สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดล

28 ต.ค. 2564 | 23:27 น.

แบรนด์สตอรีส์ กฤษณ์ ศิรประภาศิริ [email protected]

แพทย์ยุโรปที่ได้ถวายความเห็นว่า พระองค์จะมีพระชนม์อยู่ไม่นาน เป็นแพทย์ที่มีชื่อเสียง และได้ตรวจพระองค์ด้วยวิทยาการที่ทันสมัยเป็นที่ยอมรับ แต่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ว่า “หมอควรจะพูดหรือไม่” และที่ “หมอ” กำหนดว่า “อีกไม่เกิน 2 ปี” สมเด็จฯเจ้าฟ้ามหิดลทรงเจริญพระชนมายุต่อมาถึง 6 ปี และได้ทรงสร้างงานนานัปการเป็น “อัจฉริยะบุรุษ” โดยมิได้ท้อถอย

 

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ทรงหมายเหตุไว้ในพระนิพนธ์ “แม่เล่าให้ฟัง” ว่า... “เป็นคำพูดที่ไม่พึงปรารถนาที่สุดที่แพทย์ควรพูด และสำหรับคนไข้เป็นเมฆก้อนดำที่มาครอบคลุมชีวิตอยู่...”

 

ปีพ.ศ. 2469 สมเด็จฯเจ้าฟ้ามหิดล ทรงกลับมาศึกษาต่อแพทย์ที่ HARVARD และจบแพทยศาสตร์บัณฑิตเกียรตินิยม (CUM LAUDE) ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2471

 

เมื่อเสด็จฯนิวัติพระนคร พระประสงค์ที่จะฝึกงาน INTERNSHIP ที่โรงพยาบาลศิริราชไม่สำเร็จ ด้วย “พระอิสริยยศ” ของพระองค์เป็นอุปสรรค ทรงตัดสินพระทัยไปทรงงานที่รพ. MC CORMICK โรงพยาบาลเอกชนของจังหวัดเชียงใหม่ (ก่อตั้งโดยคณะมิชชันนารี อเมริกัน ในปี พ.ศ. 2431) นอกจากที่พระองค์ทรงต้องการทำงานเต็มที่ในวิชาแพทย์ที่ร่ำเรียนมา ทรงยังสนพระทัยที่จะศึกษาวิจัย “ไข้มาลาเรีย” ที่กำลังระบาดในเวลานั้น

สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดล

สมเด็จฯเจ้าฟ้ามหิดล เสด็จฯไปปฏิบัติงานในฐานะแพทย์ประจำบ้าน ตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน 2472 โดยประทับที่บ้านพักของนพ.อี.ซี. คอร์ท ผู้อำนวยการ ในเวลากลางวันทรงตรวจรักษาผู้ป่วยตั้งแต่เช้าถึงบ่าย 4 โมง ในเวลากลางคืนหลังพระกระยาหารค่ำก็เสด็จฯเยี่ยมคนไข้ตามตึกผู้ป่วย และรับสั่งว่า หากมี CASE ที่ต้องการปรึกษา แม้ว่าดึกดื่นวิกาลโรงพยาบาลสามารถปลุกพระองค์ได้ตลอดเวลา

 

พระราชกรณียกิจที่สมเด็จฯเจ้าฟ้ามหิดล ทรงบำเพ็ญในด้านการแพทย์และสาธารณสุขไทย เมื่อทรงตัดสินพระทัยที่จะพัฒนา “ถ้าจะทำ ก็ต้องทำกันจริงๆ” เป็นคุณประโยชน์ต่อการสาธารณสุขไทยนานัปการ ตั้งแต่ทรงตั้ง “ทุนส่วนพระองค์” สร้างบุคลากรทางการแพทย์ กลับมาเป็น “เสาหลัก” ในหลายๆด้าน ตั้งแต่การวิจัย รังสีวิทยา ทันตแพทยศาสตร์ ฯลฯ ทรงสละทุนทรัพย์สร้างโรงพยาบาล หอพยาบาล ฯลฯ

 

ด้วยพระเนตรอันก้าวไกล ทรงติดต่อมูลนิธิ ROCKEFELLER ให้ช่วยมาพัฒนาการแพทย์ของสยาม ฯลฯ

 

สมเด็จฯเจ้าฟ้ามหิดล ทรงได้รับยกย่องเป็นบุคคลสำคัญของโลก ด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์การแพทย์ การพยาบาล และการสาธารณสุขโดย UNESCO

 

ไม่แปลกที่ UNESCO ยกย่องสมเด็จฯเจ้าฟ้ามหิดลเป็นคนสำคัญของโลก นอกจากผลงานพัฒนาสำคัญแล้ว ตลอดพระชนมชีพของพระองค์ ทรงเชื่อและศรัทธาใน “ความเป็นมนุษย์” ดังบันทึกในพระราชหัตถเลขาตอนหนึ่ง...

 

“เราเป็นมนุษย์ก่อนแล้ว เราจึงได้เป็นคนไทย เพราะฉะนั้นสิ่งไรที่เราทำที่จะ BENEFIT HUMANITY แล้วคง BENEFIT คนไทย แต่สิ่งที่จะ BENEFIT คนไทยเท่านั้น แต่ไม่ BENEFIT HUMANITY แล้วไม่จำเป็นจะต้องทำ...”

 

พระองค์ทรงมีความตั้งใจแน่วแน่... “ที่จะช่วยให้โลกนี้ดีขึ้น...

 

โชคดีของการแพทย์และสาธารณสุขไทย ที่ได้ “เจ้านาย” ผู้ทรงมีพระจริยวัตรงดงามมาเป็น “ต้นแบบ” และทรงขอนักศึกษาแพทย์ไม่ให้แค่มีความรู้ทางแพทย์อย่างเดียว “แต่ให้พวกเธอมีความเป็นคน”ด้วย

 

ทรงเป็น “เจ้าฟ้า” หากแต่ไม่ถือยศถือศักดิ์ “โปรดแต่การประพฤติปฏิบัติอย่างไพร่ฟ้าที่เป็นคนดีมีศีลมีสัตย์” และทรงถือประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นสำคัญ

 

เย็นวันหนึ่งที่แสนหนาว 24 กันยายน พ.ศ. 2472 สมเด็จฯเจ้าฟ้ามหิดล เสด็จทิวงคต ณ วังสระปทุม ทรงเสด็จฯจากไปท่ามกลางความโศกเศร้าของพระประยูรญาติที่ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ

 

สมเด็จพระพันวัสสาฯ พระบรมราชชนนี ทรงยื่นพระหัตถ์ ออกไปปิดเปลือกพระเนตรโอรสองค์สุดท้าย แล้วซบพระพักตร์ลง...

 

พระเนตรปิดแล้ว แต่โลกยังคงสว่างไสวด้วย “ผลงาน” ของพระองค์ที่ทุ่มเท เพื่อประโยชน์สุขของมวลมนุษยโลกและชาวไทยต่อเนื่องมาตราบปัจจุบัน

 

สมเด็จฯเจ้าฟ้ามหิดล ทรงอุบัติมา เพื่อทำให้โลกนี้ดีขึ้นเป็นแน่แท้...

 

พระสถิตในดวงใจ นิรันดร

 

(เครดิต : 1. “120 ปีมหิดลอดุลยเดช”/คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล 2. “แม่เล่าให้ฟัง”/กัลยาณิวัฒนา)

 

หน้า 14-15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,726 วันที่ 28 - 30 ตุลาคม พ.ศ. 2564