ฟ้องทายาทให้ชำระหนี้ที่เกิดขึ้น หลังจากคู่สัญญาตาย... ได้หรือไม่!?

24 ก.ค. 2565 | 07:10 น.

ฟ้องทายาทให้ชำระหนี้ที่เกิดขึ้น หลังจากคู่สัญญาตาย... ได้หรือไม่!? : คอลัมน์อุทาหรณ์จากคดีปกครอง โดย...นายปกครอง หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,803 หน้า 5 วันที่ 24 - 27 กรกฎาคม 2565

สาระความรู้ที่นำมาฝากท่านผู้ติดตาม “คอลัมน์อุทาหรณ์จากคดีปกครอง” ในวันนี้ ... เป็นเรื่องการฟ้องคดีเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง โดยเป็นกรณีที่หน่วยงานของรัฐได้ยื่นฟ้องทายาทของคู่สัญญา ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมิใช่คู่สัญญา ให้รับผิดตามสัญญาสัมปทานประกอบการรถโดยสาร

 

โดยให้ชำระเงินค่าตอบแทนตามสัญญา ซึ่งมูลหนี้ที่ฟ้องให้ชำระนั้นเกิดขึ้นหลังจากที่คู่สัญญาได้ถึงแก่ความตายไปแล้ว กรณีเช่นนี้... หน่วยงานคู่สัญญาจะฟ้องทายาทผู้ตายให้ชำระเงินดังกล่าวได้หรือไม่? ติดตามคำตอบกันครับ  

 

 

 

มูลเหตุของคดีเกิดจาก องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ผู้ฟ้องคดี) กับ นายรุ่ง ได้ตกลงทำสัญญาให้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง (รถตู้โดย สาร) โดยอนุญาตให้นายรุ่งนำรถตู้เข้าร่วมเดินรถในเส้นทางสาย A มีกำหนดระยะเวลา 10 ปี และกำหนดให้ชำระค่าตอบแทนจำนวน 1,000 บาท ทุกวันที่ 10 ของเดือน และภาษีมูลค่าเพิ่มหากผิดนัดต้องชำระดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี

 

รวมทั้งมีข้อกำหนดว่า นายรุ่ง จะต้องไม่นำรถโดย สารที่เข้าร่วมเดินรถไปให้บุคคลอื่นเช่าหรือเช่าช่วงหรือเช่าซื้อหรือให้สิทธิการเดินรถแก่ผู้อื่นเพื่อเข้าเดินรถแทน หากตรวจพบกรณีดังกล่าวองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ทันที รวมทั้งนายรุ่งจะโอนสิทธิหรือหน้าที่ในการประกอบการเดินรถตามสัญญานี้ ไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใดให้บุคคลอื่นไม่ได้ 

 

 

 

 

 

 

 

 

ต่อมา นายรุ่งได้ผิดนัดไม่ชำระค่าตอบแทนจำนวน 80 งวด เนื่องจากเสียชีวิต หลังจากนั้นองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาและบอกกล่าวทวงถาม และให้ทายาทโดยธรรมของนายรุ่งชำระค่าตอบแทนค้างชำระพร้อมดอกเบี้ยผิด นัด แต่ทายาทของนายรุ่งเพิกเฉย องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพจึงยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองเพื่อขอให้ทายาทของนายรุ่งชำระเงินตามสัญญาดังกล่าว

 

คดีนี้ ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาว่า สัญญาที่พิพาทมีคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง คือ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ผู้ฟ้องคดี) และการอนุญาตให้นายรุ่งนำรถตู้เข้าร่วมเดินรถโดยสารประจำทางมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทานบริการสาธารณะ จึงเป็นสัญญาทางปกครองตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542

 

เมื่อผู้ฟ้องคดีฟ้องว่านายรุ่งไม่ชำระค่าตอบแทนตาม สัญญาดังกล่าว จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (4) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง 

 

เมื่อข้อเท็จจริงในคดีปรากฏตามแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรว่า นายรุ่งถึงแก่ความตาย เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2555 การที่ผู้ฟ้องคดียื่นฟ้อง โดยอ้างว่า นายรุ่งผิดนัดและมีคำขอให้ชำระค่าตอบแทนค้างชำระระหว่างงวดวันที่ 11 มกราคม 2556 ถึงงวดวันที่ 11 สิงหาคม 2562 พร้อมภาษีมูลค่าเพิ่ม ดอกเบี้ยของค่าตอบ แทนค้างชำระในงวดนั้นๆ

                            ฟ้องทายาทให้ชำระหนี้ที่เกิดขึ้น หลังจากคู่สัญญาตาย... ได้หรือไม่!?

ตลอดจนดอกเบี้ยผิดนัด ซึ่งเป็นค่าตอบแทนค้างชำระที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่นายรุ่งถึงแก่ความตายแล้วประกอบกับสัญญาพิพาทเป็นสัญญาต่างตอบแทนซึ่งกำหนดให้สิทธิในการประกอบการเป็นการเฉพาะตัวบุคคลผู้รับสัญญาโดยแท้ เมื่อนายรุ่งถึงแก่ความตาย สัญญาดังกล่าวย่อมสิ้นสุดลง  อีกทั้งไม่

 

ปรากฏว่า ทายาทของนายรุ่งได้เข้ามาประกอบการเดินรถตามสัญญาพิพาทหลังจากที่นายรุ่งได้ถึงแก่ความตายแล้วแต่อย่างใด และทายาทของนายรุ่งไม่ใช่คู่สัญญา การที่ผู้ฟ้องคดีมาฟ้องทายาทของนายรุ่งให้รับผิดในหนี้ที่ค้างชำระตามสัญญาพิพาท ซึ่งเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นหลังจากที่นายรุ่งถึง แก่ความตายแล้ว

 

จึงไม่อาจถือว่ามีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองที่จะฟ้องขอให้ศาลมีคำบังคับทายาทของนายรุ่งให้ชำระเงินหรือส่งมอบทรัพย์สินตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้ ผู้ฟ้องคดีจึงไม่มีสิทธิฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครอง ตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 240/2565)

                                  

สรุปได้ว่า แม้กรณีตามสัญญาพิพาทจะมีคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง คือ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ซึ่งได้ทำสัญญาอนุญาตให้นายรุ่ง (คู่สัญญา) นำรถตู้เข้าร่วมเดินรถในเส้นทางเดินรถโดยสารประจำทาง อันมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทานบริการสาธารณะซึ่งเป็นสัญญาทางปกครองประเภทหนึ่ง ที่เมื่อเกิดข้อโต้แย้งระหว่างคู่สัญญาย่อมอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองก็ตาม

 

แต่การฟ้องคดีปกครองนั้น ยังต้องพิจารณาการเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีตามมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯประกอบด้วย ซึ่งในวรรคหนึ่ง ได้บัญญัติให้ผู้มีสิทธิฟ้องคดีเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองจะต้องเป็นผู้ที่ถูกกระทบกระเทือนหรือถูกโต้แย้งเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง และต้องมีคำขอที่ศาลปกครองสามารถกำหนดคำบังคับตามกฎหมายเพื่อแก้ไขความเสียหายได้

 

ซึ่งกรณีตามฟ้องนี้ ศาลเห็นว่า สัญญาเดินรถ โดยสารประจำทางเป็นสัญญาต่างตอบแทนที่กำหนดให้สิทธิในการประกอบการเป็นการเฉพาะตัวบุคคลของผู้รับสัญญาโดยไม่อาจให้บุคคลอื่นเช่าหรือเช่าช่วงหรือเช่าซื้อหรือให้สิทธิการเดินรถแก่ผู้ใดได้ 

 

ฉะนั้น เมื่อคู่สัญญาถึงแก่ความตายสัญญาดังกล่าวย่อมสิ้นสุดลง มูลหนี้ที่ค้างชำระค่าตอบแทนต่างๆ อันเกิดขึ้นหลังจากที่คู่สัญญาได้เสียชีวิตไปแล้วจึงไม่มีผลผูกพันทายาทของผู้เสียชีวิตซึ่งไม่ใช่คู่สัญญา ทายาทจึงไม่ต้องรับผิดในหนี้ที่ค้างชำระตามสัญญาพิพาทแต่อย่างใด และไม่ถือว่าหน่วยงานของรัฐคู่สัญญามีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองที่จะฟ้องขอให้ศาลมีคำบังคับทายาทของผู้เสียชีวิตให้ชำระเงินได้

 

(ปรึกษาการฟ้องคดีปกครองทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ที่สายด่วนศาลปกครอง 1355 หรือที่ www.admincourt.go.th)