สายควันรู้ไว้ โรคที่มากับ “บุหรี่ไฟฟ้า”

27 พ.ค. 2566 | 05:16 น.

สายควันรู้ไว้ โรคที่มากับ “บุหรี่ไฟฟ้า” คอลัมน์ Tricks for Life

บุหรี่ไฟฟ้า” เริ่มได้รับความนิยมสูงขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน คนรุ่นใหม่ ด้วยความเชื่อที่ว่าปลอดภัยกว่าการสูบบุหรี่ทั่วไป ที่เป็นต้นเหตุให้เกิดโรคต่างๆมากมาย ทั้งโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคระบบทางเดินหายใจ โรคถุงลมโป่งพอง วัณโรคปอด มะเร็งปอด ฯลฯ

แต่ในความเป็นจริงแล้ว “บุหรี่ไฟฟ้า” ปลอดภัยจริงหรือ?

นพ.ชาติทนง ยอดวุฒิ อายุรแพทย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ ให้ข้อมูลว่า ควันจากบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า เป็นตัวจุดชนวนสร้างสารอนุมูลอิสระ (Free Radical) ซึ่งมีผลต่อสุขภาพ ก่อให้เกิดโรคเรื้อรังได้ หากมีการสะสมในปริมาณสารมากและเป็นระยะเวลานาน จะทำให้ป่วยเป็นโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดหัวใจ

หรือแม้กระทั่งโรคทางเดินหายใจและปอด สารอนุมูลอิสระที่เกิดจากการเผาไหม้ของเหลวในบุหรี่ไฟฟ้าจะดูดซึมเข้าไปกระตุ้นให้หลอดเลือดเกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่ยืดหยุ่น เปราะบาง อันจะก่อให้เกิดการอักเสบของหลอดเลือด จนเกิดเป็นลิ่มเลือดเข้าไปอุดตันหลอดเลือด และอาจส่งผลให้หลอดเลือดหัวใจตีบได้

“ภัยของบุหรี่ไฟฟ้า โดยของเหลวอันเป็นสารประกอบต่างๆ ที่พบในบุหรี่ไฟฟ้านั้น แม้จะยังไม่มีสถิติหรืองานวิจัยระบุว่าไอระเหยของบุหรี่ไฟฟ้ามีพิษร้ายแรงเช่นไร แต่ของเหลวที่ถูกเผาไหม้จากบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งมีขนาดอนุภาคที่เล็กกว่าบุหรี่ธรรมดา จะสามารถแทรกซึมเข้าไปในปอดส่วนลึกได้และรวดเร็ว เนื่องจากไอระเหยเหล่านั้นมีอนุภาคที่เล็ก จึงง่ายต่อการดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้อย่างรวดเร็ว

สายควันรู้ไว้ โรคที่มากับ “บุหรี่ไฟฟ้า”

“ถ้าต้องการหลีกเลี่ยงโรคหัวใจ ก็ควรงดการสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า เพราะอย่างน้อยก็จะตัดปัจจัยเสี่ยงต่อการทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ได้ จากสถิติพบว่า1 ใน 3 ของผู้ที่เสียชีวิตจากโรคหัวใจนั้นมาจากบุหรี่”

ปัจจุบันเทคโนโลยีในวงการแพทย์ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากจากอดีต โดนมีวิวัฒนาการที่ก้าวไปไกลมากขึ้น รวมถึงมีเทคโนโลยีที่แม่นยำ อาทิ การตรวจสมรรถภาพการทำงานของหัวใจโดยการวิ่งบนสายพาน (Exercise Stress Test) การตรวจสมรรถภาพหัวใจด้วยคลื่นความถี่สูง (Echocardiogram)

หรือการตรวจวัดระดับแคลเซียมบริเวณผนังหลอดเลือดหัวใจ (CT Coronary Calcium Score) การตรวจระดับน้ำตาลในเลือด ระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสม การทำงานของไต ระดับไขมันคอเลสเตอรอล ระดับไขมันความหนาแน่นสูง-ต่ำ และระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือด ทำให้รู้ว่าความเสี่ยงและแนวโน้ม ที่อาจจะทำให้เกิดโรคหัวใจในอนาคต

ฉะนั้นนอกเหนือจากการงดสูบบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้าแล้ว ควรหลีกเลี่ยงสิ่งที่ส่งผลต่อสุขภาพ เช่น ในที่โล่งแจ้ง ฝุ่นละออง ควัน ฝุ่นPM2.5 ฯลฯ เพื่อความปลอดภัยในสุขภาพจึงควรตรวจเช็กหัวใจกับแพทย์เป็นประจำทุกปีด้วย

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,889 วันที่ 21 - 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2566