OTO สาเหตุของความเจ็บปวด

15 มิ.ย. 2566 | 21:00 น.

คอลัมน์เมาธ์ทุกอำเภอ OTO สาเหตุของความเจ็บปวด โดย...เจ๊เมาธ์

*** ถึงแม้ราคาหุ้นของ OTO ร่วงติดต่อกันถึง 4 วันทำการ รวม 4 ฟลอร์ไปแล้วเรียบร้อย (ไม่นับวันที่ 30 พ.ค. เพราะห่างกันหลายวันเกินไป) และจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีใครสามารถรับประกันได้ว่า ราคาหุ้นของ OTO จะหยุดอยู่ที่ราคาเท่าไหร่กันแน่ ซึ่งหากจะว่ากันตามความเป็นจริง โดยที่ไม่จำเป็นจะต้องไปพูดถึงเรื่องของธุรกิจ หรือ เรื่องของผลการดำเนินงานของบริษัทฯ เจ๊เมาธ์ก็บอกเลยว่า สัญญาณแปลกๆ ของหุ้นตัวนี้เริ่มชัดเจนมาแล้วตั้งแต่วันที่ 24 พ.ค. เนื่องจากเป็นวันเริ่มต้นที่ OTO-W1 ถึงกำหนดเวลาการใช้สิทธิแปลงสภาพในวันที่ 24 พ.ค. 66 ถึงวันที่ 30 พ.ค. 66 

สาเหตุที่เจ๊เมาธ์บอกว่า แปลกๆ ก็เป็นเพราะเมื่อเอาราคาหุ้นหน้ากระดานของ OTO-W1 ซึ่งปิดตลาดไปที่ราคา 6.85 บาท มารวมเข้ากับราคาแปลงสิทธิ 3.00 บาท/หุ้น แต่กลับยังมีราคาที่ต่ำกว่าราคาของ OTO ที่ปิดตลาดที่ราคา 19.50 บาท ในวันที่ 24 พ.ค. อยู่ถึง 9.65 บาท หมายถึงว่าหากไม่มีความเปลี่ยนแปลง หรือ มีอะไรผิดพลาด นักลงทุนที่แปลงสภาพจะมีกำไรเข้ามาเกือบเท่าตัวในวันที่หุ้นเพิ่มทุนที่เกิดจากการแปลงสิทธิ OTO-W1 เข้าตลาด และนี่ยังไม่นับรวมไปถึงวันที่ 29 พ.ค. ซึ่งราคาของ OTO พุ่งขึ้นไปปิดตลาดสูงสุดที่ราคา 23.60 บาท ขณะที่ราคา OTO-W1 ยังคงอยู่ที่เดิม ส่งผลให้ผลตอบแทนของการแปลงสิทธิพุ่งขึ้นไปสูงถึง 13.75 บาท หรือมากกว่า 140% ของเงินลงทุนเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม ในที่สุดอุบัติเหตุที่ไม่อยากให้เกิด...ก็เกิดขึ้นจนได้ อย่างหนึ่งก็คงจะเป็นเพราะว่า เมื่อได้กำไรจากเงินแปลงสิทธิหุ้นเพิ่มทุนจนพอใจแล้วก็ทำให้เกิดการทิ้งหุ้น OTO ในเวลา 16.00 น. ของวันสุดท้ายของการแปลงสิทธิหลังที่ธนาคารปิดทำการ จนทำให้ราคาหุ้นของ OTO ร่วงลงติดฟลอร์เป็นรอบแรก 

อย่างที่สอง เป็นปัญหาของการที่ทั้ง OTO และ OTO-W1 ถูกจับติดแคชฯ ไปเมื่อวันที่ 2 มิ.ย. เป็นเหตุให้ผู้ดูแลหุ้นไม่สามารถที่จะใช้บัญชีมาร์จิ้นเข้ามาช่วยพยุงราคาหุ้นได้ ซึ่งนั้นก็ทำให้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของมหากาพย์การทิ้งดิ่งจากราคา 17.60 บาท ลงมาอยู่ที่ 3.86 บาท รวม 8 วัน 4 ฟลอร์ หรืออาจจะลงต่อเนื่องต่อไปได้อีก เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้เองเจ้าค่ะ

*** เมื่อหลายปีที่แล้ว STPI ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในหัวหอกของการบุกเบิกธุรกิจกัญชง-กัญชา รายแรกๆ ของไทย แต่ล่าสุดบอร์ดของ STPI ก็ได้แจ้งยกเลิกกิจการของ “แคนนาธอรี่” บริษัทย่อยซึ่งทำธุรกิจ เพาะพันธุ์ เพาะเมล็ดพันธุ์ พืชสมุนไพร-กัญชา กัญชง เรื่องนี้ถ้ามองไปมุมมองทางธุรกิจเรื่องของการก่อตั้ง หรือ ยกเลิกธุรกิจย่อยในบางธุรกิจ หรือ ยกเลกบริษัทย่อยบางบริษัทก็ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่อย่าได้ลืมไปว่า นโยบายกัญชง-กัญชา เป็นนโยบายของพรรคภูมิใจไทย ที่มี อนุทิน ชาญวีรกูล เป็นหัวหน้าพรรค  

ขณะที่ STPI มี บลจ.เกียรตินาคินภัทร จำนวน 10.13% โดยที่ทาง บลจ.เกียรตินาคินภัทร เป็นบริษัทที่รับหน้าที่ในการจัดการทรัพย์สินของ อนุทิน ชาญวีรกูล ส่วน ชวรัตน์ ชาญวีรกูล จำนวน 3.50% ขณะที่ ชวรัตน์ ชาญวีรกูล ซึ่งมีศักดิ์เป็นบิดาของอนุทิน

ดังนั้น จึงทำให้มีคำถามว่า การที่ STPI ได้แจ้งยกเลิกกิจการของ “แคนนาธอรี่” ในครั้งนี้ เป็นการถอยทางการเมืองหรือไม่ และหากเป็นการถอยทางการเมืองจริงแล้ว ทั้งบริษัทและเอกชนที่ลงทุนในธุรกิจเกี่ยวกับ กัญชง-กัญชา จนหมดเงินไปเป็นหมื่นๆ ล้านบาท เพราะเดินตามนโยบายของภูมิใจไทยจะเป็นอย่างไร และต้องเจอกับอะไรบ้าง แล้วจะมีใครรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งที่บริษัท และเอกชนเหล่านี้ ต่างก็ลงทุนไปอย่างถูกต้อง เรื่องนี้น่าติดตามจริงๆ เจ้าค่ะ

*** แม้ว่าการประชุม FOMC ในรอบล่าสุด เฟดจะยังคงดอกเบี้ยเอาไว้ที่ระดับ 5.00-5.25% แต่ก็ยังได้ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้ง ซึ่งความคลุมเครือดังกล่าวกลายเป็นแรงกดดัน ที่ทำให้หุ้นทั้งในกลุ่มที่ได้รับและเสียผลประโยชน์ต่างก็ราคาหุ้นร่วงลงไม่ต่างกัน 

โดยในส่วนหุ้นธนาคารใหญ่อย่าง KBANK SCB BBL และ KTB ซึ่งเป็นหุ้นในฝั่งที่ได้ประโยชน์จากดอกเบี้ย เมื่อนักลงทุนเริ่มเห็นสัญญาณการหยุดวงจรของดอกเบี้ยขาขึ้น ต่างก็เริ่มเดินหน้าเข้าสู่การปรับสัดส่วนการถือหุ้น เพื่อมองหาแหล่งรายได้ใหม่ที่ดีกว่า 

อย่างไรก็ตาม การที่ดอกเบี้ยนโยบายของแบงก์ชาติปรับเพิ่มขึ้นมาสูงที่สุดในรอบ 8 ปี ขณะที่ในทุก 0.25% ของอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เปลี่ยนแปลงไป จะทำให้กำไรของ BBL และ KTB เปลี่ยนแปลงราว 10% ส่วน KBANK และ SCB อาจจะขยับขึ้นประมาณ 7-8% ส่งผลให้ทั้งรายได้และกำไรของธนาคารปรับตัวขึ้นมาทันที รวมไปถึงจะค่อยๆ สูงขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว เจ๊เมาธ์จึงยังมองว่าหุ้นกลุ่มธนาคารยังมีโอกาสไปต่อได้อีกเช่นเดิม

*** เมื่อดอกเบี้ยขาลงยังไม่จบ ราคาหุ้นกลุ่มลีสซิ่งอย่าง MTC SAWAD และ TIDLOR ซึ่งกำลังฟื้นตัว เพราะคาดการณ์ว่าวงจรดอกเบี้ยขาขึ้นกำลังจะสิ้นสุดไป ก็มีอันต้องสดุดตัวลงเนื่องจากการประชุม FOMC ในรอบล่าสุดเฟดได้ทิ้งท้ายเอาไว้ว่า อาจจะยังขึ้นดอกเบี้ยได้อีก 2 ครั้ง ก็ทำให้วงจรขาขึ้นของดอกเบี้ยยังคงยืดเยื้อต่อไปอีก 

อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของเจ๊เมาธ์ เจ๊ยังมองว่าหุ้นทั้งสองกลุ่มยังน่าสะสม ยิ่งราคาร่วงลงมาแบบนี้ แล้วก็ยิ่งเพิ่มความน่าสนใจเข้าไปอีก ซึ่งนี้ก็ยังไม่รวมไปถึงการที่ภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้าเกินไป จนเป็นเหตุให้ความต้องการเงินทุนหมุนเวียน ในกลุ่มคนที่ไม่สามารถเข้าถึงเงินกู้ของสถาบันการเงินที่มีมากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจลีสซิ่งก็ยังสามารถขายตัวในแนวราบได้อีกพอสมควร 

ขณะเดียวกัน การที่ราคาหุ้นอยู่ในช่วงขาลงมานาน ทำให้ราคาหุ้นกลุ่มนี้แทบทุกตัวอยู่ต่ำกว่าความเป็นจริง ดังนั้น ถ้าหากสามารถหาจังหวะราคาตอนย่อที่ราคาสวยๆ และถือให้ยาว หุ้นลีสซิ่งก็น่าสนใจอยู่ไม่น้อยกว่าหุ้นกลุ่มอื่น