ยลตามช่องมองข้ามช็อต ฉากที่ 7

19 พ.ย. 2565 | 00:07 น.

ยลตามช่องมองข้ามช็อต ฉากที่ 7 : คอลัมน์เปิดมุกปลุกหมอง โดย...ดร.สุรวงศ์ วัฒนกูล หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3837 หน้า 6

 

หัวหน้าเป็นคนวัยเก๋า นั่งรถคันเดียวกับลูกน้องวัยหนุ่มซึ่งเป็นคนทะเล้น ระหว่างที่กำลังเดินเท้าเข้าไปดูพื้นที่รีสอร์ท หัวหน้าก็เล่าให้ลูกน้องฟังว่า “สมัยก่อนแถวนี้ไม่มีน้ำประปาใช้ ลุงผมท่านหาตาน้ำเจอก็ขุดบ่อลึกทั้งบ้านกินน้ำบ่ออย่างเดียวไม่เคยซื้อน้ำกิน” ลูกน้องปากไวแซวเอาฮาทันทีว่า “บ่อลึกเยอะมาก คนที่กินน้ำบ่อคอจะต้องยาวแบบยีราฟเลยนะ!”  


นับตั้งแต่เพลานั้น ท่านหัวหน้าเข้าฌานสงบนิ่ง ไม่พูดอะไรต่อสักคำ (ฮา)  ยกเอาหลักการตลาดมาปักหมุด งานนี้ Touch Point คือ จุดสัมผัสความรู้สึก ที่หัวหน้ามีต่อภาพลักษณ์ของลูกน้อง มือฉมัง แต่ ปากฉมวก จัดวาสอยู่ในระดับติดลบหลายวันพระ (อิๆ)


ขอคัดเอามุกเมื่อยี่สิบปีก่อนมาเล่าไว้เป็นกรณีศึกษา เฮียผมคนหนึ่งไปเปิดร้านให้บริการวัดสายตาอยู่ในพื้นที่ห้างแห่งหนึ่ง มีอยู่วันหนึ่ง เจ้าหน้าที่คนหนึ่ง เขาเดินแจกใบประกาศกึ่งเตือนกึ่งขอความร่วมมือ ร้านเฮียก็ได้ใบนั้นมาใบหนึ่ง มีเนื้อความอยู่ย่อหน้าหนึ่ง มีเนื้อไม่ได้ความอยู่คำหนึ่ง อ่านจบแล้วก็ ยืนหนึ่ง กึ่งอึ้ง กึ่งอิๆ

 

“ด้วย บริษัท อิ่มทิพย์ จำกัด จะดำเนินการรมควันเพื่อกำจัดแมลงในพื้นที่ภายในอาคารทั้งหมด โดยมี บริษัทกำจัดแมลง XYZ ซึ่งจะรมควันใน วันที่ 24 พฤศจิกายน 2544 เวลา 21.30 น. จึงขอความ กรุณา ท่าน แล ะบริวาร ได้โปรดออกจากอาคารในวันและเวลาดังกล่าว” (!!!) ผมอ่านแล้วก็แซวแถมเพื่อเอาแก๊สออกจากหัวใจเฮียว่า “นี่ยังดีนะที่ใช้คำว่า บริวาร ถ้าใช้คำว่า ข้าทาสบริวาร เฮียจะ ยืนหนึ่ง คือ ยืนอยู่ในร้านเพียงหนึ่งเดียว ลูกน้องเขาจะลาออกแล้วเดินรำพึงกันไปแหละว่า เพิ่งจะรู้ว่าพวกเราเป็นทาส” (ฮา) 


เหตุที่กล้าคัดเอามุกนี้มาเล่า คาดว่า ท่านนายห้างคงจะวิ่งไล่เตะก้นผมไม่ทันแล้วมั้ง ใครสนิทกับท่านนายห้างอย่าเอาตอนนี้ไปให้ท่านอ่านก็แล้วกัน (ฮา)

 

ได้ยินแม่ค้าตะเบ็งเสียงเถียงลูกค้าด่าไฟแล่บ ทำให้นึกแว้บไปถึงภรรยาเป็นนิจ การเล่าเกร็ดชีวิตของคนเก่งงานสาย Hard Skill แต่กระด้างแหลมคมจนชาชินมันชวนให้หวนไปนึกถึง ละครสั้นอันเดอร์กราวด์เรื่อง “มนุษย์ป้าบริบาล” (ฮา) 


เรื่องนี้ไม่ขอยืนยันที่มาเพราะเกรงว่า ผมจะไม่มีที่ไป (ฮา) ก็เอาเป็นว่า ผมเล่าโดยย่อท่านร้องอ๋อ เพราะพอจะรู้กันอยู่แล้วว่า สังคม “เห็นใจ” ทุกฝ่าย เห็นว่า ใจฝ่ายนี้ไม่ชอบใจที่ไม่บริการ ใจมนุษย์ป้าบริบาลส่อเค้าว่าทำงานกันวันต่อวันว่าท่านก็คงจะล้า คนเขียนบทละครก็ไม่ให้รายละเอียดเท่าที่ควรจึงไม่ขอฟันธงว่า ล้าอ่อนแรง หรือว่า ล้าสมัย (แฮ่ะๆ) 


ด้วยความอยากรู้ว่า “บริบาล ” กับ  “บริการ ” มันเป็นคนละเรื่องเดียวกันหรือเปล่า ออกแรงสืบค้นดึกดื่นค่อนคืนผมก็จ๊ะเอ๋เข้ากับคัมภีร์ “ขอบเขตคู่มือการปฏิบัติงานการบริการผู้ป่วยใน” สาระสำคัญที่ยิงตรงกลางใจเขา ยืนยัน  4 กระบวนการหลัก เอาไว้อย่างมีนัยผูกพันว่า กระบวนการปฏิบัติงานการบริการผู้ป่วยใน ได้แก่ 1. การเตรียมความพร้อมของหอผู้ป่วย 2. การรับผู้ป่วย และ“3. การดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วย!” 4 การจำหน่าย พจนานุกรมไทย ไม่เข้าใครออกใคร แปลรอเอาไว้แล้วว่า “บริบาล” คือ ดูแล รักษา เลี้ยงดู 

                                      ยลตามช่องมองข้ามช็อต ฉากที่ 7       


เว็บไซต์กองทะเบียนธุรกิจ ก็มีโซนให้คำปรึกษา ผู้ชำนาญการได้ชี้แจงกับ คุณมีนา ผู้เข้ามาถามเพื่อขอคำปรึกษา เมื่อ วันที่ 27 มกราคม 2558 มีเนื้อหาสอดรับกันอีกด้วยว่า

 

“การเปิดโรงเรียนการบริบาล โดยความหมายของกิจการ หมายถึง การเปิดสถานที่ให้บริการดูแล ผู้รับบริการ เช่น ผู้ป่วย ใช่หรือไม่”

 

“ถ้าใช่ ถือเป็นกิจการที่ได้รับการยกเว้นให้สามารถประกอบการได้เลย โดยไม่ต้องจดทะเบียนพาณิชย์ ถ้าไม่ใช่ตามความหมายข้างต้น ให้ระบุรายละเอียดกิจการเพิ่มเติมมาให้ด้วย”

 

เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2513 นางชุบ ยอดแก้ว วัย 76 ปี ชาวกุยบุรี มีอาการเดินไม่ไหวและไม่มีเงินในการรักษา แต่อยากไปรับเสด็จฯ จึงให้เพื่อนบ้านหามใส่เกวียนไป พระบรมราชินีนาถ ทรงสังเกตเห็นว่ายายชุบ หน้าซีด และนั่งพิงเพื่อน จึงให้แพทย์ตามเสด็จฯ มาตรวจอาการ พบว่าไส้ติ่งกำเริบหนัก ในหลวง ร.9 ท่านทรงงานดูพื้นที่อยู่ตรงบริเวณเชิงเขา ครั้นทรงทราบข่าวก็รับสั่งว่า

 

“เดี๋ยวเราจะกลับทางเรือ ให้นำคนไข้ไปส่งก่อน”

 

ขณะที่นอนอยู่บนเฮลิคอปเตอร์ นางชุบ มองลงมาก็เห็น ในหลวง ร.9 ทรงโบกพระหัตถ์ให้กำลังใจ 


ผมว่า “มนุษย์ป้าบริบาล” น่าจะจำเนื้อร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีท่อนหนึ่งได้นะ

 

“เย็น ศิระ เพราะพระ บริบาล……”


ในหลวง ร.9 ทรงเป็นข้าราชการที่มี “พระเซอร์วิสมายด์” จึงทรง “บริบาล” ต่อพสกนิกร

 

คติพจน์ ของ นิรนาม ผู้หนึ่ง บอกว่า “ไม่ ฉันจะไม่ถูเท้าคุณ ฉันเป็นพยาบาลไม่ใช่หมอนวด” และ คติธรรม ของ นิรนาม อีกท่านหนึ่ง ตั้งคำถามว่า “เมื่อคุณรู้สึกอยากเลิก จงจำไว้ว่า ทำไมคุณถึงเริ่ม”