ลูกอิสานแห่งลุ่มน้ำอิยะวดี 8

28 ก.พ. 2565 | 00:35 น.

คอลัมน์ เมียงมอง เมียนมา โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

การเดินทางเข้าสู่สนามรบทางการค้า ย่อมมีอุปสรรคมากมาย เส้นทางไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอไป แต่บางครั้งพอเวลาที่ประสบผลสำเร็จแล้ว คนที่มามองเห็นมักจะเห็นแต่ช่วงที่หอมหวลเพียงอย่างเดียว เวลาทุกข์ยากลำบากแค่ไหน คนย่อมจะไม่เห็นเสมอ ดังนั้นเวลาเล่าดูเหมือนง่ายๆ แต่ถ้าให้ทำจริงๆ นั้นยากเย็นเข็ญใจจริงๆ ครับ
 

ปัญหาที่เกิดขึ้นในบริษัทใหญ่ที่มักจะมีความขัดแย้งกันระหว่างฝ่าย ที่ค่อนข้างจะมีมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างฝ่ายขายกับฝ่ายการตลาด ที่ทำงานด้วยความเป็นตัวของตัวเอง ไม่ได้ประสานงานกัน เพราะทุกฝ่ายล้วนต้องการผลงานด้วยกันทั้งนั้น จึงเป็นจุดอ่อนที่คุณศักดิ์มองเห็นและเคยประสบมากับตัวเองในอดีตมาก่อน
 

เมื่อเข้าไปสู่ตลาดเมียนมาแล้ว เขาก็ได้สังเกตุเห็นถึงปัญหาที่บริษัทใหญ่กำลังประสบอยู่ สัญญาณที่ทำให้เขาเห็นคือการเร่งทำการโปรโมทสินค้าด้วยการทุ่มงบโฆษณาและโปรแกรมการตลาด แต่สินค้าที่ส่งเข้าสู่ประเทศเมียนมามีน้อยไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า อีกทั้งสินค้าที่ส่งเข้ามามีคุณภาพที่ไม่ได้มาตรฐานเหมือนสินค้าที่เคยขายอยู่เดิม นั่นเป็นการบ่งบอกว่าทุกฝ่ายทำงานไม่ได้ประสานงานกันดีพอ เพราะเหตุการณ์เช่นนี้ คุณศักดิ์ก็เคยเจอมาก่อน
 

กล่าวคือการทำงานของฝ่ายการตลาด ที่ต้องการเร่งสร้างผลงานด้วยการทุ่มงบประมาณลงไป แต่ฝ่ายขายก็ต้องการผลงาน ด้วยการรับออเดอร์มากจนฝ่ายผลิตทำงานไม่ทัน อีกทั้ง QC เองเมื่อถูกเร่งให้รีบจัดส่งสินค้า จึงหละหลวมปล่อยสินค้าที่ยังไม่ครบกำหนดการพักรอดูคุณภาพออกไปสู่ตลาด ฝ่ายขายก็รับคำร้องเรียนและเครมสินค้ากลับไม่ทัน เมื่อสินค้าถึงมือผู้บริโภคขั้นสุดท้าย คือเกษตรกรที่ไม่มีความระมัดระวัง เมื่อใช้สินค้าดังกล่าวแล้วไม่ได้ผลตามความต้องการของเกษตรกร จึงมีความผิดหวังกับตัวสินค้านั่นเอง
 

ซึ่งเหตุการณ์เช่นนี้ ทางพนักงานบริษัทนั้นก็ทราบดี แต่ทุกคนต่างมีงานล้นมือ และไม่อยากที่จะก้าวก่ายซึ่งกันและกัน ก็เปรียบเสมือนการเล่นกีฬาวอลเลย์บอล ที่ลูกลงที่จุดเกรงใจ ทำให้ไม่มีใครเข้าไปรับลูกนั่นแหละครับ การแก้ไขปัญหาดังกล่าว ถ้าไม่ได้มีการจัดการขั้นเด็ดขาด ปัญหาก็จะเกิดเหมือนดั่งที่เห็นนั่นเอง ซึ่งศักดิ์เมื่อรู้จุดอ่อนดังกล่าวแล้ว จึงเร่งโจมตีทันที ด้วยการส่งสินค้าที่มีคุณภาพที่ดีกว่า ไปให้เกษตรกรลองใช้ฟรี เมื่อผลผลิตออกมาได้ผลที่ดีกว่ายี่ห้อเก่า จึงเกิดการกระจายข่าวในหมู่เกษตรกรขึ้น ศักดิ์จึงใช้โอกาสนี้กระทุ้งซ้ำเข้าไปอีกที ด้วยการจัดทำแผนการขาย ที่ให้ถูกใจเกษตรกรได้มากกว่าเจ้ายักษ์ใหญ่นั้น สินค้าของศักดิ์จึงเข้าสู่ตลาดได้อย่างสง่าผ่าเผยเลยครับ
 

อย่างไรก็ตามธุรกิจก็คือการแข่งขัน ทุกหน่วยธุรกิจต้องสร้างแวร์ลูของตนเอง การที่ศักดิ์กระโดดเข้าไปทำเอง แทนที่จะให้ลูกน้องหรือพนักงานทำ ย่อมเข้าถึงผู้บริโภคที่ได้ผลที่ดีกว่าเยอะ แต่การค้าปุ๋ยเคมีนั้น จะทำอย่างไรให้ได้ผลที่ทุกฝ่ายต่างยอมรับ ด้วยการไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องที่ยากมาก เปรียบเสมือนการได้อย่างเสียอย่าง เพราะสารเคมีนั้นมีทั้งผลดีและผลเสีย หากต้องการเร่งประสิทธิภาพของสินค้า ก็ต้องใส่สารเคมีที่เข้มข้นกว่าเดิม จึงจะได้ผลที่ดีตามต้องการ
 

ในขณะเดียวกันก็ย่อมส่งผลกระทบถึงสิ่งแวดล้อมกับตัวบุคคลผู้ใช้สารเคมีดังกล่าวด้วย เพราะอาจจะไปสร้างปัญหาด้านสุขภาพของเกษตรกรด้วย อีกทั้งผู้ค้าบางรายที่คิดเพียงการลดต้นทุน จึงใช้วิธีการผสมสารเคมีที่ไม่ได้มาตรฐาน ที่มีราคาถูกกว่าสารเคมีที่ดีมีมาตรฐาน โดยไม่ได้คำนึงถึงผลลัพธ์ที่จะตามมา ดังนั้นการค้าปุ๋ยเคมีจึงต้องมีความรู้จักเพียงพอ ไม่โลภมากจนเกินไป อีกทั้งต้องมีคุณธรรมจริยธรรมที่ดี เพราะมิเช่นนั้นผลที่ตามมา อาจจะมีปัญหาตามมาทีหลัง แม้จะไม่สามารถรู้ได้ภายในสามวันห้าวัน แต่บาปที่ติดตราตรึงใจ จะยังคงลอยอยู่กับตนเองตลอดไปครับ
 

ศักดิ์เองที่ค้าปุ๋ยเคมีด้วยความระมัดระวัง แต่วัตถุประสงค์หลัก คือการค้าเมล็ดพันธุ์พืชเป็นสำคัญ ปุ๋ยเคมีอาจจะเป็นเพียงใบเบิกทาง ให้เข้าถึงเกษตรกรเท่านั้น เพราะปุ๋ยเคมีและยาปราบศัตรูพืช รวมทั้งยารักษาโรคพืช ถ้าใช้ผิดวิธี ผู้ใช้และผู้บริโภคสินค้า จะได้ผลลัพธ์ที่คาดไม่ถึง แต่การค้าที่ยั่งยืน ศักดิ์คิดว่าน่าจะเป็นการขายเมล็ดพันธุ์พืช เพราะดีต่อการเพิ่มผลผลิต ทั้งยังดีต่อสุขภาพของเกษตรกรผู้ใช้และผู้บริโภค อีกทั้งไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
 

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ “ข้าวโพดหวาน” ในยุคเริ่มต้นจะใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ฝักอ่อนๆ นำมาต้มหรือมาปิ้งรับประทาน ต่อมาก็เริ่มมีการพัฒนาเป็นข้าวโพดหวานเพื่อการบริโภคพันธุ์ธรรมดา แต่ปัญหาเรื่องของการเติบโตไม่สม่ำเสมอ การเก็บเกี่ยวผลผลิตก็ใช้เวลาไม่เท่ากัน ถ้าเป็นการปลูกเพื่อบริโภค ก็ไม่มีปัญหาอะไร ซึ่งก็ดีเสียอีกที่ได้ทะยอยเก็บทะยอยกิน แต่ถ้าปลูกเพื่อเป็นธุรกิจ ก็ไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ จึงได้มีการพัฒนาเป็นข้าวโพดหวานลูกผสม ที่มีประสิทธิภาพและคุณภาพที่ดีขึ้นมาอีก เพราะมีการเจริญเติบโตที่เร็วไวกว่า มีความสม่ำเสมอกว่า อีกทั้งรสชาติจะหวานกว่าสายพันธุ์เดิม จึงทำให้ไปกระตุ้นความต้องการของตลาด เพราะผู้บริโภคได้รับประทานแล้วติดใจในความอร่อย เมื่อมี Demand จากความนิยมของผู้บริโภคเพิ่ม Supply หรือผู้ผลิตคือเกษตรกรก็เกิดความเชื่อมั่น ที่จะปลูกออกมาแล้วก็ขายได้ ก็จะเพิ่มตามมาอย่างคาดไม่ถึงนั่นเองครับ
 

การค้า-ขายสินค้าเกษตรนั้นวงจรของการค้าค่อนข้างจะเป็นวงกว้างมาก อาทิตย์หน้าผมจะเล่าให้ฟังต่อนะครับ โปรดติดตามตอนต่อไปครับ