ชีวิตบั้นปลายที่มีความสุขของคนชรา

04 มี.ค. 2565 | 23:30 น.

คอลัมน์ชีวิตบั้นปลายของชายชรา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้อ่านหนังสือพิมพ์ญี่ปุ่นฉบับหนึ่ง ที่พูดถึงอายุของผู้สูงวัยในประเทศญี่ปุ่น ที่กล่าวถึงการเปรียบเทียบวัยของผู้หญิงและผู้ชาย เขาบอกว่าชาวญี่ปุ่นที่เป็นผู้หญิงจะมีอาการอ่อนวัยมากกว่าผู้ชายถึงสามปีทีเดียว 


หากดูจากปัจจัยการใช้ชีวิตและสภาพของสรีระร่างกาย ซึ่งเหตุผลของเขา อาจจะเป็นเพราะผู้ชายต้องมีภาระหน้าที่ต้องแบกไว้บนหลังมากกว่าผู้หญิงนั่นเอง เพราะที่ประเทศญี่ปุ่นผู้ชายจะเป็นช้างเท้าหน้าเสมอ ส่วนผู้หญิงก็จะทำหน้าที่แม่บ้านที่คอยดูแลลูกๆ และบ้านเรือนเท่านั้น ดังนั้นสภาวะเช่นนี้ ส่งผลให้ผู้ชายต้องมีอาการแก่กว่าวัยนั่นเองครับ
 

อีกประการหนึ่งของการทำวิจัยคือ  สิ่งหนึ่งที่ทำให้ผู้สูงวัยในประเทศญี่ปุ่นมีอายุสูงกว่าประเทศอื่นๆ เขาก็ยังระบุว่าปัจจัยหลักคือ การใช้ชีวิตบั้นปลายอย่างมีความสุข ไม่เครียดมากจนเกินไป จะทำให้มีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น 


อันนี้ผมเห็นด้วยทุกประการเลยครับ เพราะหากเราสังเกตให้ดี จากบรรดาเหล่าผู้สูงวัยรอบตัวเรา หากท่านใดเป็นบุคคลที่มีอารมณ์ที่ดี ไม่เครียดเกินไป หรือมีความสุขในการใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ จะทำให้มีอายุยืนยาวขึ้นแน่นอน

ส่วนใหญ่ครอบครัวที่มีผู้สูงอายุที่มีความสุข เหตุผลจะมาจากลูกหลานแทบทั้งสิ้นครับ ถ้าหากครอบครัวใดลูกหลานที่ประพฤติตนดี มีความกตัญญูรู้คุณ จะนำความปลาบปลื้มใจมาให้พ่อแม่เสมอ ในทางกลับกัน ถ้าหากครอบครัวไหนที่ลูกหลานไม่ดีหรือเกเรเกตุง เราจะไม่ค่อยได้เห็นที่บ้านนั้นมีคนแก่อยู่สักเท่าไหร่ จะมีก็เป็นส่วนน้อยจริงๆ ครับ
      

อย่างไรก็ตาม ผลวิจัยที่กล่าวมานั้น เป็นสัจธรรมจริงๆ แล้วเมื่อหากเราเป็นคนสูงวัย ควรจะทำอย่างไรให้ไม่เป็นภาระของลูกหลาน ผมเชื่อว่าสถานการณ์ทุกวันนี้ เราอยู่ในสภาวะต่างๆ ที่รุมเร้าเข้าสู่สังคมแบบไทยๆ เรา ไม่ว่าจะเป็นผลจากโรคระบาดโควิด-19 ที่ส่งผลให้การดำรงชีวิตของคนไทยเรา ทำให้เราอยู่ยากลำบากกว่าเดิม 


อีกทั้งเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ การทำมาหารับประทานก็แสนจะขัดสน ยากลำบากกว่าทุกยุคทุกสมัยที่ผ่านมา จึงทำให้ลูกหลานที่ขึ้นมาเป็นผู้นำในครอบครัว ต้องพยายามดิ้นรนเอาตัวรอดจากพิษภัยของเศรษฐกิจ 


อีกทั้งสภาพของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ก็ทำให้คนในสังคมเรา ได้เปลี่ยนไปจากเดิมมาก ไม่เหมือนยุคเก่าๆ เดิมๆ อีกต่อไป นี่อาจจะเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ผู้เป็นหัวหน้าครอบครัว ที่เปลี่ยนมือจากรุ่นสู่รุ่น ต้องประสบพบเจอ 


เราเองในฐานะคนรุ่นเก่าหรือคนแก่แล้ว ก็ไม่ควรที่จะสร้างภาระต่างๆ ให้แก่ลูกหลานที่เป็นผู้ถือหางเสือของเรือต่อจากรุ่นของเรานั่นเอง
         

เมื่อเรารู้ตัวเช่นนี้ เราที่เป็นคนชรา ก็ต้องทำตัวให้ไม่เป็นภาระต่อลูกหลาน หรือต้องไม่ทำตัวเป็นตัวถ่วงความเจริญของลูกหลาน อีกทั้งต้องช่วยลูกหลานในส่วนที่เราสามารถช่วยได้ เพื่อให้เขารู้สึกว่าเขาไม่ต้องมาเหน็ดเหนื่อยกับเราจนเกินไปนั่นเองครับ เพื่อที่เขาจะได้ไม่ต้องมาคอยกังวลใจกับตัวเรามากจนเกินไปนั่นเองครับ 
        

ผมเคยมีเพื่อนคนหนึ่ง ที่พอเขาเกษียณอายุไปแล้ว ยังคงพยายามคิดว่าตนเองยังแข็งแรงอยู่ ชอบที่จะทำอะไรที่เกินเลยจากกำลังของตนเองเสมอ เพราะเชื่อมั่นว่าตนเองยังเก่งเหมือนในอดีต ในทางกลับกันสังขารก็ไม่อำนวย 


พอมีอยู่วันหนึ่ง เกิดอาการหน้ามืดหกล้มในห้องน้ำ เส้นเลือดในสมองแตก กลายเป็นอัมพาตไปครึ่งตัว ต้องอาศัยลูกๆ ที่ช่วยกันมารับงานที่ตนเองทำทิ้งไว้ก่อนป่วย คราวนี้แหละถึงจะรู้ตัวว่าไม่ควรสร้างภาระไว้ให้ลูกหลานเลย 


ผมได้ไปเยี่ยมและนั่งคุยกับเขา ซึ่งปัจจุบันนี้อาการป่วยก็เริ่มทุเลาลงไปบ้างแล้ว แม้จะลดชั้นจากอัมพาตลงมาเหลือแค่อัมพฤกษ์ เขาก็บอกเตือนผมว่า 


“นายทำงานมาทั้งชีวิต ยังมีเวลาคิดทำงานใหญ่ๆ ต่ออีกเหรอ ขอให้เพลาๆ งานลงมาหน่อย อย่าได้ประมาทหลงระเริงไม่จบไม่สิ้น เพราะวันเวลาไม่เคยปราณีใคร สังขารตนเองไม่สามารถฝืนวันเวลาได้ ดังนั้นอะไรที่ควรวางมือก็ต้องวางมือได้แล้ว ให้ดูตัวอย่างที่อยู่ตรงหน้านี้ไว้ ตอนนี้อยากไปท่องเที่ยวก็ไปไม่ได้ อยากกินอาหารอร่อยๆ ก็ทำไม่ได้ หมอห้ามไปหมด เงินทองมีก็ไม่ได้ใช้ นายดูเราเป็นตัวอย่างก็แล้วกัน” 


ผมก็ได้แต่บอกขอบคุณในความเป็นห่วง แต่วันนี้ผมยังมีความสุขกับการทำงานอยู่ และยังคิดว่าความสุขของแต่ละคนล้วนแตกต่างกันไป ดังนั้นขอใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ ทำในสิ่งที่ให้ตนเองมีความสุขมากที่สุดต่อไปครับ