KEX ดี…แต่ช้าแต่

11 ส.ค. 2565 | 21:30 น.

คอลัมน์เมาธ์ทุกอำเภอ By…เจ๊เมาธ์

*** หลังจากที่กรรมการ กนง. มีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 0.75% ต่อปี มีผลทั้งบวกและลบกับหลายธุรกิจในประเทศ โดยธุรกิจที่ได้อานิสงส์โดยตรงคือ กลุ่มสถาบันการเงินซึ่งแม้ว่าราคาหุ้นของธนาคารใหญ่อย่าง KBANK BBL SCB KTB และ TTB จะดูเหมือนไม่มีขานรับการปรับขึ้นดอกเบี้ยเท่าที่ควร แต่ก็เป็นที่เข้าใจได้ว่าราคาหุ้นของธนาคารถูกดันขึ้นมาด้วยหลายปัจจัยบวกมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกลุ่มหุ้นที่ได้รับผลบวกโดยตรงจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ รวมถึงเรื่องผลการดำเนินงานไตรมาส 2/65 ที่โดดเด่น อย่างไรก็ตาม ธนาคารพาณิชย์เหล่านี้ก็อาจต้องเผชิญกับปัญหาของดอกเบี้ยขาขึ้น ที่มาจากความกังวลต่อสินทรัพย์เสี่ยงและหนี้เสียที่จะตามมา 
 

*** หุ้นกลุ่มประกันภัยก็เป็นอีกหนึ่งกลุ่มธุรกิจที่ได้อานิสงส์ จากดอกเบี้ยขาขึ้น ทั้งนี้นอกจากกระแสของการสร้างหลักประกันด้านสุขภาพและความตื่นตัวเรื่องสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นเมกะเทรนด์ของโลก ที่ทำให้อุตสาหกรรมประกันชีวิตได้รับความนิยมมากขึ้น เรื่องของดอกเบี้ยขาขึ้นก็ทำให้บริษัทประกัน ซึ่งมีเงินฝากระยะยาวที่ล้นระบบ จนต้องนำไปฝากเอาไว้กับสถาบันการเงิน และพันธบัตรมีกำไรเพิ่มขึ้นจากดอกเบี้ย และดอกเบี้ยพันธบัตรที่เพิ่มขึ้น โดยนักวิเคราะห์หลายสำนักมองกันว่า หุ้นที่น่าสนใจในกลุ่มนี้ประกอบไปด้วย BLA TIPH TQM และ THREL ขณะที่ TLI ซึ่งเป็นหุ้นประกันภัยน้องใหม่ อาจจะต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ตัวเองให้มากกว่านี้อีกหน่อย
 

*** ขณะที่หุ้นกลุ่มลีสซิ่งเป็นกลุ่มหุ้นที่ถูกมองว่าได้รับผลกระทบในทางลบจากต้นทุนจากการดำเนินงานจะสูงขึ้นภายหลังการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย โดยเฉพาะหุ้นตัวใหญ่ที่สุด 3 ตัวแรกอย่าง MTC SAWAD และ TIDLOR อย่างไรก็ตาม ดอกเบี้ยขาขึ้นก็จะทำให้ประชาชนมีภาระจ่ายมากขึ้น จนท้ายที่สุดก็ต้องหันไปพึ่งบริษัทลีสซิ่งเหล่านี้อยู่ดี หมายความว่าธุรกิจลีสซิ่งยังสามารถเติบโตด้วยการขยายตัวในแนวราบได้นั่นเอง นี่ยังไม่รวมการที่ราคาหุ้นของทั้ง 3 ที่ ต่างก็ปรับราคาลงมามาก จนทำให้การลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้กลับมาดูน่าสนใจมากขึ้น ดังนั้น ธุรกิจลีสซิ่งจึงน่าจะยังได้ไปต่อ
 

*** ส่วนทางหุ้นค้าปลีกอย่าง CPALL MAKRO HOMPRO CRC และ BJC ดูเหมือนว่า อาจจะเจอะกับปัญหาในเรื่องกำลังซื้อของประชาชนที่ลดลงไปบ้าง แต่ท้ายที่สุดของที่มันยังต้องกินต้องใช้ยังไงก็ยังจำเป็นอยู่ดี ดังนั้น ถึงแม้ว่าในช่วงแรกหุ้นกลุ่มนี้ดูเหมือนว่าอาจจะได้รับผลกระทบอยู่บ้างจากปัญหาเรื่องความเชื่อมั่น แต่ในท้ายที่สุดเจ๊เมาธ์ก็มองว่าไม่ใช่ปัญหาในระยะยาวที่จะต้องเก็บเอามาคิดให้วุ่นวายใจ เพราะถ้าเศรษฐกิจโดยร่วมฟื้น...หุ้นกลุ่มนี้ก็จะฟื้นตัวตามไปด้วยอยู่ดี

 

*** ในที่สุดผลการดำเนินงานของ KEX ก็ขาดทุนตามที่หลายคนรวมถึงเจ๊เมาธ์เคยวิจารณ์เอาไว้ เพราะถึงแม้บริษัทฯ จะมีรายได้เพิ่มขึ้นมาเนื่องจากการทำการตลาดเชิงรุก ที่มีทั้งการเพิ่มจำนวนสาขาเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้มากขึ้น การลดค่าบริการตัดราคาคู่แข่งเพื่อขยายฐานลูกค้าใหม่ และสร้างมาร์เก็ตแชร์ให้เพิ่มขึ้น ซึ่งแนวทางการทำตลาดที่ว่ามาทั้งหมดนี้ เจ๊เมาธ์เคยบอกไปแล้วว่า เป็นมุมมองการลงทุนที่น่าจะมาจากบริษัทแม่ของ KEX ซึ่งมีเงินทุนหนา...กล้าทุ่มตลาดและรอเวลาได้ ซึ่งกว่าที่การทำธุรกิจแบบที่บริษัทแม่ของ KEX จะเห็นผล ก็น่าจะต้องรอเวลาไปอีกนาน
 

แต่ปัญหากลับมาอยู่ที่ว่านักลงทุนชาวไทยไม่ชอบรอเวลา รวมไปถึงไม่ต้องการเห็นบริษัทที่ลงทุนแล้วมีผลงานที่ขาดทุนซ้ำซากแบบที่ KEX กำลังเป็นอยู่ ดังนั้น เจ๊เมาธ์จึงขอย้ำคำเดิมว่า สำหรับหุ้นอย่าง KEX ถ้ายังไม่มีสัญญาณก็ไม่จำเป็นที่จะต้องไปยุ่งหรือไปสนใจนะคะ หุ้นดีๆ ในตลาดฯ ยังมีให้เลือกอีกเยอะเจ้าค่ะ
 

*** ถ้าจะถามว่า SABUY ดีไหม...ก็คงต้องตอบว่า “สบายดี” แต่ถ้าจะถามว่าราคาหุ้นของ SABUY จะสามารถกลับขึ้นไปถึงราคา 38.00 บาท ซึ่งเป็นราคาหุ้นสูงที่สุดที่เคยทำเอาไว้ได้หรือเปล่า เรื่องนี้น่าจะตอบยากอยู่พอสมควร อย่างแรกคือ กำไรจากผลการดำเนินงานที่สูงกว่า 650% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อน ทำได้แค่ทำให้ราคาหุ้นปรับฐานขึ้นมาเกาะอยู่ที่ฐานราคาเพียง 20 บาท นิดๆ เท่านั้น ขณะเดียวกันกำไรที่โตขึ้นนี้ส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มรายการกำไร จากการวัดมูลค่าเงินลงทุนในตราสารทุนเข้าไปด้วย ซึ่งเงินลงทุนที่ว่า นี้ไม่ใช้กำไรที่มาจากการประกาศดีลธุรกิจเยอะแยะอย่างที่เคยประกาศเอาไว้ และหากไม่ไถ่ถอนออกมา ก็ไม่น่าจะเรียกว่าเป็นกำไรจริงๆ 
 

ส่วนอย่างที่สองคือ อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทฯ อยู่ที่ 28.4% ลดลงจาก 46.5% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงจาก 30.7% จากไตรมาสที่ผ่านมา หมายความว่าความสามารถในการทำกำไรถดถอยลงไป ซึ่งเป็นโจทย์ท้าทายในไตรมาสต่อๆ ไป ว่าจะยกขึ้นมาได้เหมือนที่เคยเป็นหรือไม่ แต่กำไรที่ทำได้ก็ถือว่า ฝีมือไม่เบา
 

ดังนั้น ถ้าจะบอกว่าสบายดีจริงๆ แล้วก็คงจะต้องดูฝีมือการบริหารจัดการของ CEO ชูเกียรติ รุจนพรพจี ว่าจะสามารถทำให้สบายดีขึ้นมากกว่านี้ได้อีกมั้ยเจ้าค่ะ 

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,809 วันที่ 14 - 17 สิงหาคม พ.ศ. 2565