สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดล (2)

13 ต.ค. 2564 | 06:47 น.

แบรนด์สตอรีส์ กฤษณ์ ศิรประภาศิริ [email protected]

กรมขุนชัยนาทนเรนทร ทรงบันทึกการชักชวนสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดล ให้มาช่วยทางการแพทย์ฯอย่าง “เปิดพระทัย” ไว้ดังนี้..

 

“มีเหตุสำคัญอยู่สองสามประการ คือ (1) ท่านเป็นเจ้าฟ้าชั้นสูงเท่าที่ข้าพเจ้าผู้เป็นแต่พระองค์เจ้า ได้เข้าไปจัดการศึกษาวิชาแพทย์และโรงพยาบาลอยู่แล้วนั้น ก็ได้ทำให้เรื่องนี้เด่นขึ้น และเข้าอยู่ในสายตาของคนมากขึ้นแล้ว ..ถ้าได้เจ้าฟ้าเข้ามาช่วยด้วย จะยิ่งทำให้เรื่องนี้เด่นขึ้นไปอีก ..คนก็มักจะเห็นว่าเรื่องนี้ต้องเป็นเรื่องสำคัญมากถึงกับเจ้านายชั้นสูงก็ทรงอุทิศพระองค์ให้แก่เรื่องนั้น

 

(2) เจ้าฟ้าพระองค์นี้มีพระปัญญาแหลม มีความเพียรแก่กล้าจะทรงทำอะไรก็ทำจริงไม่ย่อท้อ

 

(3) ท่านเป็นผู้มีรายได้สูงมาก แต่ไม่ทรงใช้จ่ายในการบำรุงความสุขสำราญของพระองค์อย่างฟุ่มเฟือย โปรดบำเพ็ญพระกุศลสาธารณะ นึกถึงแต่สาธารณประโยชน์ ... เจ้าฟ้ามหิดลมีทรัพย์ส่วนพระองค์ที่ทรงจ่ายไว้มาก เมื่อทรงทำเป็นตัวอย่างไว้เช่นนี้แล้ว ก็เท่ากับเป็นผู้นำให้คนอื่นจำเริญรอย รายจ่ายส่วนใหญ่ของท่านใช้ไปในทางส่งนักเรียนไปศึกษาวิชาแพทย์ในต่างประเทศ ทำให้คนมีภูมิ รู้สูงมาทำประโยชน์ให้แก่ชาติบ้านเมืองของเราเป็นจำนวนมาก...”

 

เหตุผลสำคัญหนึ่งที่สมเด็จฯเจ้าฟ้ามหิดล ทรงตัดสินพระทัยที่จะทุ่มเทชีวิตให้กับงานการแพทย์ คือ “ความรักแม่” ดังได้ปรากฏในจดหมายสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ที่ทรงถ่ายทอด “ความในพระทัย” ของสมเด็จฯเจ้าฟ้ามหิดล...

 

“ตั้งแต่หม่อมฉันเกิดมา เมื่อยังเป็นเด็กไม่รู้ความก็ชอบแต่เล่นหัวสนุกสนานไปตามภาษาเด็ก ครั้นโตขึ้น พอมีความคิด ก็รู้สึกสลดใจว่า ตั้งแต่หม่อมฉันเกิดมา เห็นแต่สมเด็จแม่ทรงทุกข์โศกไม่มีอะไรที่จะทำให้ชื่นพระทัยเสียเลย สงสารเสด็จแม่ จึงคิดว่าลูกผู้ชายของท่านก็เหลืออยู่แต่หม่อมฉันคนเดียว การจะสนองพระคุณด้วยการทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งให้สมเด็จแม่ทรงยินดีด้วยเห็นลูกสามารถทำความดีให้เป็นคุณประโยชน์แก่บ้านเมืองไม่ได้เลี้ยงมาเสียเปล่า

สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดล (2)

เมื่อคิดต่อไปว่าจะทำการอย่างไรดี หม่อมฉันคิดเห็นว่าในทางราชการนั้นมีทูลกระหม่อม พระราชโอรสในสมเด็จพระศรีพัชรินทราฯอยู่หลายพระองค์แล้ว ตัวหม่อมฉันจะทำราชการหรือไม่ทำก็ไม่ผิดกันเท่าใดนัก

 

จึงคิดว่าการช่วยชีวิตผู้คนพลเมืองเป็นการสำคัญอย่างหนึ่ง ซึ่งหม่อมฉันอาจจะทำได้โดยลำพังตัว เพราะทรัพย์สินส่วนตัวมีพอจะเลี้ยงชีวิตแล้ว จะสละเงินที่ได้รับพระราชทานในส่วนที่เป็นเจ้าฟ้าเอามาใช้ทำทุนทำการตามความคิดให้เป็นประโยชน์แก่บ้านเมืองด้วยเหตุดังทูลมานี้ หม่อมฉันจึงไม่ทำราชการ”

 

เมื่อจะทรงงานพัฒนาด้านการแพทย์และสาธารณสุขไทย สมเด็จฯเจ้าฟ้ามหิดล ทรงตัดสินพระทัยที่จะต้องเป็น “แพทย์”

 

ทรงเข้าศึกษาเตรียมแพทย์และแพทย์ ณ มหาวิทยาลัย HARVARD สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลกขณะนั้น (และแม้ขณะนี้) ซึ่งไม่ง่ายเลยสำหรับพระองค์ซึ่งมีพระวรกายที่ไม่แข็งแรง และกลับมาเริ่มศึกษาใหม่ในวิชาที่ยากในสถาบันที่มีมาตรฐานสูงในวัยที่ช้ากว่าเพื่อนเด็กหนุ่มร่วมรุ่น (ด้วยความที่พระองค์ก็ได้ทรงใช้เวลาไปในการศึกษาวิชาการทหารและทรงรับราชการในกองทัพรวมทั้งสิ้น 10 ปี)

 

DR.A.G.ELLIS คณบดีคณะแพทยศาสตร์และผู้อำนวยการรพ.ศิริราช ได้เขียนไว้ (ธันวาคม พ.ศ. 2475) ... “ได้ทรงศึกษาวิชาเตรียมแพทย์ 1 ปี และวิชาแพทย์ 2 ปีแรกของแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัย HARVARD ก่อนที่จะเสด็จกลับเมืองไทย... ได้เรียนจบอีกครึ่งปีที่สาม จึงหันไปทางสุขวิทยาและสาธารณสุขศาสตร์...

 

ทรงเห็นความต้องการอย่างสูงสำหรับงานด้านสาธารณสุขในประเทศไทย และด้วยอีกเหตุหนึ่งเพราะการแนะนำของศาสตราจารย์ผู้ที่ได้รับความนิยมมากของสาขานั้น (PUBLIC HEALTH)...” ทรงได้รับประกาศนียบัตรวิชาสาธารณสุขจากมหาวิทยาลัย HARVARD ร่วมกับ MIT ในปีพ.ศ. 2464 ซึ่งเทียบเท่ากับปริญญาโทในปัจจุบัน

 

ระหว่างที่ทรงศึกษาได้ทรงงานพัฒนาการแพทย์และสาธารณสุขไทยไปด้วย ตามที่ทรงตั้งพระทัย นอกจากทรงให้ “ทุน” นักศึกษาแพทย์ ยังทรงสร้างอาคาร โรงพยาบาล ฯลฯ ช่วยปรับปรุงการสอนเตรียมแพทย์ ฯลฯ ครั้งหนึ่งกรรมการท่านหนึ่งที่ร่วมโครงการพัฒนามีความเห็นไม่ตรงกันพระองค์ท่าน กรรมการท่านนั้นได้ลำเลิกว่า ... “จะเชื่อพระองค์ท่านได้อย่างไร ท่านไม่ได้เป็นแพทย์...”

 

DR.ELLIS ได้บันทึกไว้ “การที่ต้องเจรจากับผู้ที่มีความเห็นขัดแย้งกันมากมายในเรื่องตึก บุคลากร การอำนวยการของโรงเรียนและโรงพยาบาล และปัญหาพื้นฐานของมหาวิทยาลัยที่ยังแก้ไม่ตกมีอิทธิพลต่อสุขภาพของพระองค์...”

 

แพทย์ยุโรปท่านหนึ่งได้กราบทูลว่า “จะทรงมีพระชนม์อีกไม่เกิน 2 ปี” (ปีพ.ศ. 2466 ระหว่างที่สมเด็จฯเจ้าฟ้ามหิดลทรงศึกษาต่อวิชาแพทย์ที่ EDINBURGH ประเทศ SCOTLAND ซึ่งทรงประชวรเพราะอากาศหนาวจัดและเสด็จฯนิวัติพระนคร)

 

สมเด็จฯเจ้าฟ้ามหิดล ทรงรับฟัง “คำพิพากษา” จาก “แพทย์” ผู้นั้นอย่างกล้าหาญ กับ “ผู้ใกล้ชิด” พระองค์รับสั่งความในพระทัยว่า มีพระประสงค์อย่างเดียวที่จะใช้เวลาที่เหลืออยู่ให้เป็นประโยชน์ที่สุด ในเวลาที่จะมีพระชนม์เหลืออยู่... “ไม่นาน”

 

พระองค์ไม่ปล่อยให้ “เมฆก้อนดำ” มาบดบังชีวิตของพระองค์ยังทรงมุ่งมั่นทำงานพัฒนาการแพทย์ พยาบาลและสาธารณสุขของสยามประเทศ เพื่อประโยชน์ที่จะช่วยบรรเทาทุกข์ของมนุษย์

 

ทรงได้รับคำสรรเสริญจากพระอาจารย์แพทย์ฝรั่งว่า พระองค์มี “มนุษยธรรม” สูงส่ง...” เมื่อพระองค์ทรงเห็นความทุกข์ของคน ก็อยากจะบรรเทาทุกข์ของคน เพราะตนเองรู้ดีว่า “ความทุกข์” นั้นคืออะไร”

 

เวลาคืบคลานไป แต่ไม่สามารถหยุด “พระราชปณิธาน” ของพระองค์ได้

 

(อ่านต่อฉบับหน้า)

 

(เครดิต : 1. “120ปีมหิดลอดุลยเดช”/คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล  2. “แม่เล่าให้ฟัง”/กัลยาณิวัฒนา)

 

หน้า 14-15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,722 วันที่ 14 - 16 ตุลาคม พ.ศ. 2564