สร้างความสุขวัยเกษียณของชาวญี่ปุ่น

04 ก.พ. 2565 | 21:15 น.

คอลัมน์ชีวิตบั้นปลายของชายชรา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

ช่วงวันหยุดตรุษจีน ผมได้ใช้ Zoom Meeting กับผู้ประกอบการรายหนึ่งที่เป็นชาวญี่ปุ่น เพื่อเจรจาธุรกิจกัน สิ่งที่ได้จากการพูดคุยกันในวันนั้นมีมากมาย จึงอยากจะมาแชร์ให้เราคนไทย ได้เห็นวิวัฒนาการของธุรกิจบ้านพักคนวัยเกษียณของญี่ปุ่น ซึ่งปัจจุบันนี้เขาได้พัฒนาไปมากแล้วครับ
 

ในอดีตที่ผ่านมา การดูแลผู้สูงอายุของประเทศญี่ปุ่น ก็คล้ายๆกับที่อื่นๆ เพราะผู้สูงอายุจะได้รับการดูแลอย่างดี โดยจะมีการแยกตัวออกไปอยู่ในชุมชนของตนเองหรือบ้านพักคนสูงวัย ที่ไม่มีบุคคลภายนอกเข้ามายุ่งเกี่ยวด้วย เพราะจะเป็นการรบกวนความเป็นอยู่ขอผู้สูงอายุ อีกทั้งการดูแลด้านสุขภาพจะต้องใช้นักวิชาชีพที่มีทั้งกลุ่มพยาบาล ผู้บริบาล นักโภชนาการ นักกายภาพบำบัด นักจิตวิทยา และบุคลากรทางการแพทย์ เข้ามาให้การดูแลอย่างใกล้ชิด
 

ดังนั้นการเข้าไปรบกวนการใช้ชีวิตผู้สูงวัย ย่อมไม่ใช่จะเกิดผลดีต่อความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุ อีกทั้งยังจะทำให้เกิดความยุ่งยากแก่ผู้ให้บริการด้วย เขาจึงได้แยกบ้านพักผู้สูงวัยออกไปดูแลต่างหาก

ต่อมาเมื่อมีการดำเนินกิจการไปได้สักระยะหนึ่ง ก็ได้ทำการวิจัยถึงผลที่ได้รับจากการดูแลแบบเดิมที่กล่าวมา เขาจึงคิดว่า ปัจจุบันนี้ความต้องการของผู้สูงวัย จะไม่เหมือนที่คิดไว้ จึงมีการดำเนินการด้วยวิธีใหม่ที่เรียกว่า “Unit Living Management” ซึ่งจะแตกต่างจากเดิมโดยสิ้นเชิงครับ
 

ไม่ว่าจะเป็นการมีส่วนร่วมในชุมชนกับผู้สูงอายุ การดำเนินการด้วย “Community Service” หรือบริการชุมชนของผู้สูงอายุ เช่นการออกไปบำเพ็ญประโยชน์ต่อชุมชนที่อยู่รายรอบสถานที่บ้านพักคนวัยเกษียณตั้งอยู่ ซึ่งลักษณะดังกล่าว ที่ไต้หวันผมก็ได้ไปสัมผัสมา ซึ่งผมเห็นว่าเป็นการทำให้ผู้สูงวัยจะได้มีความปลาบปลื้มใจ ในการที่ได้สร้างสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อคนรุ่นหลัง ด้วยการไปสอนหนังสือถ่ายทอดความรู้ที่ตนเองมีอยู่ ไม่ทำให้ความรู้นั้นสูญสิ้นไปกับชีวิตของตนเอง หรือการมีส่วนร่วมเล็กๆน้อยๆต่อบุคคลที่ใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นการร่วมทำกิจกรรมกับคนรุ่นหลัง ที่เข้ามามีส่วนในชีวิตของตนเอง
 

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ช่วงที่คุณแม่ผมยังมีชีวิตอยู่ ในยุคที่ผมยังทำธุรกิจเพาะปลูกเห็ดขาย ท่านจะมาอยู่กับผมตลอดสามสี่ปี ในช่วงนั้นท่านจะช่วยผมตัดโคนเห็ด และช่วยแพ็คใส่ถุงพลาสติก เพื่อส่งขายที่ตลาด ผมบอกว่าไม่ต้องทำก็ได้ ท่านก็ขอทำและมีความสุขกับการได้ทำ โดยท่านจะทำไปนั่งเล่าประวัติของครอบครัวที่ประเทศจีนไป ทำให้ท่านมีชีวิตชีวาเป็นอย่างมาก มาถึงปัจจุบันนี้

พอหลังจากที่ท่านจากไปนานแล้ว ตัวผมเองก็แก่ตัวแล้ว ถึงได้รับรู้ว่า  การมีส่วนร่วมกับคนรุ่นหลังนั้น สำคัญต่อการใช้ชีวิตบั้นปลายมาก ดังนั้นลูกหลานที่มีผู้สูงวัยอยู่ที่บ้าน ควรจะต้องสรรหากิจกรรมที่ไม่หนักจนเกินกำลังของผู้สูงวัย ให้ท่านได้ทำเพื่อเป็นการมีส่วนร่วมระหว่างรุ่น นี่คือสิ่งที่ควรทำเป็นอย่างยิ่งครับ ไม่ควรคิดว่า นั่นเป็นการไปรบกวนหรือใช้งานท่าน ซึ่งไม่ให้ท่านทำอะไรเลย นั่นอาจจะทำให้ท่านเหงาหรือสร้างปัญหาให้ท่านได้ครับ
 

การดำเนินการด้าน Unit Living นั้นมีหลากหลายวิธีมาก ที่ผมยกเอาตัวอย่างให้ดูเพียงสองวิธีเท่านั้น ยังมีรายละเอียดที่ผู้ประกอบการญี่ปุ่นเขาคิดเขาทำอีกเยอะแยะมาก เพราะเขาให้เอกชนเข้ามาเริ่มดำเนินธุรกิจบ้านพักคนวัยเกษียณนี้มาตั้งแต่ปีค.ศ. 2000 แล้ว ดังนั้นเขาได้สั่งสมประสบการณ์มาร่วมยี่สิบสองปีแล้ว จึงก้าวหน้าไปกว่าเรามาก
 

โดยส่วนตัวผมคิดว่า สังคมคนไทย สังคมคนจีน สังคมคนชาติตะวันตก กับสังคมคนญี่ปุ่น ล้วนมีความแตกต่างกันมาก เราคงต้องเลือกใช้ในส่วนที่เราคิดว่า สังคมไทยเรารับได้อย่างไม่เคอะเขินครับ แต่ต้องไม่ขัดต่อศีลธรรมและประเพณีอันดีงามของไทยเรา เป็นอันว่าสามารถใช้ได้เลยครับ .......ใครเห็นด้วยยกมือขึ้นครับ!!!!