ยลตามช่องมองข้ามช็อต ฉากที่ 3

22 ต.ค. 2565 | 00:30 น.

ยลตามช่องมองข้ามช็อต ฉากที่ 3 : คอลัมน์เปิดมุกปลุกหมอง โดย...ดร.สุรวงศ์ วัฒนกูล หนังสือพิพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3829 หน้า 6  

ผมแย้มแง่มุมภูมิปัญญาว่า ความโง่ของคนทุกวัยมีอยู่จริง อย่าปฏิเสธทิ้งปฏิเสธขว้าง บรรยายในงานจัดฝึกอบรม และ ทอล์คโชว์ผ่านสื่อวิทยุโทรทัศน์ มานานไม่น้อยกว่า 40 ปี วันนี้ศาลเตี้ยคงจะไม่รีบยกฟ้องคดี “วีรโง่” คือ คนที่มีลูกบ้ากล้าลุยแบบสุ่มสี่สุ่มห้าแบบไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ยกนี้ขอถือวิสาสะคารวะกราบเท้าเบิกเอาสติปัญญาบารมีของสองกูรูมาเป็นพยานกันสักเตื้อ 


 หลักฐานแง่คิดท่านแรก คือ Guru Chonticha ดูเค้าหน้าคาดว่าคงจะเป็น Gen Z น้องหญิงท่านนี้นำเสนอประเด็น “ทฤษฎีคนโง่ วิจัยเผย! ทำไมคนโง่ไม่ถึงไม่คิดว่าตัวเองโง่” ไว้ใน เว็บไซต์  Wongnai ได้ความดังนี้


 นักวิทยาศาสตร์ระดับปรมาจารย์ ชาลส์ ดาร์วิน เคยเขียนเอาไว้ในหนังสือ The Descent of Man ว่า “Ignorance more frequently begets confidence than does knowledge” แปลว่า “ความเขลามักก่อให้เกิดความมั่นใจ มากกว่าความรู้”


ว่าแล้ว Guru Chonticha ก็แนบเรื่องเล่าฝากไว้เป็น กรณีคลี่กึ๋น ว่า ชาวโลกหลายคนเคยทดลองใช้น้ำมะนาว มาทำเป็นหมึกล่องหนด้วยการใช้น้ำมะนาวเขียนตัวอักษรลงไปกระดาษแล้วปล่อยให้แห้ง หลังจากนั้นเมื่อเอากระดาษไปลนไฟก็จะมองเห็นตัวอักษรที่เขียนไว้ ผลงานวิทยาศาสตร์ดอกนี้มัน “น่าทึ่ง” กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ “โจรหน้าทึ่ม” เชื่อสนิทว่า น้ำมะนาวจะสามารถทำให้หน้าของเขาล่องหน กล้องวงจรปิดไม่มีทางที่จะเห็นหน้าได้แหง๋มๆ เขาจึงใช้น้ำมะนาวทาหน้าแล้วเข้าไปปล้นธนาคาร 2 แห่ง! (ฮา)

หลักฐานแง่คิดท่านแรก คือ Guru โตมร ศุขปรีชา ท่านโพสต์ความเห็นที่มีราคาระดับค่าควรเมือง ในหัวข้อเรื่อง “อำนาจของความโง่” ผมพยายามเสกคาถาให้บทความหดตัว ไม่ได้คิดจะสาวไส้แต่ถ้าตรงไหนไส้ยาว ผมขอตัดต่อ นิดนุง ทำไมมันฟังดูเหมือนกำลังอกตัญญูกับ Guru โตมร ศุขปรีชา ยังไงยังงั้น (ฮา)


ท่านชี้ว่าความโง่แบบแรก คือ Ignorance จะใช้คำว่า “อวิชชา” คือ “ไม่มีวิชชา” หรือ ไม่มีความรู้ (Lack of Knowledge)  คือ “ขาดความรู้ที่แท้จริงอย่างลึกซึ้ง”


สำหรับ ความโง่ อีกรูปแบบหนึ่ง ที่ท่าน Guru โตมร ศุขปรีชา ได้ไถแปรแง่คิด Stupidity ไว้ว่า Lack of

Intellignece,Understanding, Reason, Wit or Sense มันเป็นคำจำกัดความที่ระบุได้ว่า ความโง่ ในเวอร์ชั่นนี้ มันเกิดขึ้นจาก “ขาดความสามารถที่จะรู้”


 เรามา อุ๊ต๊ะ กันว่า ถ้า น้องแมว เขามองเห็นโลกในแนวแบนแต๊ดแต๋มานานจัด ถึงแม้จะมีหลักฐานหรือข้อพิสูจน์ว่าโลกนี้กลมเหมือนผลส้ม แต่ถ้า น้องแมว ไม่ได้ใฝ่รู้ ไม่เคยค้นหา นั่นเท่ากับว่า เขา “ขาดความรู้” (Ignorance) แต่ไม่ “ขาดความสามารถที่จะรู้” 

                           ยลตามช่องมองข้ามช็อต ฉากที่ 3
เรามา อัยยะ อีกว่า ถ้า น้องชะนี ได้รับรู้ข้อมูลที่ผ่าน การพิสูจน์มีพยานรู้เห็นแน่ชัดว่า โลกไม่ได้แบน ถึงแม้ น้องชะนี จะมี Conscious Decision คือ “มีสติที่จะตัดสินใจ” ก็ยังแบนโลกว่าโลกแบน อาการ Fallcious Preconceived Idea คือ ความคิดอุปาทานที่ผิดพลาด ท่านใดมีติ่งความคิดว่า นั่นมัน ดื้อรัน ไม่ใช่ โง่เขลา ผมก็ไม่เถียง ไงก็แล้วแต่ คงปฏิเสธไม่ได้อยู่ดีว่า “คนดื้อรั้น” กับ “คนโง่เขลา” มักจะทำอะไรที่ได้ผลลัพธ์ในระดับโหลยโถ้ยพอๆกัน


คุณวิมล ดำศรี เลือก นิทานพื้นบ้าน ปริศนาของสามหญิง ที่ อ.วิเชียร ณ นคร ได้เล่าเอาไว้เป็นอนุสติ มานำเสนอกัน สารนครศรีธรรมราช ว่า ชายโง่สามคนอยากมีเมียจึงพากันไปส่องสาว เจอสามสาวต่างถิ่นสมดั่ง ใจนึกก็โพล่งปากออกไปคึกๆ ว่า “เรามาเป็นผัวเมียกันเถอะ”

 

สามสาวบอกว่า “ถ้าพ่อหนุ่มสามารถแก้ปริศนาหาบ้านเราเจอ เราก็ยินดีที่จะอยู่กินด้วยกัน ” สาวคนแรก ดึงผมลงมาปิดหน้าแล้วบอกว่า “บ้านฉันอยู่ที่นี่!” สาวคนที่สอง ชี้นมของตัวเองแล้วบอกว่า “บ้านฉันอยู่ตรงนี่!” ถ้ามีใครสละสิทธิ์ ผมจะทำหน้าที่แทน (ฮา) สาวคนที่สาม บอกง่ายๆ แต่หายากว่า “บ้านฉันอยู่หลังตลาดจอแจ!”


ในวันต่อมา ชายโง่ทั้งสาม เดินทางตามหาจนเลยเถิดไปถึงหน้าประตูวัง อย่ากระนั้นเลย ถามทหารยามผู้เฝ้าประตูวัง ซึ่งเป็นเจ้าถิ่นนี่แหละเหมาะที่สุด ทหารยามได้ฟังปริศนาแล้วก็ถอดรหัสว่า “สาวคนแรก อยู่หลังต้นไทร สาวคนที่สอง เขาปลูกฟักทองไว้หน้าบ้าน สาวคนที่สาม บ้านอยู่หลังกอไผ่มีนกกระจาบมาทำรังกันเยอะนกจึงส่งเสียงร้องกันจุ๊บจื๊บจอแจ” (ว๊าว! ใครนินทายามว่าโง่อ่ะ) 


เมื่อชายโง่ทั้งสามไปเจอบ้านทั้งสามหลังตามคำบอกกล่าว สามสาวก็คาดคั้นว่า “คิดเองหรือว่าใครแก้ปริศนาให้?” ชายโง่ทั้งสามสารภาพว่า ทหารยามคนที่เฝ้าประตูวังเป็นผู้เฉลยปริศนา “สามสาว” ขอให้ “สามง่าว” พาพวกเธอไปเจอกับทหารยามผู้เฝ้าประตูวัง 


ในที่สุด สาวทั้งสาม ตกลงปลงใจเป็นทองสามแผ่น กับ ทหารยามเฝ้าประตูวัง ในฐานะที่เขาเป็นชายผู้มีปัญญา และ มี Mindset ดีงาม ตรงที่ ไม่รังเกียจวิชาชีพทหารยาม 


ท่านคิดว่า “สามหนุ่มที่ฉลาดไม่พอ” เขาเป็น Ignorance? หรือ Stupidity!