนาพุทธขึ้นมาบนโลกใบนี้

นอกจากนี้เขายังอัตตาอธิบายว่าคำสอนตรงของพระพุทธเจ้า ที่เรียกกันว่าพุทธวจน เป็นคำตรงที่มาจากต้นเสาอโศก ที่พระเจ้าอโศกมหาราช ได้สั่งให้คนจารึกไว้ และมีการสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

เลยทำให้เกิดข้อสงสัย จากความเชื่อในเรื่องพุทธวจน ที่ว่าสืบทอดมาจากเสาอโศก เนื่องจากการจารึกที่เสาอโศกนั้นเป็นภาษาพราหมี หาใช่ภาษาบาลีไม่ ถ้าเป็นเช่นนี้ ภาษาบาลีของเมืองมคธ เป็นเพียงภาษาสื่อสาร ไม่ใช่ภาษาราชการ การที่นำความต่างๆ มาจากเสาอโศกที่เป็นภาษาพราหมีนั้น ต้องได้รับการแปลมาเป็นภาษาบาลีอีกชั้นหนึ่งถูกต้องหรือไม่

การถ่ายทอดจากภาษาหนึ่งมาเป็นอีกภาษาหนึ่ง ความผิดเพี้ยน ในความหมายในเจตนารมณ์ย่อมสามารถปรากฏขึ้นได้เสมอจริงหรือไม่ ไม่ต่างกันจากภาษาบาลีที่แปลความทั้งอรรถะและพยัญชนะมาเป็นภาษาไทยนั้น โอกาสที่จะผิดเพี้ยน ย่อมปรากฏขึ้นได้เช่นเดียวกัน

 

เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจะเอาสิ่งใดมาการันตี ว่าพุทธวจน เป็นของจริงแท้ไม่มีการผิดเพี้ยน แต่ประการใด แต่สิ่งหนึ่ง ที่ได้เห็นเป็นปฏิปทา หรืออาจจะเรียกว่าคำแนะนำให้กับชาวพุทธที่เป็นอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย ว่าไม่ควรไปฟังคำของหลวงปู่ หลวงพ่อ หรือพูดง่ายๆ ว่าพระสาวก เพราะไม่ใช่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า ประเด็นนี้ก็เลยเกิดการตั้งคำถามว่า

ในครั้งผู้จัดการเอง พระสาวกของพระพุทธเจ้า อย่างพระสารีบุตร ผู้มากด้วยปัญญา ก็ยังมีลูกศิษย์อยู่ในสำนักของท่านเองหลายรูปด้วยกัน หรือตลอดทั้งพระสาวกรูปอื่นๆ ที่มาจากต่างลัทธิแล้วเข้ามาบวช ก็ยังมีพระที่เป็นลูกศิษย์ของท่านอยู่ในสำนักท่านด้วย พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้ทรงห้ามว่าไม่ควรที่จะไปฟังคำสอนของพระเหล่านั้นเลย

ต้องไม่ลืมว่าพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงเป็นนักสิทธิมนุษยชนในรูปแบบหนึ่ง ส่งให้เกียรติ ส่งให้สิทธิ กับพระภิกษุเสมอ ดังนั้น เรื่องการที่จะไปห้ามไม่ให้ไปฟังคำสอนของสาวกนั้น พระพุทธเจ้าไม่เคยมีพุทธประสงค์เช่นนั้น เพราะถ้าเกิดมีการห้ามปราม ไม่ให้ไปฟังคำสอนของพระสาวก ถามว่าพระพุทธศาสนาจะสืบเนื่อง มาถึง 2,000 กว่าปีได้อย่างไร เพราะพระพุทธเจ้าอยู่มีพระชนม์ชีพอยู่แค่ 80 พรรษา

คำสอนที่มาถึงทุกวันนี้ได้ก็เพราะจากปากสู่ปาก จากรุ่นสู่รุ่น โดยมีพระสาวกนั่นแหละเป็นผู้ถ่ายทอดใช่หรือไม่ ดังนั้น การกล่าวตู่ว่าไม่ควรไปฟังคำสอนของพระสาวกไม่ควรไปฟังคำสอนของหลวงปู่หลวงตา จึงเป็นคำที่มิควรนำมาบอกกล่าว ต่ออุบาสกอุบาสิกาชาวพุทธ เพราะจะทำให้เกิดความไขว้เขว

 

อะไรทั้งปวงบนโลกใบนี้พระพุทธเจ้าทรงบอกไว้แล้วว่า อย่าสุดโต่ง ทุกอย่างให้ดำรงและดำเนินไปด้วยทางสายกลาง ซึ่งทางสายกลางของแต่ละบุคคล ทางสายกลางของแต่ละบริบทสังคม ทางสายกลางของแต่ละประเพณีวัฒนธรรม ย่อมมีความแตกต่างกัน จะยึดทางสายกลางของสังคมใดสังคมหนึ่ง ประเทศใดประเทศหนึ่งไปเป็นทางสายกลางของอีกหลายๆ ประเทศย่อมมิควรทำ

ทุกๆ คำจากพระสาวก ทุกๆ คำจากหลวงปู่หลวงพ่อหลวงตา แม้จะมีสำเนียงสำนวนที่แตกต่างกันออกไป แต่ถึงอย่างไรโดยนัยยะ ก็มีจุดประสงค์เชิงพฤติกรรม ที่จะให้อุบาสกอุบาสิกานั้นเข้าถึงธรรมอันยิ่งตามที่พระพุทธเจ้าสอน เพราะถ้าเราจะยึดในคำสอนที่เป็นเพียงแต่พุทธวจนอย่างเดียว เชื่อได้ว่าศาสนาพุทธในมหายาน แต่ละนิกายที่ใช้ภาษาสันสกฤต ก็อาจจะลุกขึ้นมาโต้แย้งว่า คำสอนของพระพุทธเจ้าหาใช่เป็นภาษาบาลีเพียงอย่างเดียว ยังมีทั้งภาษาสันสกฤต ยังมีทั้งภาษาพราหมี แล้วแบบนี้เราจะให้เหตุผลกับเขาอย่างไร

การมุ่งเน้นสอนคำสอนที่เป็นพุทธวจน เป็นสิ่งที่ดีเป็นสิ่งที่ประเสริฐ แต่ก็ใคร่อยากจะแนะนำ เพื่อให้เกิดความเข้าใจ โดยใช้รูปภาษาสั้นๆ ในการแนะนำก็คือ

"พุทธวจนคือธรรมะแท้ แต่ไม่ใช่ทั้งหมดของธรรมะ"

ที่เหลือก็ฝากให้ไปพิจารณา ด้วยหลักเหตุและผล ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ให้เข้าถึงอย่างถ่องแท้ แล้วจะมองเห็นว่า อันที่จริงแล้ว พระพุทธเจ้าไม่เคยตัดสิทธิ์พระสาวกในการพร่ำสอน อุบาสกอุบาสิกาชาวพุทธเลย ดังนั้นเราก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะไปกล่าวตู่ว่า ไม่ควรไปฟังคำสอนจากพระสาวกหลวงปู่หลวงตาหลวงพ่อ เพราะยิ่งพูดบาปย่อมติดอยู่ที่ปาก และเป็นวจีกรรมในเชิงอกุศลโดยไม่รู้ตัว