ยลตามช่องมองข้ามช็อต ฉากที่ 5

05 พ.ย. 2565 | 00:07 น.

ยลตามช่องมองข้ามช็อต ฉากที่ 5 : คอลัมน์เปิดมุกปลุกหมอง โดย... ดร.สุรวงศ์ วัฒนกูล หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3833

นายมั่ว ผู้เป็น สามี พูดจาตัดพ้อ กับ นางเมนท์ ผู้เป็นภรรยา ว่า “เราปิดไฟกินมื้อค่ำใต้แสงเทียนกันดีกว่า ดูข้างบ้านเราสิ เขากินมื้อค่ำใต้แสงเทียนกัน โรแมนติคดีออก” นางเมนท์ ยิ้มแป้นแล้วบอกว่า “ไอ้ที่ข้างบ้านเราเขากินมื้อค่ำใต้แสงเทียนกันก็เพราะว่าบ้านเขาโดนการไฟฟ้ามาตัดไฟยกหม้อเว้ย” (ฮา)


สามีฉลาดเกินตัวภรรยาก็กลัวว่าจะศรีธนญชัย ภรรยฉลาดเกินไปสามีก็ขนพองดวงตาดุจกล้องวงจรปิด ลูกศิษย์เป็นอิสตรีเล่าให้ผมฟังว่า “สามีหนูไปสัมมนากับเพื่อนร่วมงานที่เมืองกาญจน์ กลางคืนโทรมาบ่นกับหนูว่า โรงแรมบ้าอะไร ไม่มีผ้าห่ม หนาวจะตายชัก! โง่เบาะๆ แบบนี้ หนูชอบ แกไม่รู้ว่ากำลังนอนทับผ้าห่มที่คลุมเตียงเอาไว้ แสดงว่า แกไม่เคยพาใครเข้าโรงแรม (ฮา)” มุกแก้ง่วงฉบับย่อเหล่านี้สะท้อนว่า สามีโง่จิ๊บๆ จัดว่าโง่สายฮา ยังพอจะเอาไปทำยาได้

นางเมนท์ ซักถาม นายมั่ว ว่า “แกไปโดนอะไรมา ทำไมหน้าผากแดงช้ำขนาดนั้น” นายมั่ว เล่าว่า “ไปดูการแข่งขันฟุตบอลประเพณีไง กำลังนั่งจ้องดูอยู่เพลินๆ ก็แปลกใจว่าทำไมขนาดของลูกบอลมันถึงได้ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุด มันก็ลอยดิ่งมาโดนหน้าผากฉันเต็มๆเลยอ่ะ”  (ฮา)


นิรนาม ชี้ว่า “เราสามารถคำนวณความฉลาดของคน แต่คงยากที่จะคำนวณความโง่ของคน” (นั่น!)

ชาดก ไม่ใช่ นิทาน เราพูดกันชาชินจนกลายเป็น นิทานชาดก “ชาดก” คือ ประวัติในอดีตชาติของพระพุทธเจ้าที่กำลังบำเพ็ญบารมีเป็นพระโพธิสัตว์ คราวนี้ชวนท่านอ่าน “วารุณิทูสกชาดก” วารุณิ คือ เหล้า เรื่องนี้ บาร์เทนเดอร์เซ่อโง่โชว์การชงเหล้า แก่นสารเรื่องนี้พูดถึง “ผู้มีปัญญาทรามทำให้เสียประโยชน์!” 

 

พ่อค้าเหล้าฝีมือเลิศขอปลีกตัวไปอาบน้ำ จึงมอบหมายให้ลูกจ้างช่วยดูแลลูกค้า ในขณะที่ลูกจ้างกำลังรินเหล้าให้ลูกค้า เขาแลเห็นว่าบรรดาคอเหล้ามักจะล้วงเกลือในไหที่ทางร้านตั้งไว้เอามาเคี้ยวแกล้มเหล้าอยู่เรื่อยๆ จึงคิดเองเออเองว่า ผสมเกลือลงไปในไหเหล้าเลยสิ 


ว่าแล้วก็เทเกลือหนึ่งทะนานลงไปในให้เหล้า เมื่อเอามารินให้ลูกค้าดื่มเขาก็พากันบ้วนทิ้ง เอะอะว่าเหล้าเสีย โวยวายว่าจะแกล้งกันเรอะ หลังจากนัวกันสักพักก็ได้ความว่า ลูกจ้างเป็นคนไม่ได้ความ ทะลึ่งอุตริเอาสูตรทรมานเชลยมาลองของ จึงรุมกันด่าแล้วพากันออกจากร้านไปเกลี้ยง


พ่อค้าระดับยืนหนึ่งในแว่นแคว้นรู้เรื่องก็หงุดหงิดหลาย จึงไปปรับทุกข์กับคนสนิท คือ ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ท่านเศรษฐีคุยปลอบใจกันตามสมควร ร่ำลากันเสร็จก็ไปเข้าเฝ้าเล่าให้ พระบรมศาสดา ฟัง ณ เชตวันมหาวิหาร พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงระลึกชาติแต่หนหลังด้วยบุพเพนิวาสานุสติญาณ แล้วตรัสว่า

 

“มิใช่แต่ชาตินี้เท่านั้น ที่ชายคนนี้ทำเหล้าเสีย แม้ในชาติก่อนก็ทำให้เหล้าเสียมาแล้วเหมือนกัน!”


ท้ายดินสอเขามียางลบเพราะผู้ออกแบบเห็นว่า ทุกคำที่จะเขียนใหม่น่าจะฉลาดกว่าที่ลบทิ้ง (นั่น!)


พระพุทธองค์ ท่านทรงโปรดยกเอา  “วารุณิทูสกชาดก” มาเล่าให้พิจารณา เป็นอนุสติเอาไว้ ดังนี้


อดีตชาติหนึ่งในอภิมหานานาภพชาติ มีเรื่องทำนองเดียวกันเกิดขึ้น ณ กรุงพาราณสี พ่อค้าผู้ขายเหล้าฝีมือเลิศขอปลีกตัวไปอาบน้ำจึงมอบหมายให้ ลูกจ้าง ชื่อว่า โกณทัญญะ ช่วยดูแลลูกค้า (คนนี้เป็นคนละคนกับท่านอัญญาโกณฑัญญะ) ทุกครั้งที่ นายโกณทัญญะ ยกเหล้าไปเสิร์ฟลูกค้า ลูกค้าก็ขอเกลือหนึ่งกำมือกันทั้งนั้น

                          ยลตามช่องมองข้ามช็อต ฉากที่ 5
นายโกณทัญญะคิดเองเออเองว่า รสเหล้าคงจะอ่อนไป จึงเทเกลือทั้งทะนานลงผสมในถังเหล้า แล้วรินไปให้ลูกค้าลูกค้าดื่มอีก แรกก็บ้วนพรวดพร้อมกับก่นด่า หลังจากปรับความเข้าใจว่าอะไรคืออะไรลูกค้าก็บริภาษกันยกใหญ่


“โธ่เอ๋ย ไอ้โง่ ไอ้เวร ไอ้สู่รู้ กูไม่เคยเห็นใครโง่เท่าเอ็งเลย หนอยแน่ะ เสือกเอาเกลือมาใส่เหล้า ถุย!”


ลูกค้าคอมเมนท์กันสาแก่ใจแล้วก็อำลาร้านไปจนหมด เพ่อค้ารู้เรื่องว่านายโกณทัญญะทำงานไม่ได้เรื่อง ก็ไปปรับทุกข์กับสหายผู้เป็นเศรษฐี เศรษฐีปลอบโยนสหาย แล้วปรารภเป็น คติพจน์ หรือ พุทธวัจนะ ว่า


“การประพฤติประโยชน์ โดยคนที่ไม่ฉลาดในประโยชน์ ย่อมไม่นำความสุขมาให้ คนผู้มีปัญญาทรามย่อมทำประโยชน์ให้เสียไป”


บันทึกช่วยจำบรรทัดนี้มีราคา พระพุทธองค์ ท่านทรงสรุปว่า “นายโกณทัญญะผู้นั้น กลับมาเกิดเป็น ลูกจ้างผู้ทำเหล้าเสีย ในครั้งนี้ และ เศรษฐีเพื่อนพ่อค้าเหล้า คือ ตัวเรา (พระพุทธองค์) นั่นเอง”


สตีฟ จ๊อบ บอกว่า “จงกระหายและให้ทำตัวเสมือนโง่ เมื่อใดที่คิดว่าเก่งเราจะไม่พัฒนาตนเอง” 


สดับ จก แปลว่า ฟังแล้ว หรือ อ่านแล้ว หรือ ดูแล้ว ก็ ฉกฉวย ลักจำ เอามาทำเป็นผลงานของตัวเอง


แฮ่ะๆ ผมว่าตัวเองเนี่ย สดับ จก โผล่มาแย่งซีน สตีฟ จ๊อบ ปล่อยของที่จกมาจาก Postjung สักติ๊ดว่า


“คนที่ช่างถามอาจจะดูโง่สักห้านาที แต่คนที่ไม่ถามเรื่องนั้นสักทีมีแววโง่เรื่องนั้นไปชั่วชีวิต” (นั่น!)