ผู้ว่าฯ กทม. 2565

14 เม.ย. 2565 | 22:36 น.

แบรนด์ สตอรีส์ กฤษณ์ ศิรประภาศิริ [email protected]

นิสิต นักศึกษาวิชาการสถาปัตยกรรม-ผังเมือง อย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิต ต้องอยากเป็น “ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร” หรือ “ผู้ว่าฯกทม.

 

ทุกคนรู้ถึงความสำคัญของ “เมือง” และทุกคนตระหนักว่า มี “วิชา” ที่ร่ำเรียนกันมา “พัฒนาเมือง” ให้น่าอยู่ น่าอาศัย น่าทำงานได้

 

มีคำกล่าวยกย่องอาชีพ “นักออกแบบ” ให้เห็นถึง “ความสำคัญ” เปรียบเทียบกับ “อาชีพหมอ” ที่ผู้คนยกย่องกันทั้งบ้านทั้งเมือง

 

“หมอ-คุณไปหาเมื่อคุณเกิดเจ็บไข้ได้ป่วย แต่สิ่งก่อสร้างอัปลักษณ์ที่คุณเจอะเจอทุกวันในบ้านเมือง ทำให้คุณป่วย (โดยไม่รู้ตัว)

แบรนด์ สตอรีส์

ป่วยทั้งกายและใจ ป่วยทางกายจากการสัญจรที่ไม่ลื่นไหล ป่วยทางใจจากความหงุดหงิดนานาผจญ  ฯลฯ

 

ลองหลับตา ผู้คนสมัยโบร่ำโบราณ ทำไมถึงมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่รีบร้อน เพราะการสัญจรสบายๆ ทางน้ำ ในสิ่งแวดล้อมที่สะอาด สงบ ทั้งน้ำคูคลอง แม่น้ำ ต้นไม้ใหญ่น้อย บ้านเรือนที่ถ่อมตน เอื้อต่อจิตใจ

 

รศ.แสงอรุณ รัตกสิกร ปรมาจารย์ทางวิชาสถาปัตยกรรม-ผังเมือง ได้บันทึกสภาพ “บ้านเมือง” (โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร) เมื่อ 50 ปีที่แล้วไว้ดังนี้

 

“จะมีครั้งใดในประวัติของผืนแผ่นดินนี้ ที่ธรรมชาติและทรัพยธรณี ถูกทำลายอย่างยับเยินจนเกินควร จะมีครั้งใดที่คนในสังคม มีน้ำใจกระด้าง เห็นแก่ตัว และไร้ความสุนทร เช่นคนปัจจุบันนี้ คงจะไม่มียุคใดเทียม

 

แม้เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าข้าศึก เราก็ไม่ยับเยินเท่านี้ เพราะพม่าเผาได้แต่เมือง แต่เมืองก็สร้างขึ้นมาได้ใหม่ งามอย่างภาคภูมิและสมบูรณ์ในศาสตร์ของความสุนทร

 

ถึงแม้ว่าเมืองใหญ่เราจะสร้างขึ้นที่บางกอกก็ตาม

 

ครั้งนั้นป่ายังเป็นป่าที่เขียวชอุ่ม น้ำในแม่น้ำลำห้วย ยังอาบดี กินดี

 

แต่อะไรที่ทำให้เราทำตนดุจเนื้อสมันที่ฆ่าตัวเอง โดยกินพุ่มไม้ที่กำบังตนเองจากความร้อน และจากนายพรานลงจนหมดสิ้น...”

 

นี่เป็นกรุงเทพมหานคร ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ โดย “อาจารย์นักวิชาการ” ที่มองเห็นปัญหาของบ้านเมือง

 

เวลาผ่านมากว่า 50 ปี นครได้เติบโตเป็น “มหานคร” แบบยถากรรม เรายังไม่ทราบความสำคัญของคำว่า “มหานคร” และ “สิ่งประกอบ” ที่ควรมีเพื่อให้ชีวิตในเมืองลื่นไหลอย่างสันติสุข

 

อาคารตึกระฟ้า เกิดอย่างไร้ระเบียบ ไร้ทิศทาง ชัยยา พูนศิริวงศ์ นักออกแบบ อดีตพ่อเมืองเชียงใหม่ ออกมาวิจารณ์บ้านเมือง กทม. ยุค “ฟองสบู่” ว่า เหมือน “เรากำลังจะแกง ต้มหม้อแกงเดือด แต่ยังไม่รู้เลยว่าจะแกงอะไร ก็เลยจับอะไรได้ก็ยัดใส่ลงไปในหม้อ...”

 

การบริหารราชการของกทม. ตกอยู่ใต้ข้าราชการมานาน ในยุคที่เรียกกันว่า “เทศบาล” เป็นที่รู้กันในหมู่ผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันสถาปัตยกรรม-วิศวกรรม ชั้นดีว่า ... “ขอเลือกไปเป็นที่สุดท้าย”

 

เราจึงไม่ค่อยได้คนมีคุณวุฒิ  คุณภาพไปทำงาน

 

ต่อมา เมืองโตขึ้น ผลประโยชน์มากขึ้น “งาน” ของกทม. ไม่เหมือนเดิมแล้ว แย่งกันเข้า โดยเฉพาะต้องหา “เส้นสายฝากฝัง”

 

นักการเมืองที่เข้ามาบริหารกทม. และสร้างชื่อ-ผลงานเป็นที่ตื่นตา (แม้ทุกวันนี้) ต้องขอยกย่อง “พลตรีจำลอง ศรีเมือง”

 

น่าทึ่งตั้งแต่เป็นผู้สมัคร “ผู้ว่าฯกทม.” ที่สร้างกระแสปลุก “สินค้าแบกะดิน” สู้ได้ ด้วยความเข้มแข็งของท่านจากพลังศรัทธาประชาชน “ท่านจำลอง” หัวแข็ง สามารถคุมข้าราชการ กทม. ให้อยู่กับร่องกับรอย เรามีคนดีๆ ที่อยู่ในหน่วยงานหมักหมมนี้ ฉายแสง ทำงานเพื่อบ้านเมือง

 

ที่เป็นคุณูปการต่อคนกทม. คือ สร้างผู้ว่าฯ ศ.รอ.กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา จากอาชีพสถาปนิก-อาจารย์ มา “บริหาร” กทม.

 

รถลอยฟ้า ขนส่งมวลชน ที่มหานครของโลกมี เมื่อ 100 กว่าปีที่แล้ว เกิดในยุคผู้ว่าจำลอง-รองผู้ว่า อ.กฤษฎา

 

ปี่กลองงานสมัครผู้ว่าฯ กทม. 2565 ดังแล้ว

 

ตอนนี้ก็เป็นเวลาหาเสียง ซึ่งเราจะเห็นสติปัญญาของผู้สมัครส่วนใหญ่ก็ “มักง่าย ปัญญาน้อย” ติดป้ายกับเสาไฟฟ้าสาธารณะ รกบ้านรกเมือง บางป้ายก็ก่ออุบัติเหตุ ไม่สะดวกกับผู้สัญจร ฯลฯ

 

การเลือกตั้งแนวประชาธิปไตยในบ้านเรา ไม่ได้สวยหรู ตามตัวอักษร

 

เบื้องหลังมีตั้งแต่ ขอยืมเงิน “เจ้ามือหวย” มาทุ่มซื้อเสียง ข้าราชการช่วยโกง ฯลฯ ผู้มีอิทธิพล-บารมีข่มขู่ ฯลฯ

 

เป็นหน้าที่ของพวกเรา ดู PAST RECORD ผู้สมัคร-พรรคให้ดี ฟังหาเสียงตอนนี้อาจไม่รู้ได้  “โม้ก็มี” “ใส่ไฟ” กันก็มี ฯลฯ ยังกับ “เมาธ์” ใส่ร้ายกันในเวทีประกวดนางงาม

 

ที่แน่ๆ ถ้าออกมาใช้สิทธิกันเกินกว่า 90% ของผู้มีสิทธิ คนหวังซื้อเสียงอย่างเดียว ชนะยากครับ

 

คะแนนคุณมีค่า จะกำหนดว่าเราจะอยู่ในกทม. ภายหน้ากันอย่างไร

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,774 วันที่ 14 - 16 เมษายน พ.ศ. 2565