อันดับขีดแข่งขันร่วง รัฐบาลมิอาจมองข้าม

18 มิ.ย. 2565 | 08:36 น.

บทบรรณาธิการ

สถาบันการจัดการนานาชาติ (International Institute for Management Development : IMD) สวิตเซอร์แลนด์ ประกาศผลการจัดอันดับ ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ประจำปี 2565 ปรากฏว่า ประเทศไทยมีอันดับลดลง 5 อันดับ มาอยู่ในอันดับที่ 33 จาก 63 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก โดยมีผลคะแนนสุทธิลดลงจาก 72.52 มาอยู่ที่ 68.67
 

ปัจจัยที่ IMD วางไว้ในการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขัน มี 4 ด้านหลัก อันประกอบไปด้วย ด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจ ด้านประสิทธิภาพของภาครัฐ ด้านประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งปรากฏว่าประเทศไทยมีอันดับลดลงในทุกปัจจัยชี้วัด โดยเฉพาะสมรรถนะทางเศรษฐกิจ (Economic Performance) มีอันดับลดลงจากปี 2564 ถึง 13 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 34 ในปี 2565

ด้านประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency) ซึ่งประเทศไทยมีอันดับที่ปรับลดลงจากปี 2564 ถึง 11 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 31 ในปี 2565 พบการคลังภาครัฐ (Public finance) มีอันดับลดลงจากปีก่อนมากที่สุดถึง 15 อันดับ กฎหมายธุรกิจ (Business legislation) ที่สำรวจความคิดเห็นของภาคธุรกิจเกี่ยวกับกรอบของกฎหมาย หรือ นโยบายที่เอื้ออำนวยหรือเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจก่อนประมวลผลมีอันดับลดลง 8 อันดับ กรอบการบริหารภาครัฐ (Institutional framework) ลดลง 5 อันดับ นโยบายภาษี (Tax policy) ลดลง 3 อันดับ กรอบการบริหารทางสังคม (Societal framework) ลดลง 1 อันดับ
 

การคลังภาครัฐ (Public finance) ที่มีอันดับลดลงอย่างมาก จากการขาดดุลงบประมาณของภาครัฐ ที่รัฐบาลไทย ตั้งงบประมาณแบบขาดดุล เพื่อประคองเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวจาก พิษโควิด 19 และอัตราการเติบโตที่แท้จริงของหนี้สาธารณะของไทยที่เพิ่มสูงขึ้น จากการกู้เงินมาใช้จ่ายในการประคองเศรษฐกิจจากปัญหาโควิด-19 ส่งผลให้ในภาพฉุดอันดับลดลงไปอย่างมากของประสิทธิภาพภาครัฐ

อันดับขีดความสามารถการแข่งขันที่ลดลง เป็นปัจจัยสะท้อนให้เห็นว่า โครงสร้างเศรษฐกิจไทยมีความเปราะบางสูง เมื่อมีปัจจัยจากภายนอกเข้ามากระทบทำให้ขีดความสามารถลดลงทันที ทั้งภาครัฐเอกชน ประชาชนต้องพยายามปรับตัว พัฒนาตนเองให้ได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น เพื่อรับมือกับสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง
 

รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องเร่งกลับไปทบทวนแนวนโยบายในการแก้ปัญหาประเทศ โดยไม่มองเพียงการแก้ปัญหาระยะสั้น แต่ต้องเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคเศรษฐกิจที่เป็นเสาหลักของประเทศ วางนโยบายส่งเสริมภาคเศรษฐกิจและภาคธุรกิจของประเทศให้สามารถเติบโตไปได้อย่างต่อเนื่อง สนับสนุนภาคเอกชนให้มีความยืดหยุ่นในการปรับตัวต่อสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมทั้งการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ พัฒนาทักษะแรงงาน สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ มาปรับใช้และสร้างปัจจัยแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการพัฒนาและเรียนรู้ให้มากและรวดเร็วขึ้น