ลูกอิสานแห่งลุ่มน้ำอิยะวดี 5

06 ก.พ. 2565 | 19:45 น.

คอลัมน์ เมียงมอง เมียนมา โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

     การรอดตายจากโชคช่วย เพราะล้มเหลวจากการทำธุรกิจของตัวเองในครั้งแรกของชีวิต ทั้งกิจการโรงงานกะปิ ที่ล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่า และโรงงานกุ้งแห้ง ที่ตอนแรกคิดว่าจะช่วยดึงเอาเงินที่ลงทุนไปแล้วกลับคืนมาได้บ้าง แต่หาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะความที่รู้ไม่จริงและคิดไปเองของศักดิ์ ทำให้เขาต้องเดินทางกลับบ้านด้วยความชอกช้ำ แต่เขาก็หาได้เข็ดหลาบกับการลงทุนในประเทศเมียนมาไม่ อาจจะเป็นเพราะว่า หลังจากที่รู้ว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงดลบันดาลให้ต้องเดินทางกลับประเทศตนเอง จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ถล่มของพายุไต้ฝุ่นนาร์กิส ที่ทำให้เกิดการสูญเสียในชีวิตประชาชนมากถึงหนึ่งแสนหกหมื่นกว่าคน เขาคิดว่าการที่ต้องล้มเหลวจากธุรกิจนั้น ต้องเป็นพรหมลิขิตอย่างแน่นอน มิเช่นนั้นหากเขายังคงมีกำไรในการทำธุรกิจนั้นอยู่ เขาก็คงจะไม่คิดกลับมาบ้าน ถ้าเป็นเช่นนั้น เขาคงต้องจากไปด้วยวัยอันไม่สมควรอย่างแน่นอนครับ

 

     เมื่อช่วงที่กลับมาบ้าน ทำให้ศักดิ์ต้องคิดทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเขา ว่าทำไมฝีมือระดับที่เถ้าแก่เดิมของเขา ยังให้ความไว้วางใจมาก แต่ทำไมเมื่อมาทำธุรกิจเอง จึงไม่ประสบผลสำเร็จ สิ่งหนึ่งที่ทำให้เกิดความล้มเหลว ศักดิ์คิดว่า เป็นเพราะเขาอายุยังน้อย ประสบการณ์ทำธุรกิจของตัวเองไม่มี “ทำให้คิดไปเองหมด” บางครั้งการที่มองโลกเพียงด้านเดียว จะทำให้มีการเอนเอียงเข้าข้างตนเองเสมอ ซึ่งสิ่งที่เรานิยมชมชอบ ถ้าไม่ใช่ผู้บริโภคนิยมหรือชอบด้วย สินค้าที่ผลิตออกมาย่อมขายไม่ได้ ซึ่งจุดนี้เป็นจุดบอดที่ทำให้คนล้มเหลวมาเยอะแล้ว เพราะบางครั้งความเคยชินจากรสชาติที่คุณแม่ทำให้ทานที่บ้าน เรามักจะคิดเสมอว่าเป็นของที่อร่อยที่สุดในโลก ในขณะที่ร้านค้าที่ขายอาหารได้ดีมากๆ อาจจะไม่ใช่รสชาติที่คล้ายคลึงกับรสชาติที่เราเคยทานมาก็ได้ ดังนั้นการอ่านตลาดในปัจจัยของรสนิยมของผู้บริโภค หากอ่านผิดพลาดไปก็ทำจะให้เกิดความล้มเหลวของกิจการได้

     อีกอย่างหนึ่งที่ศักดิ์คิดได้ ก็คือการดำเนินธุรกิจที่ไม่ได้ใช้จุดแข็งของตนเองที่มีอยู่ จึงเป็นความสุ่มเสี่ยงอย่างสูง เพราะศักดิ์นั้นเรียนปริญญาตรีมาทางด้านจุลชีววิทยา และปริญญาโททางด้านการบริหาร แต่กลับไปทำโรงงานกะปิ ซึ่งมันเป็นเรื่องที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกันเลย ส่วนประสบการณ์ในการบริหารโรงงานผลิตหนังเทียมที่ประเทศไทย ก็ไม่ได้นำไปใช้ที่ประเทศเมียนมาเลย
 

     นี่จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เขาคิดว่าน่าจะมีส่วนในการล้มเหลวครั้งนี้ ก็คือความใจร้อนหรือบุ่มบ่ามมากจนเกินไป เห็นอะไรก็ดีไปหมด ไม่ได้ไปปรึกษาผู้รู้หรือผู้มีประสบการณ์นั่นเอง เหตุที่ทำให้ไม่ไปขอคำปรึกษา อาจจะเป็นเพราะมีความเชื่อมั่นในตัวเองสูงเกินไป อีกทั้งเกรงว่าความลับจะรั่วไหล จึงได้แต่คิดเองเออเอง ทำไปโดยคิดว่าใช่ นี่จึงน่าจะมีส่วนในความล้มเหลวครั้งนี้อย่างแน่นอน

 

     หลังจากที่คิดได้เช่นนี้ เขาจึงได้นำเอาความคิดที่จะกลับไปสู่ประเทศเมียนมาอีกครั้ง ไปปรึกษาเพื่อนๆ หลายคน ซึ่งสิ่งที่ได้มาคือ เพื่อนๆ ต่างสอบถามถึงภูมิศาสตร์ของประเทศเมียนมาว่า ที่นั่นมีอะไรในต่างจังหวัดบ้าง? เพราะถ้าลงมือครั้งต่อไป ศักดิ์คงมีเงินทุนไม่มากพอที่จะลงมือทำในเมืองใหญ่อย่างเช่นย่างกุ้งหรือมัณฑะเลย์ เพราะที่นั่นทุกอย่างค่อนข้างจะแพง ทั้งค่าครองชีพก็สูงมาก เมื่อได้เล่าเรื่องราวที่พบเห็นในต่างจังหวัดให้เพื่อนฟัง
 

     เพื่อนๆหลายคนจึงลงความเห็นว่า ศักดิ์น่าจะเอาสินค้าที่คนต่างจังหวัดต้องการ ไปขายตรงให้คนต่างจังหวัดเลย ไม่ควรที่จะขายผ่านนายหน้าหรือพ่อค้าคนกลาง แต่แล้วจะเป็นอะไรละที่สามารถทำได้เช่นนั้น? เพราะสินค้าที่เป็นเครื่องอุปโภค-บริโภค ถ้าไม่ขายผ่านพ่อค้าคนกลาง ก็ยากที่จะสามารถดำเนินการได้ เพราะทุกอย่างล้วนต้องมีการกระจายสินค้าอย่างเป็นระบบทั้งสิ้น คำถามว่าจะเอาอะไรไปขายให้ถึงมือผู้ซื้อ จึงเป็นปัญหาที่ต้องขบคิดกันอีกต่อไป

 

     เมื่อกลับบ้านตั้งหลักคิดใหม่อีกครั้ง นอนคิดอยู่หลายคืน จึงคิดได้ว่าน่าจะเป็นสินค้าที่เกี่ยวกับการเกษตร ที่เกี่ยวกับการเกษตรก็มีอยู่หลากหลายชนิด เริ่มตั้งแต่เครื่องจักรการเกษตร ซึ่งก็จะต้องใช้เม็ดเงินที่หนาพอ จึงจะซื้อไปขายได้ ต่อมาก็ปุ๋ยและเคมีการเกษตร ก็ถูกผูกขาดโดยบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างๆ จึงยากที่จะเข้าถึงได้ อุปกรณ์การเกษตร ก็เช่นกันที่จะต้องใช้ทุนสูง หรือจะลงไปทำการเกษตรโดยตรงเองเลย แต่ตนเองก็ไม่เคยทำนามาก่อนเลยในชีวิต การทำไร่ทำสวนก็ไม่เคยทำ จึงคิดว่าไม่ใช่ชีวิตของตนเองเช่นกัน จึงเหลือเพียงขายเมล็ดพันธุ์พืช ที่พอจะจับต้องได้ จึงได้เข้าไปนัดพบเพื่อนๆอีกครั้ง เพื่อขอคำแนะนำ
 

     ซึ่งบังเอิญว่ามีเพื่อนคนหนึ่ง ที่บ้านได้ทำธุรกิจนี้อยู่ เขาจึงให้คำแนะนำ และบอกว่าต้องเหนื่อยมากนะ เพราะต้องเดินทางไปเพื่อพบกับเกษตรกรโดยตรงตามเมืองต่างๆในประเทศเมียนมา ซึ่งศักดิ์ก็คิดว่า ไม่มีทางเลือกมากนัก เพราะโรงงานของเขาที่รัฐอิยะวดี ก็ถูกพายุไต้ฝุ่นนาร์กิส พัดกระหน่ำจมธรณีไปหมดแล้ว ที่ดินก็เป็นที่ดินเช่า ซึ่งเมื่อไม่มีอะไรเหลือให้ใช้ได้  จึงต้องทำทุกอย่างที่ยังพอมีโอกาสเท่านั้น จึงเป็นหนทางสุดท้ายที่ต้องเดินหน้าต่อไป

 

     เมื่อความคิดว่าจะนำเอาเมล็ดพันธุ์พืชเข้าไปขาย ให้แก่เกษตรกรในประเทศเมียนมาตกผลึก ศักดิ์จึงได้ขอตัวอย่างเมล็ดพันธุ์พืชจากบริษัทของเพื่อน แล้วจึงเดินทางกลับเข้าไปในประเทศเมียนมา เพื่อทำตลาดขายเมล็ดพันธุ์พืชทันที ชีวิตหักเหเพราะความจำเป็น เปรียบเสมือนกำลังจะจมน้ำตาย พอมีอะไรมาให้เกาะไว้เพื่อเอาตัวรอด ศักดิ์จึงไม่รีรอที่จะต้องรีบเกาะให้แน่น แม้จะรู้ว่านั่นเป็นเพียงฟางก้อนน้อยๆ ก็ต้องรีบไขว่คว้ามาเกาะให้ได้ ซึ่งนับว่าเป็นโชควาสนาดลบันดาลจริงๆ ทำให้ความบากบั่นมานะอดทนและไม่ย่อท้อ จึงทำให้ศักดิ์มีวันนี้ได้ อย่างไรก็ตาม ยังมีรายละเอียดของการต่อสู้กับปัญหาอุปสรรคอีกเยอะ ที่น่าสนใจติดตามชีวิตของหนุ่มอีสาน แห่งลุ่มน้ำอิยะวดี โปรดติดตามตอนต่อไปครับ