Zip (หาย) mex โดมิโน่ลูกใหม่ และ PAE อดีตหุ้นเครือชินวัตร

21 ก.ค. 2565 | 22:30 น.

คอลัมน์เมาธ์ทุกอำเภอ by…เจ๊เมาธ์

*** ตลาดหลักทรัพย์ฯ ประกาศเพิกถอนหุ้น PAE ออกจากตลาดฯ ถือเป็นการสิ้นสุดความเป็นบริษัทจดทะเบียนที่อยู่ในตลาดมา 26 ปี นับตั้งแต่เข้าจดทะเบียน ก.พ.2539 กำลังจะเปิดให้ซื้อขายหุ้นครั้งสุดท้ายด้วยบัญชี Cash Balance ระหว่าง 1-9 สิงหาคม 2565
 

ถ้ายังจำกันได้  PAE ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา บริษัทแห่งนี้เคยอยู่ภายใต้เงื้อมือของกรรมการผู้จัดการที่ชื่อ รัตนพล วงศ์นภาจันทร์ หรือ “ซัน” ลูกชาย นางเยาวเรศ ชินวัตร โดย รัตนพล เคยถือหุ้นอยู่ใน PAE อยู่มากถึง 11.34% ส่งผลให้ราคาหุ้นถูกดันขึ้นไปสูงถึง 3 บาทกว่าๆ ในช่วงปลายปี 2555 ภายหลังจากการเข้ามา ของรัตนพล ราคาร่วงลงไปถึงจุดต่ำสุดที่ 0.07 บาท ก่อนที่จะถูกขึ้นเครื่องหมาย SP พักการซื้อขายเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2559 หลังจากที่ “รัตนพล” ทยอยแบ่งขายหุ้นออกไปจนหมด
 

เจ๊เมาธ์จะไม่บอก...หรือไม่โทษว่ามีใครเข้ามาดูด หรือ เข้ามาถลุงจนบริษัทเจ๊ง แต่บอกได้ว่า การที่บริษัทซึ่งมีอายุมากกว่า 40 ปี ต้องถูกเพิกถอนจากการขาดทุนสะสมเกือบ 3 พันล้านบาท รวมถึงท้ายที่สุด...การที่บริษัทมีจำนวนผู้ถือหุ้นรายย่อยในอัตราส่วนที่มากกว่า 93% (10,671 ราย) และผู้ถือหุ้นใหญ่ที่เหลือ ก็ถือหุ้นกระจายอยู่คนละแค่ไม่กี่เปอร์เซ็นต์ มันไม่ใช่เรื่องปกติแน่นอน แม้ว่าท้ายที่สุดช่วงปลายปี 2564 ทาง PAE จะพยายามระดมทุนการเสนอขายให้ผู้ถือหุ้นเดิมในสัดส่วน 1 หุ้นเดิมต่อ 8 หุ้นใหม่ ราคา 0.015 บาท/หุ้น
 

แต่เมื่อมีผู้ใช้สิทธิ์เพียง 20% หรือ 3,871.40 ล้านหุ้น จากหุ้นที่เสนอขายจำนวน 18,295.70 ล้านหุ้น ทำให้มีเงินเข้ามาเพียง 58 ล้านบาท ซึ่งไม่พอกับการชำระหนี้ และท้ายที่สุดเงิน 58 ล้านบาทที่ว่านี้ ได้กลายเป็นเงินก้อนสุดท้ายที่บริษัทฯ ได้ดูดออกจากกระเป๋าของผู้หุ้น เพื่อเอาไปแบ่งให้ใครบ้างก็ไม่รู้ ก่อนที่ในท้ายที่สุดบริษัทแห่งนี้จะหายไปจากตลาดฯตลอดกาล


 

*** เจ๊เมาธ์เคยตั้งข้อสังเกตไว้ว่า ARIN อาจกลายเป็นหนึ่งในหุ้นถูกดันราคาขึ้นมาเพื่อรองรับการเลือกตั้งใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้น ล่าสุดในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ก็มีการนำเรื่องของหุ้นร้อนอย่าง ARIN มาพูดถึง โดยเรื่องแรกคือ การที่หุ้นตัวนี้มีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี (MFC) เพื่อ สุชาติ  ชมกลิ่น ซึ่งถือหุ้นใหญ่อยู่ 13.33% มีการขยับราคาอย่างร้อนแรง ขณะที่อีกเรื่องเป็นประเด็นพูดถึงคือ เม็ดเงินส่วนหนึ่งที่มาจากกองทุนประกันสังคม เข้าไปลงทุนในกิจการที่มีความเสี่ยง ขณะที่ สุชาติ ชมกลิ่น ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ซึ่งเกี่ยวข้องกับกองทุนประกันสังคมอยู่ด้วย
 

เจ๊เมาธ์ยังคงยืนยันว่า เจ๊ไม่ได้บอกว่า คุณสุชาติ จะมีส่วนเกี่ยวข้องในการทำราคาหุ้นเพื่อเตรียมเงินไว้ สำหรับการเลือกตั้งใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้นแต่อย่างใด เพียงแต่สิ่งที่เจ๊เมาธ์จะบอกก็คือ มีหุ้นที่เกี่ยวข้องกับนักการเมืองหลายตัวดูมีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจก็เท่านั้น ส่วนจะเป็นใครกำลังระดมเงินหรือไม่...เจ๊เมาธ์ไม่รู้เรื่องด้วยจริงๆ เจ้าค่ะ อิอิอิ
 

***  ราคาหุ้นของ MEGA CBG และ OSP ปรับราคาลงทันทีหลังจากที่รัฐบาลเมียนมามีคำสั่งให้บริษัท และผู้กู้ยืมเงินรายย่อยระงับการจ่ายหนี้ ทั้งเงินต้น และ ดอกเบี้ยแก่เจ้าหนี้ต่างประเทศ เพื่อรักษาปริมาณทุนสำรองเงินตราต่างประเทศที่ลดลง ส่งผลให้ MEGA ซึ่งมีรายได้จากเมียนมา คิดเป็น 30-35% ขณะที่ทาง CBG และ OSP ซึ่งมีสัดส่วนรายได้จากเมียนมาอยู่ราว 10% ของรายได้ทั้งหมด ได้รับผลกระทบด้วยตามลำดับ 
 

แต่สำหรับเจ๊เมาธ์...เจ๊กลับมองว่า การพักการชำระหนี้ที่ว่านี้ เป็นแค่ผลกระทบทางจิตวิทยาในระยะสั้นเท่านั้น ส่วนหนึ่งก็มาจากธุรกิจของทั้ง MEGA CBG และ OSP เป็นเพียงเรื่องการค้าข้ามชาติ ซึ่งไม่เกี่ยวกับเรื่องของการกู้ยืมเงินแต่อย่างใด ขณะที่อีกเรื่องคือ การที่ราคาหุ้นของทั้ง 3 บริษัทที่ต่างก็กำลังขยับราคาอย่างโดดเด่น ทำให้มีความอ่อนไหวต่อการถูกขายทำกำไร ดังนั้น เมื่อมีเรื่องอะไรเข้ามากระทบบ้างก็ส่งผลให้ถูกขายทำกำไรเท่านั้นเอง ไม่มีอะไรมากไปกว่านี้เลยเจ้าค่ะ
 

*** ย้ำอีกครั้งว่าหุ้นธนาคารอย่าง KBANK BBL SCB KTB และ TTB เป็นกลุ่มหุ้นที่น่าสนใจ ล่าสุดการที่ TTB แจ้งผลการดำเนินงานว่า ไตรมาสที่ 2/65 มีกำไรเพิ่มขึ้น 35% จากรายได้ของค่าธรรมเนียมที่เพิ่มมากขึ้น ก็ยิ่งทำให้หุ้นในกลุ่มที่ยังไม่แจ้งผลการดำเนินงานมีความน่าสนใจมากขึ้น เพราะถึงแม้จะมีแรงกดดันมาจากหลายปัจจัยที่รุมเข้ามามาก แต่ถ้าหากเปิดใจมองและตั้งรับด้วยการแบ่งไม้เก็บดีๆ เจ๊เมาธ์ก็รับรองได้เลยว่า หุ้นกลุ่มธนาคารพวกนี้ยังไปต่อได้ เพราะถ้าคิดมาก...และรู้มากเกินไปบางครั้งก็ทำให้ไม่กล้าและไม่อยากทำอะไรด้วยเช่นกันเจ้าค่ะ
 

*** ช็อก !!! บรรดาสาวกเทรดเงินคริปโต เมื่อศูนย์ซื้อขายและแพลตฟอร์ม Zipmex ระงับการถอนคริปโตและเงินบาทชั่วคราว ...เอาล่ะสิ เกิดอะไรขึ้นกับบริษัทแห่งนี้ ถึงกับประกาศขายกิจการ เพื่อหาเงินมาคืนนักลงทุน ปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ต่างอะไรกับแชร์ลูกโซ่ เมื่อเงินปลายทางมีปัญหา ความเสียหายก็เหมือนโดมิโน่ ดึงกันล้ม ...ตัวเลขความเสียหายครั้งนี้ ยังประเมินตัวเลขไม่ได้ แต่ไม่น่าจะน้อยกว่า 1,000 ล้านบาท ความเสียหายครั้งนี้ จะไม่เกิดขึ้น ถ้า Zipmex ไม่นำเหรียญคริปโตของลูกค้า ออกไปให้ Zipmex ในสิงคโปร์ ไปบริหาร ปล่อยให้กับบริษัทที่ล้มละลาย ซึ่งก็ไม่ผิดอะไรกับแบงก์รัฐ ที่บริหารเงินประชาชนผิดพลาด จนแบงก์ล้ม
 

สำหรับงบการเงิน Zipmex นำส่งปี 2564 สินทรัพย์รวม 178,592,151 บาท เพิ่มขึ้น 431% รายได้รวม 86,881,208 บาท เพิ่มขึ้น 878% รายจ่ายรวม 78,404,920 บาท เพิ่มขึ้น 444% ผลประกอบการเป็นกำไร 9,579,404 บาท เพิ่มขึ้น 273% 

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,803 วันที่ 24 - 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2565