คัดกรองบัณฑิตในกลุ่มแรงงานเมียนมา          

08 ธ.ค. 2567 | 23:00 น.

คัดกรองบัณฑิตในกลุ่มแรงงานเมียนมา คอลัมน์ เมียงมอง เมียนมา โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

เมื่อบ่ายวันเสาร์ที่ 7 ที่ผ่านมา ผมได้มีอาคันตุกะ 3 ท่าน ที่แวะมานั่งเสวนากับผมถึงสถานการณ์ปัจจุบันของเมียนมา มีหลายคำถามที่ท่านได้สอบถามความคิดเห็นของผม ซึ่งผมคิดว่าไม่ได้เป็นความลับ อีกทั้งยังเป็นคำถามที่น่าสนใจ พอที่จะสามารถนำมาเล่าให้แฟนคลับรับฟังได้ เลยต้องขออนุญาตท่านขอนำมาเขียน เพื่อเล่าสู่กันฟังนะครับ

เรื่องแรกท่านถามถึง คือเรื่องราวของแรงงานเมียนมา ที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย ที่ปัจจุบันนี้มีจำนวนมาก ที่เป็นแรงงานที่เข้ามาอย่างผิดกฎหมาย ทั้งๆ ที่ทางการไทยเราก็พยายามอย่างยิ่ง ที่จะเปิดรับให้เข้ามาอย่างถูกต้องตามกฎหมายมาโดยตลอด เรื่องดังกล่าวนี้ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ทางการไทยก็จะเปิดรับให้แรงงานที่ผิดกฎหมาย ได้มีโอกาสขออนุญาตให้มาลงทะเบียนได้

โดยดำเนินการขอให้ผู้ประกอบการ ที่มีแรงงานต่างด้าวทั้ง 4 ประเทศ เช่น เมียนมา ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ที่มีบัตรสีชมพูหรือใบ Pink Card อยู่แล้วก็สามารถมาต่ออายุได้ กับที่ยังไม่เคยมีมาก่อนก็มายื่นขอใบอนุญาตใหม่ได้ ตามประกาศของสำนักงานบริหารการทะเบียนและส่วนสัญชาติแรงงาน ฉบับที่ มท.0309.8/ว ตามมติของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2567 เรื่องการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ถ้าสนใจก็เข้าไปดูรายละเอียดโดยสามารถเข้าดูได้ในเว็บไซต์นะครับ

จากการประกาศดังกล่าว ผมเชื่อว่าจะมีแรงงานใหม่ที่ลงชื่อไปแล้วไม่น้อยกว่าล้านคนแน่นอน ส่วนแรงงานเก่าที่ใบอนุญาตหมดอายุในปีนี้ ก็คงมีไม่น้อยเช่นกัน ดังนั้นผู้ประกอบการที่มีแรงงานต่างด้าวทั้ง 4 ประเทศที่ทำงานอยู่ ต้องรีบดำเนินการโดยด่วนนะครับ สิ่งที่ผมมีความกังวลใจ คือกลุ่มที่ไม่ได้ทำบัตรชมพูหรือใบ Pink Card แต่ได้มีการทำใบอนุญาตทำงานหรือ Work Permit ที่ผมคิดว่าคงจะมีบางส่วนที่ยอมทิ้ง Work Permit แล้วมาขอทำบัตรสีชมพู เพราะกลุ่มนี้เท่าที่ผมได้สัมผัสมา เขาต้องการส่งเงินกลับประเทศ 25% ของเงินเดือน และต้องเสียภาษีให้แก่รัฐบาลของเขาเต็มๆ

ในขณะที่ตามกฎระเบียบของการขอ Work Permit ของทางการเรา จะต้องมีเงินเดือนตามประกาศของคณะกรรมการค่าจ้างแรงงานต่างด้าว ในการที่จะยื่นขออนุญาต Work Permit ปัจจุบันนี้ ไม่ค่อยสอดคล้องกับความเป็นจริง ด้วยสาเหตุของ Supply for Labor มีมากกว่า Demand for Labor นั่นเอง นี่จึงเป็นเหตุผลให้นายจ้างบางคน ไม่ได้จ่ายค่าจ้างตามที่ทางการกำหนด ดังนั้นเขาจึงไม่มีความจำเป็นต้องจ่ายเงินค่าทำ Work Permit และบางคนก็ไม่อยากเสียภาษีนั่นเองครับ

มาดูว่าเหตุผลของ Supply for Labor มีเยอะ ก็เป็นเพราะในช่วงปีที่ผ่านมา ทางการเมียนมาได้ประกาศการเข้ารับการเกณฑ์ทหาร ที่กำหนดให้ผู้ชายที่มีอายุตั้งแต่ 18-25 ปีทุกคนต้องเข้ารับราชการทหาร และผู้หญิงอายุตั้งแต่ 18-28 ปี หากไม่ได้มีบุตรหรือแต่งงานแล้ว ก็ต้องเข้ารับราชการทหารเช่นกัน ทำให้มีแรงงานที่ส่วนใหญ่เป็นคนกลุ่มนี้ หลบหนีออกนอกประเทศกันเยอะ

บางคนที่สามารถใช้ข้ออ้างในการเดินทาง ด้วยการออกไปเรียนหนังสือต่อที่ต่างประเทศได้ ก็จะขออนุญาตออกไปอย่างถูกต้อง บางคนก็ใช้ข้ออ้างอื่นๆ ก็มี แต่ส่วนใหญ่จะหลบหนีออกมาทางด้านชายแดน ซึ่งชายแดนที่หลบหนีง่ายที่สุด และประเทศที่มีสมัครพรรคพวกหรือญาติพี่น้อง เพื่อนพ้องในหมู่บ้าน อาศัยอยู่ก่อนหน้านี้แล้วมากที่สุด แน่นอนก็คือไทยแลนด์แดนสวรรค์นี่แหละครับ 

ดังนั้นในปัจจุบันนี้ เราจึงเห็นในตลาดแรงงานทั่วไป เท่าที่ผมสังเกตุเห็นจะมีกลุ่มแรงงานชาวเมียนมา ที่เดินทางเข้ามาทำงานในบ้านเราเยอะมาก และในปีที่ผ่านมาผมได้พูดคุยกับเพื่อนที่ทำโปรแกรม YouTube ภาษาเมียนมารายใหญ่ที่สุดรายหนึ่ง มีผู้เข้าชมเกือบ 9 ล้านคน ถ้าให้ผมทายผมก็ทายว่า ณ เวลานี้น่าจะมีเกือบๆ 10 ล้านคนเข้าไปแล้ว ซึ่งผู้ที่จะติดตามเข้าชมทั้งหมด แน่นอนว่าจะต้องเป็นชาวเมียนมาเท่านั้น เพราะคนไทยหรือคนชาติอื่น คงไม่มีคนเข้าใจภาษาเมียนมาได้ และในประเทศเมียนมาเอง ก็ไม่ได้มีการเข้าถึงโปรแกรมนี้แน่ๆ ครับ ดังนั้นหากเราคิดเสียว่าผู้เข้าชมที่แท้จริง น่าจะอยู่ที่หลัก 6-7 คนอย่างไม่ต้องสงสัยเลยครับ

ในขณะที่แรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย จากข้อมูลตามประกาศของกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ทั้งแรงงานตลอดชีพ แรงงานคนต่างด้าวตามมาตรา 59 (ประเภททั่วไป) มาตรา 59 (ประเภทนำเข้าตาม MOU) มาตรา 62 (ประเภทส่งเสริมการลงทุน) มาตรา 63/1 (ประเภทชนกลุ่มน้อย) มาตรา 63/2 (ประกาศตามมติของคณะรัฐมนตรี) มาตรา 64 (ประเภทแรงงานตามฤดูกาล) ถ้าจะเอาแค่แรงงานชาวเมียนมาอย่างเดียว รวมเบ็ดเสร็จแล้วมีทั้งหมด 2,289,057 คน (ไม่รวมประเภทชนกลุ่มน้อยอีก 92,791คน) ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าสนใจมากครับ

ถ้าเรามาเจาะลึกลงไป เราก็จะพบว่ามีแรงงานที่ไม่ได้ลงทะเบียนกับภาครัฐของไทยเรา น่าจะมีมากกว่า 4 ล้านคนเลยทีเดียว การเปิดรับให้มาลงทะเบียนในครั้งนี้ ผมก็ยังคงเชื่อว่าต้องมีบางส่วน ที่ไม่ได้มารายงานตัว เพราะจะมีเพียงคนที่สนใจในข่าวสารเท่านั้น ที่จะทราบข่าวการรับการลงทะเบียนในครั้งนี้ และหากเราจะมองลงไปให้ละเอียดกว่านั้น ผมก็คิดว่าแรงงานชาวเมียนมาที่กำลังทำงานอยู่ในองค์กรเอกชนหลายๆ แห่ง จะมีบางส่วนที่เป็นปัญญาชน (กลุ่มคนที่มีความรู้ตั้งแต่ปริญญาตรีขึ้นไป)

คนกลุ่มนี้น่าสนใจมาก เพราะถ้าพวกเราสังเกตุดูให้ดี จะเห็นแรงงานชาวเมียนมาที่ทำงานในร้านอาหารก็ดี หรือทำงานในโรงงานก็ดี จะมีคนกลุ่มนี้แฝงตัวอยู่มากทีเดียวครับ วิธีที่จะพิสูจน์ได้ง่ายๆ ท่านลองใช้ภาษาอังกฤษทดสอบด้วยการสอบถามดู เพราะที่ประเทศเมียนมา เด็กที่นั่นหากได้เข้าศึกษาในสถานการศึกษาขั้นสูงของเขา เขาจะสามารถสื่อสารภาษาต่างประเทศได้อย่างดีมาก ผมในฐานะเคยสอนหนังสือเด็กๆ ในมหาวิทยาลัยมาก่อน จึงเชื่อว่าภาษาอังกฤษของเขาน่าจะดีกว่าเด็กไทยเราครับ 

หากทางการของไทยเรา สามารถทำการจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมา แล้วทำการคัดกรองคนเหล่านั้นออกจากกลุ่มของแรงงานไร้ทักษะ (Non skills Labor) เราจะได้แรงงานทักษะ (Skills Labor) โดยที่เราไม่ต้องลงทุน อีกทั้งไม่ต้องสูญเสียงบประมาณแผ่นดินเลยครับ