“ไตวายเรื้อรัง” ตัวการร้าย ป่วนระบบร่างกาย

09 ก.ค. 2566 | 05:25 น.

“ไตวายเรื้อรัง” ตัวการร้าย ป่วนระบบร่างกาย คอลัมน์ Tricks for Life

ผู้ป่วย “โรคไตวายเรื้อรัง” ในระยะแรกถึงปานกลาง มักไม่มีอาการหรือมีอาการแค่เล็กน้อย กว่าจะรู้ว่าป่วยเป็น “โรคไตวายเรื้อรัง” ก็ต่อเมื่อเข้ารับการตรวจเลือดหรือปัสสาวะเท่านั้น และหากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมและทันเวลา ไตก็จะทำงานเสื่อมลงอย่างต่อเนื่อง จนท้ายที่สุดจะเข้าสู่ภาวะ “โรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย” 

“โรคไตวายเรื้อรัง” คือการที่เนื้อไตถูกทำลายอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานหลายเดือนหรือเป็นปี ในระยะแรกผู้ป่วยจะไม่แสดงอาการผิดปกติใดๆ ซึ่งเมื่อมาตรวจร่างกายก็อาจไม่พบความผิดปกติ เว้นแต่มีการตรวจเลือด หรือตรวจปัสสาวะ พบความผิดปกติ เช่น ปัสสาวะมีเม็ดเลือดแดงและโปรตีนไข่ขาวปนออกมา จึงจะทราบได้ว่าเป็นโรคไตวายเรื้องรัง 

เมื่อการทำงานของไตเหลือเพียง 30% มักจะเริ่มมีอาการแสดงของโรคไตออกมาให้เห็น ระยะต่อมาผู้ป่วยจะถูกวินิจฉัยว่าเป็น “ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย” ก็ต่อเมื่อมีการทำงานของไตน้อยกว่า 15% ในภาวะนี้การทำงานของร่างกายหลายระบบจะเริ่มเสื่อมลงอย่างเห็นได้ชัด ได้แก่ 

ระบบทางเดินอาหาร ผู้ป่วยจะเริ่มเบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ไม่สามารถรับรสชาติอาหารได้ ระบบทางเดินหายใจและหัวใจ เมื่อร่างกายไม่สามารถขับของเสียออกได้ จะทำให้หัวใจทำงานหนัก เหนื่อยง่าย หายใจลำบาก ความดันโลหิตสูง หัวใจโต กล้ามเนื้อหัวใจเสื่อมสภาพ และอาจเกิดน้ำคั่งในเยื่อหุ้มหัวใจ น้ำคั่งในปอด ปวดบวม และไอเป็นเลือดได้ 

“ไตวายเรื้อรัง” ตัวการร้าย ป่วนระบบร่างกาย

ระบบประสาทและสมอง ผู้ป่วยจะมีอาการกล้ามเนื้อกระตุก เป็นตะคริว กล้ามเนื้ออ่อนแรง สมองเสื่อม หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมอาจทำให้เกิดอาการชัก หมดสติ หรือเสียชีวิตได้ 

ระบบทางเดินปัสสาวะ เมื่อไตทำงานได้น้อยลง การขับของเสียรวมทั้งเกลือแร่และน้ำก็ทำได้น้อย ทำให้มีปัสสาวะออกน้อย ขาบวม ตัวบวม และมีระดับเกลือแร่ในเลือดแปรปรวน 

ระบบโลหิตและภูมิคุ้มกันร่างกาย ฮอร์โมนที่จะกระตุ้นให้ไขกระดูกสร้างเม็ดเลือดแดงผลิตจากไต เมื่อไตวายจึงผลิตได้น้อยลง ผู้ป่วยจึงมีอาการซีดจากภาวะโลหิตจาง รวมทั้งมีการทำงานของเกร็ดเลือดผิดปกติ เลือดจึงออกง่าย และมักมีภาวะภูมิต้านทานต่ำ จึงติดเชื้อได้ง่าย 

ระบบกระดูก ผู้ป่วยมีภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ เกิดภาวะกระดูกพรุน แตกหักง่าย ในผู้ป่วยเด็กจะหยุดการเจริญเติบโตและตัวแคระแกร็น 

ระบบฮอร์โมนอื่นๆ ผู้ป่วยไตวายมักมีการทำงานของฮอร์โมนผิดปกติเกือบทุกชนิด เช่น  ฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง ต่อมไทรอยด์ ต่อมพาราไทรอยด์ ต่อมหมวกไต และฮอร์โมนจากรังไข่ 

การรักษาโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ให้ผลได้ดีมีประสิทธิภาพสูงสุดในปัจจุบันคือ “การปลูกถ่ายไต” เป็นการผ่าตัดนำไตของผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นการบริจาคจากผู้บริจาคสมองตายหรือผู้บริจาคที่มีชีวิต มาทำหน้าที่แทนไตเดิมของผู้ป่วย โดยวางไตใหม่ไว้ในอุ้งเชิงกรานแล้วต่อเข้ากับกระเพาะปัสสาวะและหลอดเลือดของผู้ป่วย

ถ้าการผ่าตัดประสบความสำเร็จ ผู้ป่วยจะไม่ต้องบำบัดด้วยการฟอกไตอีกต่อไป แต่จำเป็นต้องรับประทานยากดภูมิไปตลอดชีวิตเพื่อป้องกันร่างกายต่อต้านไตใหม่ หรือที่เรียกว่า “ภาวะสลัดไต” โดยวิธีนี้เหมาะกับผู้ป่วยที่ร่างกายแข็งแรง ไม่มีความเสี่ยงสูงต่อภาวะติดเชื้อ และไม่มีโรคหัวใจรุนแรง

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,903 วันที่ 9 - 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2566