สงครามคาร์บอน เทรนด์ธุรกิจ ที่ต้องปรับตัวรับมือ 

05 ม.ค. 2565 | 05:30 น.

คอลัมน์ฐานโซไซตี โดย...กาแฟขม

*** หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3746 ระหว่างวันที่ 6-8 ม.ค.2565 โดย...กาแฟขม
 

*** ต้อนรับแฟนฐานเศรษฐกิจ THANDIGITAL ทุกท่านเข้าสู่ศักราชใหม่ 2565 มีสติตั้งมั่นและอยู่ในความไม่ประมาท จะนำทุกท่านผ่านพ้นวิกฤติไปได้ทั้งปวงไปได้อย่างแน่นอน ส่งท้ายปีวัวบ้าก้าวย่างสู่ปีเสือ ขอให้เป็นเสือดี อย่าเป็นเสือคลั่ง เสือดุ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม
 

*** เกิดขึ้นแน่แล้วและยังคงอยู่ต่อไป “โควิดสายพันธุ์โอมิครอน” ที่ลุกลามปานดอกเห็ด ก่อนสิ้นปีกระจายกว่า 30 จังหวัดทั่วไทยเฉียดพันคนแต่ปีใหม่มาทะลุพันเป็นแม่นมั่น ตามการประเมิน และทางการก็บอกว่าแนวโน้มที่ดีที่สุด ติดเชื้อวันละหมื่น เอาละวาเอาละเหวย จะสู้กับไวรัสวายร้ายอย่างไร ไวรัสตัวนี้แพร่เชื้อเร็วเดือนเดียวไป 108 ประเทศ ประเทศใหญ่ๆสหรัฐครบทุกรัฐไปแล้ว ในไทยจาก 1.5% ขึ้นเป็น 66% ในเดือนธ.ค.เดือนเดียว
 

เอาอย่างนี้ดีไหมคุณหมอผู้เชี่ยวชาญบอกว่าให้เร่งฉีดวัคซีน เข็ม 3 กันโดยเร็ว และพิจารณาเรื่องวัคซีนครึ่งโดสเป็นบูสเตอร์กันได้แล้ว และให้เร่งมือเรื่องดูแลเด็กในเรื่องวัคซีน ซึ่งหมายถึงติดได้แต่เสียชีวิตน้อยลง ฟังว่าเราต้องการเข็ม 3 ให้ได้ 70-80% ของประชากรทั้งประเทศ ประมาณ 50 ล้านคน ที่ขณะนี้รายงานฉีดวัคซีนเข็ม 3 อยู่แค่ 6.9 ล้านเศษ 7 ล้านเข็ม ยังหย่อนเป้าอยู่ไกล ใครที่ยังไม่รับเข็ม 3 ให้เร่งนัดหมายเข้า และยังต้องระวังในเรื่องการจัดเลี้ยง เฉลิมฉลอง ระวังสถานที่แออัด ใส่หน้ากากอนามัย 100% เป็นทางที่ดีที่สุดและผู้ที่กลับจากปีใหม่มาขอให้ WFH ไปอย่างน้อย 7 วัน 
 

***เทรนด์ธุรกิจที่ต้องปรับตัวรับมือ ปีเสือ สงครามคาร์บอนมาแน่ ประเด็นโลกร้อนเป็นวาระที่ต้องผลักดันร่วมกันของโลก ทุกคนเห็นมหันตภัยจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ที่ทำให้โลกร้อนขึ้นจะกลับมาเล่นงานชาวโลกอย่างรุนแรง ที่ประชุม COP26 ปลายปีก่อน กระตุ้นเตือนให้ทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases : GHG) มากขึ้น โดยประเทศที่พัฒนาแล้วได้วางแนวทางการลดก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี ค.ศ.2050(2593) 
 

*** ส่วนไทยวางเป้าหมายไว้ในปี ค.ศ.2065 (2608) โดยประเทศใหญ่ๆ ของโลกเตรียมออกมาตรการทางการค้า มากีดกันประเทศที่ยังปล่อยคาร์บอนสูง ต้องเตรียมรับมือ Carbon Tax ที่ฝั่งยุโรปจะงัดมาใช้ก่อนใคร อียูนำมา ตามด้วยสวีเดน ที่เก็บภาษีคาร์บอนสูงสุดของโลก 137 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า(CO2), ฝรั่งเศส 52 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน CO2 สวิตเซอร์แลนด์เก็บ 101 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน CO2, ญี่ปุ่น 3 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน CO2 (เก็บจากพลังงานฟอสซิลทั้งหมด) สิงคโปร์เก็บ 4 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน CO2 (เก็บจากอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานฟอสซิล), แอฟริกาใต้ 9 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน CO2 (เก็บจากอุตสาหกรรม ขนส่ง อาคารที่ใช้พลังงานฟอสซิล)
 

*** ยุโรปตั้งเป้าหมายในปี ค.ศ.2030(2573) จะลดก๊าซเรือนกระจกลง 55% และเป็นศูนย์ในปี 2050 (2593) จะเก็บภาษีคาร์บอนจากสินค้านำเข้าจากมาตรการ CBAM (Cross Border Adjustment Mechanism) มีในปี 2566 โดย 5 สินค้าที่มีกระบวนการผลิตที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนหรือก๊าซเรือนกระจกสูง ได้แก่ ซีเมนต์ ไฟฟ้า ปุ๋ย เหล็กและเหล็กกล้า และอะลูมิเนียม และยังมีมาตรการกีดกันการค้าว่าด้วยโลกร้อนตามมาอีกหลายมาตรการ

*** เอกชนไทยต้องเริ่มปรับตัวกันแล้ว แต่ยังไม่พอ มีข้อมูลจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก เดือนธันวาคม 2564 มีผู้ประกอบการไทยผ่านการรับรองฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ หรือฉลากลดโลกร้อนเพื่อรับมือกับกฎกติกาของประเทศคู่ค้า 702 บริษัท รวม 5,030 ผลิตภัณฑ์ 3 อันดับแรกอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม, อุตสาหกรรม ปิโตรเลียม ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ และก่อสร้าง
 

*** บริษัทรถยนต์ปล่อยคาร์บอนสูงๆ ก็เริ่มหันมามุ่งสู่ยานยนต์ EV “โตโยต้า” ค่ายรถยนต์อันอันดับ 1 ของโลก วางเป้าส่งเสริมการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยอย่างแพร่หลาย เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายด้านพลังงานของภาครัฐ และวางรากฐานอันแข็งแกร่งสู่ยุครถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต ศูนย์การค้าก็เร่งติดตั้งโซลาเซล์ทั้งประหยัดพลังงานลดโลกร้อน ใช้พลังงานที่เอื้อกับสิ่งแวดล้อม กระทั่งธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แสนสิริภายใต้ CEO เศรษฐา ทวีสิน ถือธงนำตั้งเป้าหมาย Net-zero องค์กรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ โดยขับเคลื่อนองค์กรด้วย 4 แกน ‘Process-Product-Partner-Investment' ครอบคลุมการลดคาร์บอนทุกมิติ สถาบันการเงินเองก็เริ่มขยับปรับระบบในการปล่อยสินเชื่อ บริการทางการเงิน ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สินเชื่อสีเขียว
 

*** สะเทือนวงการไปไม่น้อย เมื่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สั่งพักการให้ความเห็นชอบเป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนของ ภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ ด้วยเหตุที่ว่า มีการละเลยการตรวจสอบดูแลระบบงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงาน การควบคุม และการบริหารความเสี่ยงของธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ และไม่ปฏิบัติหน้าที่ของตนให้เป็นไปตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ และประกาศที่ออกโดยอาศัยอำนาจแห่งกฎหมาย ตรวจสอบดู ภัทธีรา เป็นนายกสมาคมโบรกเกอร์ 2 สมัย วาระอยู่ 8 ปี ยังเป็นคณะกรรมการวินัยของก.ล.ต.ด้วย คณะกรรมการสรรหาผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ด้วย เรียกว่าตำแหน่งและดีกรียาวเป็นหางว่าว ซึ่งควรเป็นแบบอย่างบุคคลากรที่ดีของตลาดทุน แต่ผลการตรวจสอบของก.ล.ต.ออกมาเช่นนี้ ก็ลองคิดกันดู