คำสั่งระงับใช้รถแท็กซี่… เมื่อมีข้อโต้แย้ง ต้องแสวงหาข้อเท็จจริงก่อน!

28 ส.ค. 2565 | 06:07 น.

คำสั่งระงับใช้รถแท็กซี่… เมื่อมีข้อโต้แย้ง ต้องแสวงหาข้อเท็จจริงก่อน! : คอลัมน์อุทาหรณ์จากคดีปกครอง โดย...นายปกครอง หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,813 หน้า 5 วันที่ 28 - 31 สิงหาคม 2565

ปัจจุบันระบบขนส่งมวลชนในบ้านเรามีให้เลือกหลากหลายรูปแบบ ซึ่ง “รถแท็กซี่” ก็ยังเป็นที่นิยมสำหรับผู้ที่ต้องการความรวดเร็วและสะดวกสบาย และอาชีพขับรถแท็กซี่ก็นับว่าเป็นอาชีพอิสระที่น่าสนใจ

 

สำหรับโชเฟอร์แท็กซี่บางรายที่ไม่อาจซื้อรถด้วยเงินสดได้ มักจะใช้วิธีการเช่าซื้อจากบริษัทด้วยหวังว่า หลังผ่อนชำระค่าเช่าซื้อจนหมดแล้วคงได้มีโอกาสเป็นเจ้าของรถและทำกำไรจากการขับโดยที่ไม่ต้องผ่อนไปอีกสักระยะก็ยังดี แต่ก็ใช่ว่าเมื่อผ่อนหมดแล้วจะได้เป็นเจ้าของรถแท็กซี่สมหวังไปทุกราย เฉกเช่นอุทาหรณ์ที่ผมนำมาฝากผู้อ่านในวันนี้ ...  

 

 

 

เรื่องราวของคดีมีอยู่ว่า... ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ครอบครองรถยนต์รับจ้าง (รถแท็กซี่) 1 คัน โดยเช่าซื้อช่วงต่อมาจากคนรู้จักซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อเดิมจากบริษัท พ. อีกที และได้ขับรถแท็กซี่คู่ใจคันดังกล่าว หารายได้ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อจนครบถ้วน จึงไปขอโอนกรรมสิทธิ์จาก บริษัท พ. ซึ่งไม่ยอมโอนกรรมสิทธิ์ให้ เนื่องจากมีเรื่องขัดแย้งและตกลงกันไม่ได้เกี่ยวกับเงินค่าธรรมเนียมการโอน และเงินค่าใช้จ่ายที่กำหนดให้ผู้ฟ้องคดีต้องชำระให้กับทางบริษัทเป็นรายเดือน โดยผู้ฟ้องคดีเห็นว่าไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรม จึงไม่ยอมชำระ 

 

 

 

คำสั่งระงับใช้รถแท็กซี่…  เมื่อมีข้อโต้แย้ง ต้องแสวงหาข้อเท็จจริงก่อน!

 

จากนั้นผู้ฟ้องคดีก็ได้มีหนังสือขอความเป็นธรรมไปยังหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งขนส่งจังหวัด เพื่อให้ช่วยแก้ปัญหาการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถแท็กซี่คันพิพาท ที่ผ่อนชำระมาด้วยนํ้าพักนํ้าแรง

 

รวมทั้งขอให้ขนส่งจังหวัดไม่รับคำขอแจ้งระงับหรือไม่ใช้รถชั่วคราวของบริษัท พ. แต่ขนส่งจังหวัดกลับรับจดทะเบียน ไม่ใช้รถชั่วคราวเป็นเวลา 2 ปี ให้ตามคำขอของบริษัท พ. ทำให้ผู้ฟ้องคดีไม่สามารถนำรถแท็กซี่คันพิพาทไปประกอบอาชีพได้ จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้เพิกถอนการรับจดทะเบียนไม่ใช้รถชั่วคราวของขนส่งจังหวัด (ผู้ถูกฟ้องคดี) และคืนสถานะรถยนต์คันดังกล่าวให้เป็นดังเดิม

 

คดีมีประเด็นที่น่าสนใจว่า การที่ขนส่งจังหวัดมีคำสั่งรับจดทะเบียนแจ้งการไม่ใช้รถคันพิพาทชั่วคราวของบริษัท พ. ซึ่งระบุเหตุผลในคำขอว่ารถไม่พร้อมให้บริการ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่? 

 

ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า การใช้อำนาจในการรับจดทะเบียนแจ้งการไม่ใช้รถ มีลักษณะเป็นคำสั่งทางปกครอง เนื่องจากเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล ฉะนั้น การดำเนินการก่อนที่จะรับจดทะเบียนจึงถือเป็น การพิจารณาทางปกครอง 

 

ซึ่งนายทะเบียนมีหน้าที่ต้องแสวงหาและตรวจสอบข้อเท็จจริงต่างๆ ที่เห็นว่าจำเป็นแก่การพิสูจน์ความจริง โดยไม่ต้องผูกพันอยู่กับคำขอหรือพยานหลักฐานของผู้ยื่นคำขอเท่านั้น เพื่อที่จะตรวจสอบได้ว่าข้อเท็จจริงตรงตามที่ระบุไว้ในคำขอหรือไม่

 

หากพบว่าไม่เป็นความจริงหรือไม่ตรงกับเหตุผลหรือวัตถุประสงค์ในการออกคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดแล้ว ก็ไม่จำต้องดำเนินการตามคำขอดังกล่าว  ทั้งนี้ ตามความในมาตรา 28 ประกอบกับมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ซึ่งเป็นกฎหมายกลางที่กำหนดมาตรฐานในการพิจารณาทางปกครองไว้

 

การที่ บริษัท พ. ยื่นคำขอโดยระบุเหตุผลว่ารถไม่พร้อมให้บริการ ซึ่งไม่ตรงกับความเป็นจริง เนื่องจากผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ที่ครอบครองและได้ใช้รถยนต์คันพิพาทประกอบอาชีพมาตลอด อีกทั้งไม่ปรากฏพยานหลักฐานที่สามารถยืนยันได้ว่ารถยนต์คันดังกล่าว อยู่ในสภาพที่ไม่พร้อมให้บริการแต่อย่างใด กรณีจึงเป็นเจตนาที่แอบแฝงไม่ตรงกับความเป็นจริง

 

ส่วนกรณีที่ขนส่งจังหวัดอ้างว่า ไม่มีกฎหมายของกรมการขนส่งทางบกข้อใด กำหนดให้นายทะเบียนต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า การแจ้งไม่ใช้รถชั่วคราวมีเจตนาแอบแฝงหรือเป็นการยื่นคำขอที่ไม่สุจริตหรือไม่นั้น เมื่อการรับจดทะเบียนแจ้งการไม่ใช้รถเป็นคำสั่งทางปกครอง การพิจารณาของนายทะเบียนก่อนออกคำสั่งดังกล่าว จึงเป็นการพิจารณาทางปกครอง

 

ซึ่งมาตรา 3 วรรคหนึ่ง แห่ง พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 บัญญัติให้วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองตามกฎหมายต่างๆ ต้องเป็นไปตามที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ในกรณีกฎหมายใดกำหนดวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง เรื่องใดไว้โดยเฉพาะและมีหลักเกณฑ์ที่ประกันความเป็นธรรม หรือ มีมาตรฐานในการปฏิบัติราชการไม่ตํ่ากว่าพระราชบัญญัตินี้

 

เมื่อกฎหมายเกี่ยวกับการขนส่งทางบกมิได้กำหนดในเรื่องดังกล่าวไว้ จึงต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ข้ออ้างของขนส่งจังหวัดจึงไม่อาจรับฟังได้ 

 

ดังนั้น การออกคำสั่งของนายทะเบียนโดยที่มิได้พิจารณาถึงข้อเท็จจริงที่เป็นสาระสำคัญในการออกคำสั่ง จึงเป็นผลให้คำสั่งที่รับจดทะเบียนไม่ใช้รถคันพิพาทชั่วคราวเป็นเวลา 2 ปี ไม่ชอบด้วยกฎหมาย พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวโดยให้มีผลย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่มีคำสั่ง (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อร. 210/2564)

 

คดีนี้สรุปได้ว่า แม้ว่าบริษัทที่ยื่นคำขอจดทะเบียนแจ้งการไม่ใช้รถจะมีชื่ออยู่ในข้อมูลของกรมการขนส่งทางบกว่า เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์และผู้ครอบครองรถยนต์ พร้อมมีเอกสารหลักฐานประกอบถูกต้องครบถ้วนแล้วก็ตาม แต่เมื่อนายทะเบียนได้รับทราบปัญหาข้อโต้แย้งจากเจ้าของรถตัวจริง ซึ่งได้เช่าซื้อช่วง และผ่อนชำระครบถ้วนแล้ว แต่บริษัทไม่ยอมจดทะเบียนโอนให้

 

จึงมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองที่ต้องแสวงหาข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญเพื่อพิสูจน์ข้อโต้แย้งดังกล่าว และตรวจสอบว่าเหตุผลในคำขอตรงตามความเป็นจริงหรือไม่ ซึ่งหากพบว่าข้อเท็จจริงที่ผู้ยื่นคำขอได้แสดงนั้น ไม่เป็นความจริง ก็ไม่จำต้องดำเนินการตามคำขอ

 

และไม่อาจอ้างว่า ไม่มีกฎหมาย หรือ ระเบียบของกรมการขนส่งทางบกที่กำหนดให้นายทะเบียนต้องดำเนินการเช่นนั้น ทั้งนี้เพราะเจ้าหน้าที่จะต้องดำเนินการตามกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง อันเป็นกฎหมายกลางที่กำหนดมาตรฐานในการพิจารณาทางปกครอง เพื่อเป็นหลักประกันความเป็นธรรมแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่ง ให้มั่นใจได้ว่าคำสั่งของหน่วยงานของรัฐได้ผ่านการพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายอย่างครบถ้วน รอบคอบ และเป็นธรรมแล้ว  

 

(ปรึกษาการฟ้องคดีปกครองทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ที่สายด่วนศาลปกครอง 1355)