ใครจะยึด ‘เสาชิงช้า’

25 ธ.ค. 2564 | 04:17 น.

แบรนด์ สตอรีส์ กฤษณ์ ศิรประภาศิริ [email protected]

ปี่กลองการเลือกตั้ง “ผู้ว่าฯ กทม.” ดังขึ้นแล้ว

 

ขบวนกลองยาวคงได้ส่งตัว “ผู้สมัคร” โชว์ตัว ณ ศาลาว่าการฯ เสาชิงช้า กันเอิกเกริกในอีกไม่ช้านาน

 

ณ วันนี้ กลางเดือนสุดท้ายของสิ้นปีพศ. 2564 มวย “ศึกผู้ว่าฯ ระหว่างโควิด 19” เพิ่งเผยโฉม 2 ตัวเอก“คู่แข่ง” สำคัญ

 

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ลูกชายนายตำรวจใหญ่หนังเหนียว โดนพ่อค้าหมู เขียงตลาดคลองเตย เอาปังตอสับคอ ไม่ตาย (สร้อยคอทองคำเส้นใหญ่ช่วยรับแรงได้ส่วนหนึ่ง)

 

เอาว่า “ดร.ทริป” (DR.TRIP) อยู่ “มุมแดง” แล้วกัน เนื่องจากเคยมีตำแหน่งใหญ่เป็นถึง รมว.คมนาคม ในสมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เที่ยวนี้ ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ขอสมัครในนาม “อิสระ” (โดยมี “แบ็ค” แฟนเก่าๆ ช่วยอยู่หลายกลุ่ม)

ชิงผู้ว่าฯกทม.

“มุมน้ำเงิน” เป็นดาวรุ่งพุ่งแรง  ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นักวิชาการ ขั้นสูงถึงเป็นอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า วิทยาเขตเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง เรียนก็เก่ง พอประมาณจบปริญญาเอก MIT (ปีพศ.2545) ลูกศิษย์ศาสตราจารย์หลานชายปู่ ALBERT EINSTEIN ผู้โด่งดัง  (ซึ่งอาจารย์ปฏิเสธล่าสุดว่าไม่ได้เป็นญาติกัน)

 

นอกจาก “พูด” ได้เยี่ยม มีผลงานก่อสร้างในอดีต แถมสอดใส่ “วิสัยทัศน์” ที่ได้ใจทั้งคนแก่คนเฒ่า และ “วัยรุ่น” ที่กรี๊ด “พี่เอ้” ยังกับ “ดาราเกาหลี”

 

นักชก “มุมน้ำเงิน” คนนี้ได้พรรค “สีฟ้า” ประชาธิปัตย์ เป็น “พี่เลี้ยง” ให้ “น้ำ” (“น้ำ” ในที่นี้ หมายถึง “ความช่วยเหลือ” ที่มาในสารพัดรูป)

 

มวยคู่ ชัชชาติ “ลูก “เสน่ห์” หนังเหนียว” VS สุชัชวีร์ “ศิษย์หลานไอน์สไตน์” ดูสมน้ำสมเนื้อ ถูกคู่ยิ่งนัก

 

มาลงลึก “ส่วนประกอบ” สร้าง BRAND “ดร.ทริป” และ “ดร.เอ้”

 

คุณวุฒิ-ประสบการณ์ทำงาน เรียนเก่งทั้งคู่ ปริญญาเอกทางวิศวกรรมศาสตร์ทั้งคู่ (แต่คนละสาขาวิชาและคนละมหาวิทยาลัย)

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ มาจากครอบครัว “นายตำรวจ” (พลตำรวจเอก เสน่ห์ สิทธิพันธุ์ อดีต ผบช.น.) ที่ไม่เอาดีทางตำรวจ (ว่ากันว่า ตำรวจดีๆ ไม่อยากให้ลูกมีอาชีพตำรวจ (ฮา))

 

จบปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตร์ (โยธา) จุฬาฯ ด้วยเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง เหรียญทอง (คนเดียวของรุ่น)

 

จบปริญญาโทบริหารธุรกิจ จุฬาฯ จากนั้นไปศึกษาต่อปริญญาโท ณ MIT ในสาขาวิศวกรรมโครงสร้าง และจบวิศวกรรมศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตจาก U OF ILLINOIS URBANA-CHANPAIGN มหาวิทยาลัยระดับ TOP 10 (ในปี พศ. 2530) ด้วยทุนอานันทมหิดล 

 

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เคยทำงานในบริษัทเอกชน และเป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจหลายแห่ง ฯลฯ

 

เคยเป็นอาจารย์จุฬาฯ มีตำแหน่งทางวิชาการขึ้นถึง รองศาสตราจารย์ และงานบริหารเคยเป็นผู้ช่วยอธิการบดี ฝ่ายจัดการทรัพย์สิน

 

ความที่เป็นนักวิชาการ ชัชชาติ ได้เข้ามาช่วยงานและให้คำปรึกษาแก่กระทรวงคมนาคม ในสมัยรัฐบาลทักษิณ 2 และรัฐบาลสมัคร โดยไม่ได้มีตำแหน่งใดๆ จนกระทั่งเดือนมกราคม 2555 นายกฯยิ่งลักษณ์ โทรหาทาบทามให้เป็นรมช.คมนาคม ถือเป็นงานทางการเมืองครั้งแรก และขึ้นเป็นรมว. ในเดือนตุลาคม 2555

 

ผลงานที่น่ากล่าวถึง มีตั้งแต่กล้าหาญ ปิดเส้นทางรถไฟสายเหนือ สายอีสานเพื่อซ่อมแซมไม้หมอนเป็นการใหญ่ ช่วยให้รถไฟเดินตรงเวลามากขึ้น ฯลฯ การหนุนให้เกิดรถไฟความเร็วสูง แต่โดนเยาะเย้ยถากถาง ฯลฯ

               

ดร.ชัชชาติ มีภาพลักษณ์เป็น “รัฐมนตรีติดดิน” มีภาพอย่างโหนรถเมล์ นั่งรถสองแถว ซ้อนวินมอเตอร์ไซด์ โดยสารรถไฟ ชอบลงพื้นที่ตรวจปัญหาด้วยตนเอง โดยไม่แจ้งล่วงหน้า ให้แฟนๆ ประทับใจ

 

มีฉายาว่า “บุรุษที่แข็งแกร่งที่สุดในจักรวาล”

 

มา “มุมน้ำเงิน” ดร.สุชัชวีร์ (ดร.เอ้) สุวรรณสวัสดิ์ เป็นคนชลบุรี เรียนที่ระยอง จบม.6 ที่ระยองวิทยาคม ได้ “โควตาช้างเผือก” ปีพศ. 2533 เข้าเรียนต่อที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ ลาดกระบัง สาขาวิศวกรรมก่อสร้าง คณะวิศวกรรมศาสตร์ ด้วยความที่รักเรียน สุชัชวีร์ ไปต่อปริญญาโท (GEOTECHNICAL ENGINEERING) ด้านวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม ณ U OF WISCONSIN-MADISON และโทอีกใบจาก MIT ในสาขา TECHNOLOGY AND POLICY ได้ปริญญาเอกจาก MIT ด้านวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม (ปีพศ. 2545)

สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์

“ดร.เอ้” เป็นอาจารย์สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ ลาดกระบัง ขึ้นสูงสุดทางวิชาการเป็น “ศาสตราจารย์” (คณะวิศวกรรมโยธา) งานทางบริหารขึ้นเป็นอธิการบดีสถาบันฯ ในปีพศ. 2558 และเคยเป็นประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย 

 

ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ได้ชื่อทางความพยายามใช้ “เทคโนโลยี” เข้ามาแก้ปัญหา พูดเก่ง บรรยายขายฝันให้ “คนรุ่นใหม่” ได้ติดตาม

 

“ดร.เอ้” ได้ฉายาประจำตัวว่า THE DISRUPTOR ซึ่งเจ้าตัวบอกว่า ต้องการเป็น ROLE MODEL ให้คนรุ่นใหม่ในทุกๆเรื่องที่ทำได้ ที่สำคัญ ต้องการเปลี่ยนประเทศไทยให้แข่งขันกับนานาประเทศได้ในระยะยาว

 

ศึกชิง “ผู้ว่าฯ” กทม. เพิ่งเปิดตัว

 

โปรดติดตาม

 

หน้า 14-15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,742 วันที่ 23 - 25 ธันวาคม พ.ศ. 2564