KEY
POINTS
ช่วงนี้มีกระแสมากมายเกี่ยวกับการพัฒนา “หุ่นยนต์” ของจีน โดยหนึ่งในข่าวใหญ่ก็ได้แก่ การจัดแข่งขันฮาล์ฟมาราธอนหุ่นยนต์เสมือนมนุษย์ (Humanoid) ณ กรุงปักกิ่ง ประเด็นนี้มีนัยสำคัญอะไร และจะเป็นเช่นไรในอนาคต เราไปคุยกันครับ ...
ในราว 07.30 น. ของวันเสาร์ที่ 19 เมษายน 2025 ขณะที่คนไทยส่วนใหญ่ยังเพลิดเพลินอยู่ในบรรยากาศของการฉลองวันขึ้นปีใหม่ไทย แต่ที่จีนกลับกำลังตื่นเต้นกับพิธีเปิดการแข่งขันฮาล์ฟมาราธอน “ฮิวแมนนอยด์” ครั้งแรกในโลก
การแข่งขันครั้งนี้จัดขึ้นในพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยี (Beijing Economic and Technology Development Area) ที่นิยมเรียกกันในชื่อย่อว่า “อี-ทาวน์” (E-Town) ด้านซีกตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงปักกิ่ง
ย้อนกลับไปเมื่อสิบกว่าปีก่อน เวลามีโอกาสเดินทางไปส่องกิจการไฮเทคที่ “อีทาวน์” ผมก็มักแวะไปดื่มกาแฟในย่านนั้น เพื่อรอเวลานัดหมาย แต่สิ่งที่ผมได้เก็บข้อมูลเพิ่มเติมมาก็คือ การได้รับรู้พัฒนาการของ “อินเตอร์เน็ตคาเฟ่” (Internet Cafe) ที่ผู้ประกอบการวัยเยาว์ของจีนนิยมไปจับกลุ่มทำงานออนไลน์ หรือ นัดพูดคุยงาน ซึ่งเป็นที่มาของ “สตาร์ตอัพ” (Start-up) จีนในทุกวันนี้
ชื่อเสียงของอี-ทาวน์ ยังกระจายผ่านการถูกใช้เป็นสถานที่จัดการแข่งขันฮาล์ฟมาราธอน มาเป็นเวลาหลายปี โดยที่ผ่านมา งานนี้ถูกจัดขึ้นเพื่อเป็นเวทีแข่งขันนักวิ่งที่เป็น “มนุษย์” เท่านั้น แต่ปี 2025 ถือว่าเป็นปี “สุดพิเศษ” เพราะมีการแข่งขันนักวิ่งที่เป็น “หุ่นยนต์” จำนวน 20 ตัวจากทีมของมหาวิทยาลัยชั้นนํา สถาบันวิจัย และองค์กรเอกชนต่างๆ ที่ลงแข่งขันบนระยะทางราว 21.1 กิโลเมตรคู่ขนานกับช่องทางวิ่งของมนุษย์ด้วย
การจัดแข่งขันวิ่งฮาล์ฟมาราธอนที่อี-ทาวน์ในปีนี้ จึงเป็นมากกว่าการแข่งขันวิ่งทั่วไป เพราะสถานที่แห่งนี้กำลังได้รับการยกย่องว่า เป็นแพลตฟอร์มแห่งแรกที่สำคัญสําหรับการทดสอบ จัดแสดง และส่งเสริมหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ รวมทั้งกลายเป็นเวทีที่รวบรวมหุ่นยนต์ที่มีรูปแบบและความสามารถที่หลากหลายเข้าไว้ด้วยกัน
การแข่งขันฮาล์ฟมาราธอนในครั้งนี้จึงได้รับความสนใจจากผู้ชมเป็นจำนวนมาก เพราะมีกองเชียร์นักวิ่งหุ่นยนต์เข้าร่วมเป็นสักขีพยานการแข่งขันวิ่งมาราธอนของหุ่นยนต์เป็นครั้งแรก หลายคนไปเก็บภาพถ่ายแปลกตาที่ไม่เคยเห็นมาก่อน
อาทิ หุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ที่ยืนเข้าแถวเคียงข้างนักกีฬาที่เป็นมนุษย์ที่จุดปล่อยตัว (อยู่คนละช่องทางเพื่อความปลอดภัย) การชูมือของหุ่นยนต์ ทักทายผู้ชมเมื่อถูกแนะนำตัว หรือแม้กระทั่งการกระพริบตาและส่งยิ้มของหุ่นยนต์ก่อนเริ่มการแข่งขัน
รูปร่างหน้าตาของหุ่นยนต์ที่แตกต่างกัน ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ได้รับความสนใจ เพราะบางตัวมีขนาดเล็กกระทัดรัดกว่าที่หลายคนคาด แต่ก็วิ่งได้รวดเร็วอย่างน่าประหลาดใจ ขณะที่หุ่นยนต์ตัวที่มีขนาดสูงกว่าก็มีสรีระและการทรงตัวที่ดี รูปลักษณ์ที่แตกต่างกันยังเชื่อมโยงไปถึงกลไกการสตาร์ตและรูปแบบการวิ่งที่แตกต่างกันอย่างมาก ซึ่งสะท้อนถึงความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ที่ซ่อนอยู่
ผู้ชมการแข่งขันบางส่วนให้ความเห็นว่า การแข่งขันฮาล์ฟมาราธอนของหุ่นยนต์ในครั้งนี้มีลักษณะคล้ายการแข่งรถสูตร 1 (Formula 1) ในหลายประเด็น เพราะหุ่นยนต์เหล่านี้มีทีมสนับสนุน และจุดซ่อมเพื่อให้บริการและเปลี่ยนแบตเตอรี
ประการสำคัญ การแข่งขันในครั้งนี้ยังเป็นเสมือนบททดสอบด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ ที่จะสามารถก้าวข้ามขีดจำกัดของความคล่องตัวของหุ่นยนต์ได้หรือไม่ในอนาคต
เพราะเราต้องไม่ลืมว่าหุ่นยนต์เหล่านี้ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าที่มีส่วนประกอบน้อยใหญ่รวมหลายพันชิ้น และการวิ่งฮาล์ฟมาราธอนบนระยะทางกว่า 20 กิโลเมตร เป็นการใช้งานหนักอย่างต่อเนื่องยาวนานเกือบ 3 ชั่วโมงโดยไม่ได้หยุดพัก ซึ่งถือว่าเป็นการทดสอบที่ “หฤโหด” อย่างมาก
นอกจากนี้ ตามกฎการแข่งขัน แต่ละทีมสามารถส่งเจ้าหน้าที่นำทาง วิศวกร และ ผู้บังคับหุ่นยนต์ได้รวมไม่เกิน 3 คน โดยขณะแข่งขัน เจ้าหน้าที่ดังกล่าวต้องรักษาระยะห่างจากหุ่นยนต์ราว 1 เมตร แต่ละทีมที่เข้าร่วมแข่งขันจึงมีบทพิสูจน์ ทั้งสมรรถนะด้านการกีฬา และความสามารถด้านวิศวกรรมไปพร้อมกัน
หุ่นยนต์ของแต่ละทีมต้องอาศัยระบบระบายความร้อน การออกแบบ ประเภทวัสดุ และ การประกอบชิ้นส่วน และอื่นๆ ที่มีคุณภาพและแม่นยำสูง ขณะเดียวกัน สมรรถนะด้านความทนทานของแบตเตอรีก็มีความสำคัญยิ่ง เพราะทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแบตเตอรี ทีมจะถูกตัด 10 คะแนน
ทีมหุ่นยนต์ที่เข้าร่วมแข่งขันในครั้งนี้ ให้ข้อมูลจากประสบการณ์ในสนามแข่งขันว่า ทีมงานต้องเผชิญกับความท้าทายในหลายด้าน ที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากในห้องปฏิบัติการ ไล่ตั้งแต่ถนนที่ใหญ่หลายช่องทางจราจรที่ทอดผ่านสวนสาธารณะและสะพาน พื้นผิวที่ขรุขระ เป็นลูกคลื่น ลาดชัน บางส่วนของพื้นผิวก็เป็นยางมะตอยที่แตกร้าว เต็มไปด้วยกรวด หรือมีต้นหญ้าแทรกตัวขึ้นเป็นหย่อมๆ
ลักษณะทางกายภาพของพื้นผิวถนนดังกล่าว ยังต้องการการปรับตัวของความยาว และความสูงของแต่ละก้าว ท่าทาง และการกระจายน้ำหนักในเสี้ยววินาที โดยที่หุ่นยนต์เหล่านี้มีปัญญาประดิษฐ์ติดตั้งอยู่ การใช้งานอย่างต่อเนื่องจะช่วยผลักดันให้อัลกอริธึม การเคลื่อนที่ได้เรียนรู้และพัฒนาให้ถึงขีดจำกัดของแรงบิดและความเร็ว ก่อนส่งผ่านไปยังข้อต่อส่วนต่างๆ ของหุ่นยนต์
ดังนั้น เราน่าจะเห็นองค์กรและบริษัทที่เกี่ยวข้อง นำเอาหุ่นยนต์ออกมาทดสอบทดลอง ก่อนการแข่งขันมากขึ้นในอนาคตอย่างแน่นอน
โดยผู้เชี่ยวชาญยังให้ข้อมูลที่สอดคล้องกันว่า หุ่นยนต์เหล่านี้ต้องการโครงหลักและข้อต่อแบบบูรณาการที่แข็งแกร่งและน่าเชื่อถือ การออกแบบเพื่อความทนทานในการใช้งาน กระจายความร้อนได้ดี และมีอายุการใช้งานของแบตเตอรีที่ยาวนานเป็นพิเศษสำหรับการวิ่งระยะไกลและการหลบหลีกสิ่งกีดขวาง ในระหว่างการแข่งขันดังกล่าว
หลังออกจากจุดสตาร์ต หุ่นยนต์แต่ละตัวปรับความเร็วเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งผลการแข่งขันปรากฎว่า ในด้านความเร็ว “Tiangong Ultra” (เทียนกงอัลต้า) จากทีม Tiangong “คว้าแชมป์” ในปีนี้ โดยวิ่งเข้าเส้นชัยเป็นอันดับแรกด้วยเวลา 2 ชั่วโมง 40 นาที และ 42 วินาที
นั่นเท่ากับว่า หุ่นยนต์ในปัจจุบันสามารถทำความเร็วได้ดี และใช้เวลาวิ่งในระดับที่ใกล้เคียงกับการวิ่งของมนุษย์ทั่วไป แต่ก็ยังใช้เวลามากกว่านักวิ่งอาชีพอยู่มาก เพราะปัจจุบันนักวิ่งอาชีพทำสถิติการแข่งขันฮาล์ฟมาราทอนไว้ไม่ถึงหนึ่งชั่วโมง
หลังออกจากจุดสตาร์ต “Tiangong Ultra” ก็ขยับความเร็วเพิ่มขึ้นเป็นราว 6 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และวิ่งด้วยความเร็วสูงสุดถึง 12 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยรักษาความเร็วคงที่เฉลี่ย 7-8 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเกี่ยวข้องกับการบริหารการใช้งานแบตเตอรีและลักษณะทางกายภาพของพื้นผิวถนน รวมถึงความพร้อมของทีมงานที่เป็นมนุษย์ด้วย
“Tiangong Ultra” มีความสูง 1.8 เมตร และหนัก 55 กิโลกรัม ซึ่งใกล้เคียงกับสรีระของนักวิ่งชายที่เป็นมนุษย์ ความสูงระดับดังกล่าวก็ซ่อนไว้ซึ่งความท้าทายที่การออกแบบและการผลิตต้องให้ความสำคัญกับความสมดุลในการทรงตัว
มีประเด็นอะไรที่น่าสนใจอีกบ้าง และอนาคตของหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์จะเป็นเช่นไร ติดตามต่อตอนหน้าครับ ...
หน้า 4 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 45 ฉบับที่ 4,097 วันที่ 18 - 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2568