ลูกอิสานแห่งลุ่มน้ำอิยะวดี 6

13 ก.พ. 2565 | 23:30 น.

คอลัมน์ เมียงมอง เมียนมา โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

หลังจากที่ได้ตัดสินใจว่าจะขายเมล็ดพันธุ์พืชโดยตรงให้แก่เกษตกร สิ่งแรกที่จะต้องทำคือ เข้ารับการอบรมเกี่ยวกับเรื่องเกษตรพื้นฐาน จนถึงเรื่องของพืชสวนต่างๆ รวมทั้งเรื่องของปุ๋ยเคมีการเกษตร อีกทั้งเรื่องการเพาะปลูก ซึ่งต้องใช้เวลานานพอควร เพราะทุกอย่างเป็นเรื่องใหม่สำหรับศักดิ์ อีกทั้งบทเรียนจากการล้มเหลวในครั้งที่ผ่านมา ทำให้เขาต้องมีความละเอียดและยับยั้งชั่งใจพอสมควรเลยทีเดียว สำคัญที่สุดคือการที่จะลองผิดลองถูกอีกครั้งไม่ได้แล้ว เพราะอายุอานามก็ล่วงเลยวัยที่จะไปลองผิดอีกครั้งได้ ดังนั้นศักดิ์จึงทุ่มเทเวลาทั้งหมดไปกับการเรียนรู้ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้นั่นเองครับ
 

เมื่อมั่นใจว่าตนเองน่าจะพอมีความรู้ด้านการเกษตร ทั้งที่ในช่วงที่เรียนปริญญาตรี ก็เคยได้ลงเรียนมาบ้างแล้ว พอเมื่อเริ่มเรียนตอนอายุมาก เพื่อที่จะนำไปใช้ประกอบอาชีพในต่างประเทศ ยิ่งต้องมีความตั้งใจมากกว่าเดิมอีกมาก ดังนั้นศักดิ์ใช้เวลาหลายเดือน จึงเข้าใจและมั่นใจว่าต้องรอดแน่ จึงเข้าไปขอรับความช่วยเหลือจากเพื่อนรัก ในการจัดหาเมล็ดพันธุ์พืชหลากหลายชนิดให้
 

ศักดิ์จึงเริ่มต้นเดินทางเข้าไปสู่ประเทศเมียนมาทันที จากนั้นก็เดินทางต่อไปยังรัฐอิยะวดี อันเป็นแหล่งทำมาหากินที่คุ้นเคยของตนเอง และเข้าไปพบกับกลุ่มเกษตกรเพื่อนำเสนอเมล็ดพันธุ์พืชทันที การเดินทางครั้งนี้ ก็นับว่าเป็นการเริ่มต้นชีวิตใหม่และอาชีพใหม่ของตนเองเช่นกัน เขามีแต่ “ใจกล้า”เท่านั้น ส่วนความรู้เรื่องรายละเอียดของเมล็ดพันธุ์พืช เขาก็เรียกว่าไม่ได้ลึกซึ้งไปมากสักเท่าไหร่เลยครับ

 

สำหรับอาชีพใหม่ของศักดิ์ ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะเรียนรู้กันได้อย่างง่ายๆเลย ดังนั้นการเดินตรงเข้าไปหาเกษตรกรต่างชาติต่างภาษาเพื่อขายสินค้านั้น ก็ยากยิ่งกว่าหินจริงๆ ต้องไปกราบขอความเมตตาจากเขา ซึ่งก็ไม่ได้สมหวังไปเสียทุกเรื่อง เพราะเอาเข้าจริงๆ การขายเมล็ดพันธุ์พืช นอกจากจะต้องอธิบายถึงสรรพคุณของเมล็ดพันธุ์ที่นำเสนอแล้ว ยังจำเป็นต้องให้ตัวอย่างแก่เกษตรกรเพื่อทดลองเพาะปลูกก่อน
 

แต่สิ่งที่คิดไม่ได้เป็นไปอย่างที่ตนเองหวังไว้ เพราะปัจจัยที่จะทำให้เกษตรกรทดลองปลูกนั้นมีเยอะมาก เพราะต้องรอฤดูการเพาะปลูกก่อน จากนั้นต้องทำให้เกษตรกรมั่นใจว่าเมล็ดพันธุ์ใหม่ที่รับมานั้น ต้องได้ผลดีกว่าเมล็ดพันธุ์ดั้งเดิมที่มีอยู่ในมือด้วย ซึ่งพืชทุกชนิดไม่ใช่ว่าปลูกวันนี้พรุ่งนี้จะเห็นผล จะต้องให้เวลางอกเงย ออกดอกออกผลก่อนจึงจะทราบได้ว่าดีจริง ซึ่งเป็นสิ่งที่ศักดิ์ไม่เคยคิดมาก่อนเลย นับว่าเป็นเรื่องที่คาดไม่ถึงจริงๆ
 

หลังจากที่เดินทางไปทั่วรัฐอิยะวดีจนทั่วแล้ว ศักดิ์ก็คิดว่าไหนๆ ก็ลุยแล้ว ก็ยังไม่ควรล้มเลิกง่ายๆ จึงเดินทางต่อไปอีกสาม-สี่รัฐ เพื่อเป็นการสำรวจตลาดไปในตัว การเดินทางในครั้งนี้ ทำให้ศักดิ์ได้มีแนวคิดและความรู้เพิ่มขึ้นอีกมาก เช่น แต่ละรัฐจะมีการเพาะปลูกพืชที่แตกต่างกันไป ฤดูกาลของแต่ละพื้นที่ก็แตกต่างกัน ความนิยมเพาะปลูกพืชผักผลไม้ก็ไม่เหมือนกัน ซึ่งทำให้เขาเข้าใจได้ว่า ต่อจากนี้ไปหากจะคิดขายอะไรควรจะต้องเดินทางไปที่ไหนจึงจะเหมาะสมที่สุด จึงเป็นจุดแข็งของศักดิ์ที่มีมากกว่าคู่แข่งคนอื่นๆ โดยเฉพาะบริษัทใหญ่ๆ ที่มักจะนิยมใช้ให้ลูกน้องเป็นผู้เดินสำรวจและขายของ ในขณะที่ศักดิ์เอง ใช้วิธี “เข้าถึง เข้าใจ เข้าทุกบ้าน” เป็นกลยุทธที่ทำให้ประสบผลสำเร็จในเวลาต่อมานั่นเอง
 

เมื่อเริ่มรู้ว่าการขายเมล็ดพันธุ์พืชนั้นต้องใช้เวลานานเป็นปีๆ จึงจะสามารถขายได้ ศักดิ์ก็เริ่มคิดว่า เราคงรอเวลาด้วยการนั่งๆนอนๆ เพื่อรออย่างเดียวไม่ได้ เขาจึงเริ่มมองหาสิ่งที่จะนำมาขายต่อไป เขาจึงเริ่มเดินทางกลับมากรุงเทพฯอีกครั้ง เพื่อเดินหน้าหาปุ๋ยเคมีเข้ามาประเทศเมียนมาขาย ซึ่งก็ยากมากๆ เพราะบริษัทใหญ่ๆ ล้วนมีเอเย่นต์กันหมดแล้ว ทั้งเอเย่นต์ที่อยู่ตามชายแดน และเอเย่นต์ที่อยู่ในย่างกุ้ง ดังนั้นการเดินทางกลับมากรุงเทพฯครังนี้ ทำให้ศักดิ์ท้อใจมาก เพราะไม่สามารถหาบริษัทปุ๋ยเคมีที่จะยอมให้สินค้าไปขายได้
 

จนกระทั่งได้มีการนัดเพื่อนๆ ทานข้าวสนทนากัน ในช่วงหนึ่งของการสนทนานั้น ศักดิ์ได้เปรยขึ้นมาถึงการหาบริษัทปุ๋ยเคมี และช่างบังเอิญที่มีเพื่อนคนหนึ่ง ที่เคยเรียนมัธยม 4 มาด้วยกัน ซึ่งในช่วงที่เรียนนั้นมีการออกค่ายวิทยาศาสตร์ที่กรุงเทพฯ เพื่อนคนนี้ก็ได้นอนห้องเดียวกันมา เรียกว่ากินนอนมาด้วยกันนั่นเอง เขามีเพื่อนสนิทที่เรียนมากับเขาท่านหนึ่ง ได้เปิดโรงงานผลิตปุ๋ยเคมีใหม่ๆ ซึ่งเป็นโรงงานที่เล็กๆ ไม่ใหญ่โตมาก เขาจึงรีบนัดหมายเพื่อพาศักดิ์ไปรู้จักกับเจ้าของโรงงานที่เป็นเพื่อนเขาทันที
 

หลังจากที่ได้พบเจอกันแล้ว ศักดิ์จึงได้อธิบายถึงแนวคิดของเขา ให้แก่เจ้าของโรงงานฟัง อีกทั้งนำเอารูปถ่ายและเอกสารต่างๆ ที่ศักดิ์ได้ทำไว้ ในช่วงขณะเดินสำรวจตลาด มาให้แก่เจ้าของโรงงานดู เขาจึงได้เริ่มต้นได้เป็นเอเย่นต์ปุ๋ยยี่ห้อนั้นทันที ซึ่งแนวคิดของศักดิ์ในการเป็นตัวแทนแต่เพียงผู้เดียว คือไม่ต้องการให้มีการแข่งขันกันในเรื่องราคาจำหน่าย เพราะการมีตัวแทนหลายราย มักจะหลีกหนีไม่พ้นการแข่งขันกันขายสินค้า สุดท้ายเมื่อขายไม่ได้ก็จะเอากำไรที่ตนเองควรจะได้ ออกมาห่ำหั่นราคากันเอง
 

ในด้านของเจ้าของสินค้าอาจจะมองว่าเป็นการดี ที่มีการกระตุ้นการขายให้ขายสินค้าได้เยอะๆ แต่ในทางกลับกันในอนาคต สุดท้ายแล้วสินค้าก็จะหมดสิ้นไปในตลาดโดยธรรมชาติ เพราะเมื่อคนขายไม่ว่าจะเป็นชั้นที่หนึ่งคือผู้แทนนำเข้า ชั้นที่สองคือผู้แทนท้องถิ่นหรือตั่วปั้ว ชั้นที่สามคือกลุ่มผู้แทนประจำเขตหรือจังหวัดหรือยี่ปั้ว และชั้นสุดท้ายคือผู้ขายปลีก หรือซาปั้ว ก็จะทำเช่นเดียวกัน คือแข่งกันลดราคา ทำให้ทุกชั้นจะไม่เหลือกำไร ถ้าสินค้ายังพอขายได้ กลุ่มต่างๆก็จะยอมขายเพื่อนำเงินมาหมุนทางธุรกิจ แต่ถ้าสินค้าขายลำบากขึ้น ทุกคนจะเบื่อหน่ายไม่ยอมขาย สินค้าก็จะจบวงจรการขายโดยปริยาย ซึ่งศักดิ์ได้ต่อรองขอเป็นผู้แทนจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียว ทางบริษัทซึ่งมีความคิดคล้ายๆกันก็จึงยินยอม การค้าจึงได้เริ่มต้นขึ้นทันที
 

การเดินทางของธุรกิจใหม่ของศักดิ์กำลังจะเริ่มต้นขึ้น ครั้งต่อไปผมจะนำเอาอุปสรรคและรายละเอียดมาเล่าให้ฟังต่อไป โปรดติดตามตอนต่อไปนะครับ