ลูกอิสานแห่งลุ่มน้ำอิยะวดี 9

07 มี.ค. 2565 | 01:15 น.

คอลัมน์ เมียงมอง เมียนมา โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

ตลาดสินค้าการเกษตรในประเทศด้อยพัฒนา ต้องใช้คำพูดว่า คนปลูกไม่มีทางรวย คนรวยคือมักจะเป็นคนที่ไม่ได้ปลูก แต่เป็นคนที่นำเอาผลผลิตเข้าสู่ตลาดไปขาย กินส่วนต่างหรือกำไรจึงจะรวยได้ ไม่ว่าที่ไหนๆ ก็จะเป็นเช่นนี้เสมอ ไม่ยกเว้นแม้แต่ในประเทศเมียนมาก็เป็นเช่นกันครับ ศักดิ์เองก็จะรู้สึกถึงสัจจธรรมนี้เสมอ ดังนั้นการขายสินค้าตรงไปยังเกษตรกรผู้ปลูก จึงต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่งครับ และพยายามที่จะขายผ่านพ่อค้าคนกลางบ้าง เพื่อลดอัตราความเสี่ยงลงไปบ้างนั่นเองครับ
 

พ่อค้าคนกลางในประเทศเมียนมาก็คล้ายๆ กับที่ประเทศไทย ที่ใช้ระบบ “หยง” มาใช้ ในการซื้อขาย กล่าวคือสินค้าการเกษตรเกือบจะทุกชนิดในประเทศด้อยพัฒนา จะมี “หยงหรือตัวกลาง” ซึ่งถ้าจะเรียกให้เพราะๆ ก็เรียกว่า “ผู้รวบรวม” มาเป็นผู้ดำเนินการด้านการขายสินค้าของเกษตรกร ด้วยการที่เกษตรกรจะนำสินค้าไปฝากขาย วันรุ่งขึ้นเมื่อสินค้าขายออกจากมือแล้ว จึงคิดราคาให้แก่เกษตรกร ด้วยการหัก “ค่าหยง” หรือค่าดำเนินการกิโลละเท่าไหร่ก็แล้วแต่จะตกลงกัน โดยไม่มีการการันตีว่าจะขายได้ในราคาเท่าไหร่ แล้วแต่สินค้าในตลาดจากอุปสงค์-อุปทานของตลาดเป็นตัวกำหนด ซึ่งนั่นก็หมายถึงว่าพ่อค้าคนกลางจะไม่มีทางขาดทุน ส่วนเกษตรกรก็ต้องรับชะตากรรมไป
 

นี่คือสภาพของตลาดที่เป็นเช่นนี้มาชั่วนาตาปี เพราะสินค้าการเกษตรเป็นสินค้าที่มีอายุสั้นมาก เพียงหนึ่งวันหรือสองวันก็ต้องเหี่ยวเฉาไม่สามารถจะขายได้แล้ว จะมีเพียงสินค้าที่เป็นสินค้าเกษตรอุตสาหกรรม หรือสินค้าเกษตรที่สามารถแปรรูปในโรงงานได้เท่านั้น ที่สามารถใช้ราคารับซื้อหน้าโรงงานแปรรูป ที่กำหนดราคาไว้ล่วงหน้า ดังนั้นจึงมีคำพูดที่ว่า “ผีถึงป่าช้า ไม่ฝังก็ต้องเผา”นั่นเองครับ

 

 

หลังจากที่ศักดิ์ได้ดำเนินกลยุทธขายปุ๋ยเคมี เพื่อลากเอาเมล็ดพันธุ์พืชเข้าสู่ตลาด เขาได้เห็นช่องทางในการขยายเมล็ดพันธุ์พืช ซึ่งเป็นเมล็ดข้าวโพดหวานมากขึ้น เพราะเนื่องจากเขาได้เดินลงสู่ตลาดด้วยตัวเองนั่นแหละครับ หลังจากที่ยี่ห้อของเมล็ดพันธุ์พืชเป็นที่รู้จักของเกษตรกรทั่งไป สินค้าอีกตัวหนึ่งที่เราคิดไม่ถึงคือ “กระเจี๊ยบเขียว” หรือที่ญึ่ปุ่นเรียกว่า “โอกุระ” นั่นแหละครับ
 

ผักชนิดนี้ในบ้านเรายังไม่ใช่ผักที่นิยมมากเหมือนในประเทศญี่ปุ่นหรือในประเทศเมียนมา เพราะที่ประเทศญี่ปุ่นกระเจี๊ยบเขียวเขานิยมนำมารับประทานดิบ ด้วยการซอยให้บางๆ ผสมกับไข่ดิบใส่ซีอิ้วญี่ปุ่น ทานกับซุปมิโซะ พร้อมข้าวสวยร้อนๆ ทานเป็นอาหารเช้า ราคาค่างวดของกระเจี๊ยบเขียวเมื่อเทียบกับไทยก็แพงมาก ในขณะที่ประเทศเมียนมา เขานิยมนำมาต้มใส่แกงหลากหลายชนิด ซึ่งทานกันเป็นผักประจำบ้านกันเลยทีเดียว นอกจากนี้ยังนำมาปิ้งย่าง ซึ่งร้านปิ้งย่างสไตล์จีนชอบนำมาขายกันมาก ในท้องตลาดสดทั่วไป ก็จะมีกระเจี๊ยบเขียววางขายกันเยอะมาก เมื่อเปรียบกับตลาดสดของไทยเรา มักจะเห็นน้อยกว่าเยอะครับ 

ศักดิ์เมื่อเข้าไปเห็นในท้องตลาด สิ่งที่เห็นคือฝักของกระเจี๊ยบเขียวที่ไม่ตรงเรียว และนอกจากคดๆงอๆ แคระแกรน แล้วยังดูไม่ค่อยสมบูรณ์ เมื่อเห็นเช่นนั้นก็ลงไปสำรวจดูที่สวนหรือตามครัวเรือนต่างๆ ก็พบว่าต้นกระเจี๊ยบเขียวมีอาการเหลืองทั้งต้น เนื่องจากการติดไวรัส จึงเห็นว่านี่เป็นโอกาสทางธุรกิจ จึงได้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญต่างๆ จึงทราบว่านี่เกิดจากสายพันธุ์ที่ไม่ดี อีกทั้งเวลาปลูกอาจจะมีการติดไวรัสชนิดหนึ่งที่มีแมลงหวี่ขาวเป็นพาหะนำมาระบาด ดังนั้นหากมีการพัฒนาสายพันธุ์ที่ดี และป้องกันแมลงหวี่ขาวได้ ก็จะสามารถได้ผลผลิตที่ดี ศักดิ์จึงลงทุนเสาะหาสายพันธุ์ที่ทนต่อโรคดังกล่าว แล้วจึงตีตรายี่ห้อของตนเอง แล้วนำเข้าไปจำหน่ายให้เกษตรกร ซึ่งประสบผลสำเร็จมาก จนกระทั้งปากต่อปาก ทำให้ส่งไปขายกันอย่างสนุกสนาน
 

ต่อมาไม่นานจากนั้น ก็มีจดหมายจากทางเกษตรประจำเมืองของเมียนมาเรียกให้ไปพบ เพราะมีผู้ร้องเรียนว่าทางบริษัทของเขานำเอาสินค้าไม่ได้มาตรฐานเข้าไปจำหน่าย อันเนื่องจากมีผู้กล่าวหาว่า เมล็ดพันธุ์กระเจี๊ยบเขียวที่ขายอยู่นั้น ไม่ทนต่อโรค ผลผลิตไม่สม่ำเสมอเหมือนอย่างที่โฆษณาออกไป ทำให้ศักดิ์และพนักงานต่างงงงวยกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะก่อนที่จะนำออกจำหน่ายสายพันธุ์ ก็ได้มีการทดลองปลูกซ้ำแล้วซ้ำอีก จึงจะสามารถนำออกจำหน่ายได้
 

เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ศ้กดิ์จึงส่งคนออกไปสู่ตลาดและสวนครัว เพื่อสืบดูว่าเกิดอะไรขึ้น จึงพบว่ามีเกษตรกรหัวใสบางคน นำเอากระเจี๊ยบเขียวของเขา ไปเพาะปลูกแล้วเก็บเมล็ดพันธุ์ซ้ำๆหลายครั้ง จนกระทั่งกลายพันธุ์ แล้วนำเอาไปบรรจุในบรรจุภัณฑ์ ที่ตีตรายี่ห้อของศักดิ์ออกมาขาย ในราคาที่ถูกกว่าสินค้าของเขาเสียอีก เรียกว่าทำสินค้าปลอมนั่นเอง ซึ่งทำให้เขาคิดไม่ถึงว่า นี่ขนาดสินค้าราคาไม่แพง ยังมีคนคิดจะทำปลอมเลย เมื่อทราบถึงสาเหตุ จึงได้ไปพบกับเจ้าหน้าที่เกษตรประจำเมือง เรื่องนี้จึงจบไป ด้วยการไม่มีการดำเนินการใดๆ
 

การค้าขายในประเทศเมียนมา บางครั้งเราคิดว่าง่ายๆ แต่ในความเป็นจริงแล้ว หากสินค้าติดตลาดแล้ว ยังคงต้องมีการติดตามสอดส่องอย่างใกล้ชิดต่อไป หากละเลยเมื่อไหร่ อะไรก็เกิดขึ้นได้ ดังนั้นผู้เป็นเจ้าของสินค้าเอง ที่มักจะคิดว่าง่ายๆเมื่อมีโอกาส ก็จะดึงเอามาทำเอง สุดท้ายก็ตกม้าตายเสมอครับ ต้องพูดว่า “จริยธรรมทางการค้า” จงอย่าได้ละเลยครับ