ผู้ป่วยด้วยอาการ Culture Shock

14 ก.ย. 2567 | 02:10 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ก.ย. 2567 | 05:14 น.

ผู้ป่วยด้วยอาการ Culture Shock คอลัมน์ ชีวิตบั้นปลายของชายชรา โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

เมื่อบ่ายวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ขณะที่ผมกำลังนั่งอ่านหนังสืออยู่ที่บ้าน ได้มีเสียงโทรศัพท์เข้ามาที่เครื่องโทรศัพท์มือถือผม เป็นสายของน้องรักที่เคยเรียนหนังสือด้วยกันมาสมัยปริญญาตรี เธอกล่าวด้วยอาการตื่นเต้นว่า “พี่พอจะมีเวลาว่างมั้ย หนูขอรบกวนเวลาพี่หน่อย” ผมจึงบอกไปว่าพูดได้เลยครับ เธอจึงเล่าว่า ลูกผู้พี่ท่านหนึ่งของเธอ ตอนนี้ได้มีปัญหาติดอยู่ที่สนามบิน ณ กรุงปักกิ่ง ไม่สามารถเดินทางกลับมาไทยได้ ตอนนี้ได้ถูกส่งตัวกลับไปอยู่ที่โรงพยาบาล แต่เนื่องจากไม่สามารถพูดภาษาจีนได้ จึงไม่สามารถบอกได้ว่าอยู่ที่โรงพยาบาลไหน จึงอยากขอความช่วยเหลือจากผม ให้โทรศัพท์ไปพูดคุยกับเจ้าหน้าที่สนามบินที่กรุงปักกิ่งและเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลให้หน่อย ผมจึงขอรายละเอียดถึงวัตถุประสงค์ในการเดินทางของพี่เอ(นามสมมุติ) เพื่อจะได้ช่วยเหลือ ในฐานะที่ผมสามารถพูดภาษาจีนกลางได้ น่าจะช่วยคุณเอได้ ถ้ารู้สาเหตุที่แท้จริงครับ

เธอจึงเล่าไปว่า คุณเอ เธอมีบุตรสาวอยู่คนหนึ่ง ซึ่งเป็นเด็กที่เรียบร้อย และเรียนเก่งมาก ตอนที่อยู่ที่กรุงเทพฯเธอสามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศไทยได้หลายสถาบัน แต่เธอไม่เลือก เพราะเธอมีใจรักในภาษาจีนเป็นอย่างมาก จึงสอบชิงทุนไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยในปักกิ่ง ซึ่งเธอก็สมหวัง มหาวิทยาลัยชั้นนำของปักกิ่งได้ให้ทุนการศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีให้แก่เธอ แต่พอไปถึงที่กรุงปักกิ่งได้เพียงไม่ถึงสัปดาห์ เธอก็มีอาการทางประสาทอย่างรุนแรง จนทำให้ทางโรงเรียนได้ประสานมาทางผู้ปกครอง ขอให้มารับตัวเธอกลับประเทศ พ่อและแม่ของเธอจึงเดินทางไปยังกรุงปักกิ่ง เพื่อรับตัวเธอกลับมา แต่พอมาถึงสนามบินกรุงปักกิ่ง เธอมีอาการไม่ปกติเกิดขึ้น จึงทำให้เจ้าหน้าที่สนามบินไม่อนุญาตให้เดินทางได้ จึงติดอยู่ที่สนามบิน ในขณะที่ทั้งครอบครัวของเธอ ไม่มีคนพูดภาษาจีนได้เลย น้องที่โทรมาหาผม จึงอยากให้ผมได้โทรศัพท์ไปคุยกับทางเจ้าหน้าที่สนามบิน เพื่อทำการช่วยเหลือดังกล่าว

ผมเห็นว่านี่เป็นเรื่องที่น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีมากๆ สำหรับผู้ที่มีบุตรหลานที่จะไปเรียนยังต่างประเทศ เพราะจะได้นำมาเป็นบทเรียนที่ดีได้ จึงขออนุญาตนำเรื่องราวนี้มาเล่าสู่กันฟัง ในฐานะที่เคยมีพบเห็นมาหลายครั้ง และมีประสบการณ์ในลักษณะเช่นนี้มาก่อน เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับเด็กและเยาวชนไทย ที่ทุกเรื่องราวนี้เป็นความจริง แต่เพื่อไม่ไปละเมิดสิทธิของทุกท่าน ต้องขออนุญาตไม่เปิดเผยชื่อจริงของทุกท่าน จะขอเอ่ยเพียงนามสมมุติเท่านั้นนะครับ

อาการที่กำลังเกิดขึ้นกับน้องนักศึกษาท่านนี้ เป็นอาการที่เรียกว่า “Culture Shock” ซึ่งอาการเช่นนี้ถ้าหากไม่รุนแรง ก็จะมีอาการซึมเศร้า หรือมีอาการเข้ากับสังคมในขณะนั้นไม่ได้ บางคนอาจจะมีอาการเห็นคนอื่นไม่เป็นมิตรกับตนเอง มองทุกอย่างรอบตัวไปในด้านลบหมด บางคนก็มีอาการหลอนเล็กๆ แต่ถ้าอาการหนัก ก็จะเริ่มเป็นอาการจิตหลอน บางคนก็จะมีอาการหวาดระแวง บางคนก็จะเป็นประสาทฟุ้งเฟ้อไปเลยครับ ถ้าหากรุนแรงมากๆ ก็จะทำอัตวินิบาตกรรมหรือฆ่าตัวตายได้เลยครับ

ในอดีตผมเองก็เคยมีเพื่อนคนหนึ่ง ที่ฐานะทางบ้านอยู่ในขั้นที่ดีมาก ที่บ้านประกอบอาชีพเป็นเจ้าของโรงงานใหญ่โตที่สมุทรปราการ เขาเคยขึ้นไปเรียนอยู่บนดอยแม่สลอง เป็นรุ่นน้องผมสองปี ช่วงที่เรียนอยู่บนดอยก็เรียนได้ขนาดปานกลาง ไม่ได้เรียนเก่งมากนัก แต่พอไปเรียนต่อที่ไต้หวัน ได้เข้าไปเรียนที่โรงเรียนพาณิชย์ชั้นนำของไต้หวัน ที่มีนักเรียนชาวจีนโพ้นทะเลไม่กี่คน ทำให้เกิด Culture Shock ในเวลาต่อมา จนกระทั้งครอบครัวทางบ้านต้องไปรับตัวกลับมารักษาที่ประเทศไทย หลังจากนั้นก็ไม่ได้ติดต่อกับเพื่อนๆอีกเลยครับ

อีกเคสหนึ่งที่เราต้องเคยได้รับทราบข่าวสารมาบ้าง คือรายที่มีการกระโดดอาคารเรียนเสียชีวิต ของนิสิตที่ได้รับทุนการศึกษาเรียนดีประจำตำบล และได้เข้ามาศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยชั้นนำในกรุงเทพฯเมื่อหลายปีก่อน ต่อมาเกิดอาการคลุ้มคลั่งจนขึ้นไปกระโดดตึกตาย แต่ข่าวสารก็ออกได้เพียงวันเดียว แล้วก็หายไปจากหน้าข่าว เลยไม่มีคนตามอีกเลย อาการดังกล่าวผมเชื่อว่าเป็นอาการของ Culture Shock เช่นกันครับ

ในขณะที่น้องที่ไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยชั้นนำในกรุงปักกิ่งยังโชคดี ที่ต่อมาได้รับการช่วยเหลือจากหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นคุณโบ ซึ่งผู้ร่วมรายการวิทยุ อสมท. ในรายการ Good Morning ASEAN เจ้าหน้าที่สถานทูตไทยประจำสาธารณรัฐประชาชนจีน และเจ้าหน้าที่สนามบิน ที่ช่วยกันประสานงาน จนกระทั่งประสบผลสำเร็จ ด้วยการนำตัวเธอกลับมายังประเทศไทยโดยสวัสดิภาพครับ ผมต้องกราบขอบพระคุณทุกท่านมา ณ ที่นี้ด้วย

อันที่จริงถ้าหากทางผู้ปกครองได้มีการเตรียมตัวน้อง ก่อนที่จะเดินทางไปเรียนต่อยังต่างประเทศ เพื่อให้ได้ปรับตัวก่อนออกเดินทาง หรือก่อนที่จะไปรับตัวน้อง ที่กำลังประสบปัญหา Culture Shock แม้อาการจะอยู่ในขั้นรุนแรงหรือไม่ก็ตาม หากได้ประสานมาก่อนที่จะเดินทางไปรับตัวน้องกลับ คงจะไม่ต้องเกิดดราม่ามากมายเลย เพราะการที่จะเดินทางไปยังประเทศที่ท่านไม่คุ้นเคย ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรม หรือการใช้ชีวิตของคนในแต่ละประเทศ ย่อมมีความแตกต่างกัน พอเด็กเดินทางไปพบกับสิ่งใหม่ๆในชีวิต ที่เขาเองไม่เคยคาดไว้ก่อนล่วงหน้า อีกทั้งตัวเด็กเองไม่มีภูมิคุ้มกันที่ดีพอ เช่น ในขณะอยู่ที่บ้านในประเทศไทย เป็นลูกที่ทางบ้านคอยประคบประหงมเป็นอย่างดี ไม่เคยมีประสบการณ์ในการอยู่ตัวคนเดียว หรือไม่สามารถช่วยตัวเองได้ พอไปพบสิ่งใหม่ๆที่ไม่เคยพบเจอมาก่อน สามารถเกิดอาการ Culture Shock ได้ตลอดเวลาเลยครับ

เมื่อเวลาที่จะไปรับตัวเด็กกลับมา เราต้องเข้าใจก่อนว่า ที่ต่างประเทศไม่เหมือนอยู่ที่ประเทศไทย โดยเฉพาะที่ประเทศจีน เขาไม่ค่อยมีการใช้เงินสดกันแล้ว ถ้าท่านไม่มี WeChat Pay หรือ Alipay การจับจ่ายใช้สอยก็แทบจะเป็นไปไม่ได้ อีกประการหนึ่งก่อนออกเดินทาง ไม่ว่าจะไปประเทศใดก็ตาม ต้องศึกษาก่อนว่า ที่นั่นเขาใช้เครื่องมือการสื่อสารประเภทไหนได้บ้าง เช่น ใช้โทรศัพท์ หรือใช้ Applications Line Facebook Viber WeChat หรือไม่อย่างไร? อีกทั้งการเดินทางไปรับผู้ป่วย ควรอย่างยิ่งที่จะมีการเข้าไปขอคำแนะนำจากแพทย์ก่อนออกเดินทาง หรือถ้าจะดีควรมีแพทย์เดินทางไปด้วย ก็จะดีที่สุด เพราะแพทย์ท่านจะได้เตรียมยารักษาไปด้วย เพื่อจะได้มียาบางตัวที่หาซื้อไม่ได้ในประเทศนั้น แต่ตัวผู้ป่วยเคยชินที่จะใช้ยาจากไทย เพราะอาการหากรุนแรงมาก ทางสนามบินหรือสายการบิน เขามีสิทธิที่จะปฏิเสธการเดินทางได้ตลอดเวลา หากเรามีแพทย์เดินทางไปด้วยหรืออย่างน้อยที่สุด ควรจะมีคนที่จะเป็นล่ามเดินทางไปด้วย ก็น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดครับ